เป้าหมายสำคัญของ ‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ คือ ขับเคลื่อน ภารกิจ ‘ส่งมอบความสุขผ่านมื้ออาหารเพื่อความยั่งยืน’ (Delivery Sustainable Happiness) ให้ลูกค้า และโลกใบนี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อมุ่งสู่ธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และยั่งยืน พร้อมมีส่วนในการดูแล ผู้คนในสังคม ไปจนถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้
ผ่านการขับเคลื่อนกลยุทธ์สู่การลงมือทำตามแนวทาง ‘From Cabbage Farm to Table’ เพื่อสามารถบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพรวมทั้งสร้างคุณค่าได้ตลอดทั้ง Supply Chain ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จ มาจากการให้ความสำคัญกับ Stakeholders ทุกมิติ ทั้งแกนหลักอย่าง Tripple Bottom Line หรือ 3P ที่ประกอบด้วย People Planet และ Profit รวมทั้งการเติมเต็มอีก 2P เพื่อช่วยขับเคลื่อนสู่เป้าหมายได้รวดเร็ว และลดความเสี่ยงได้มากขึ้น คือ Peaceful หรือการขับเคลื่อนธุรกิจตามกรอบของจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาลที่ดี รวมทั้ง Partnership เพราะการขับเคลื่อนความยั่งยืน ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้โดยลำพัง การมีพันธมิตรช่วยขับเคลื่อนจะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่ม Positive Impact ระหว่างทางในการขับเคลื่อนได้มากขึ้นด้วย
From Cabbage Farm จากฟาร์มสู่ชุมชน
คุณจรูญโรจน์ เทพที ประธานบริหารสายงาน-ซัพพลายเชน บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวถึงแผนขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนของบาร์บีคิวพลาซ่า โดยมี ‘กะหล่ำ’ (Cabbage) เป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเดินทาง เพราะถือเป็นหนึ่งใน Signature ที่ทุกโต๊ะในร้านต้องมีถ้วยกะหล่ำวางไว้ และยังเป็นวัตถุดิบสำคัญของบาร์บีคิวพลาซ่าด้วยเช่นกัน ในฐานะแบรนด์ที่ใช้กะหล่ำมากที่สุดในประเทศก็ว่าได้ ด้วยปริมาณถึง 5 ตันต่อวัน หรือไม่ต่ำกว่า 2 ล้านกิโลกรัมต่อปี
ดังนั้น ‘กะหล่ำ’ จึงเป็นเสมือนตัวแทนและจุดเชื่อมโยงการส่งมอบประโยชน์ คุณค่า ความสุข และความยั่งยืนไปยังทุกมิติภายใน Ecosystem จากการขับเคลื่อนธุรกิจของบาร์บีคิวพลาซ่า ตั้งแต่ต้นทางจากฟาร์มไปจนถึงโต๊ะผู้บริโภค รวมทั้งผู้คนและสังคมโดยรอบได้
เส้นทาง From Cabbage Farm ยังสอดคล้องกับมิติ People ของบาร์บีคิวพลาซ่าที่ให้ความสำคัญเรื่อง ‘คน’ เป็นอันดับแรก ทั้งพนักงานในองค์กร และคนที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจอย่างกลุ่มเกษตรกร ด้วยการเข้าไปรับซื้อกะหล่ำโดยตรงจากฟาร์มโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่ดี จากการรับประกันราคา และการวางแผนปริมาณการซื้อวัตถุดิบไว้ล่วงหน้าเพื่อช่วยเกษตรกรวางแผนการปลูกอย่างเหมาะสม และยังลดปริมาณการสูญเสียในธุรกิจได้ด้วย รวมถึงเข้าไปส่งเสริมการปลูกแบบ GAP ที่ลดการใช้สารเคมีลงถึง 50% เพื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภครวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกด้วย ซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปสนับสนุน และส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผ่านรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือ วิสาหกิจชุมชนผักแปลงใหญ่ อ.พบพระ จ.ตาก, ชุมชนบ้านนาป่าแปก จ.แม่ฮ่องสอน และ ชุมชนเกษตรกร อ.หางดง จ.เชียงใหม่
“บาร์บีคิวพลาซ่า ยังมุ่งส่งเสริมการศึกษาให้ลูกหลานเกษตรกรในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงผ่าน ศูนย์อบรมฟู้ดแพชชั่น ที่ต่อยอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบาร์บีคิวพลาซ่า มาพัฒนาเป็นหลักสูตรด้านสุขาภิบาลอาหารและการจัดการร้านอาหาร สามารถเทียบวุฒิระดับ ปวช. รวมทั้งเพิ่มรายได้จากการทำงานระหว่างเรียน โดยส่งเสริมมาตั้งแต่ปี 2561 มีผู้ผ่านหลักสูตรแล้วกว่า 300 คน และยังเป็นหลักสูตรพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร เพื่อสร้างคนที่ทั้ง ‘เก่ง ดี สุข’ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ให้องค์กรหรือผู้ต้องการพัฒนาตนเองในธุรกิจร้านอาหาร โดยมีเป้าหมายเพิ่มโอกาสให้ผู้คนไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ในการพัฒนาศักยภาพ ความสามารถ พร้อมเพิ่มทักษะให้บุคลากร สร้างความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างเป็นวงจรแห่งความสุขได้อย่างยั่งยืน”
From Table to Sustainability ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน
เมื่อโฟกัสภาพจากฟาร์มมาสู่ Table หรือการจัดการภายในร้านและธุรกิจภาพรวม จะเน้นขับเคลื่อนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่ Green Restaurant ในแบบฉบับ Non-Green Premium ฉีกภาพการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจรักษ์โลกที่มักจะต้องมาพร้อมงบประมาณก้อนใหญ่ในการดำเนินการ
ขณะที่บาร์บีคิวพลาซ่า เน้นขับเคลื่อนแบบ Small But Meaningful หรือการเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior Change) รวมทั้งใช้จุดแข็งจาก Data Driven ด้วยการนำข้อมูลทางธุรกิจมาวิเคราะห์เพื่อลดความสูญเสียต่างๆ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพจากทรัพยากรเดิมที่ร้านมีอยู่ โดยเป้าหมายสำคัญคือ การลดปริมาณขยะฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) โดยเริ่มคำนวณความสูญเสียต่างๆ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงหลุมฝังกลบ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการวัตถุดิบ การใช้พลังงาน ไปจนถึงการจัดการด้าน Waste Management ภายในร้าน โดยมีความร่วมมือร่วมใจของพนักงานในร้านเป็นสำคัญ ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของบาร์บีคิวพลาซ่าไม่ได้ทำให้ต้นทุนของร้านเพิ่มขึ้น ธุรกิจจึงยังคงสามารถรักษาความแข็งแกร่งไว้ได้
“แต่ละวันมีปริมาณขยะภายในร้านราว 30 กิโลกรัมต่อสาขา โดย 30% มาจากกระบวนการต่างๆ ของร้าน และ 70% มาจากการให้บริการลูกค้า เราจึงให้ความสำคัญตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบเพื่อลดโอกาสเกิด Waste ตั้งแต่ต้นทาง (Reduce) ทั้งการคัดเลือกประเมินผู้ขายตามแนวทาง Green Procurement มีการประเมินปริมาณการสั่งซื้อที่เหมาะสม พร้อมบริหาร Food Loss เพื่อนำวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้ภายในร้าน เช่น เศษเนื้อตัดแต่งต่างๆ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เพิ่มคุณค่า เพื่อส่งมอบให้กับพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งช่วยลดการทิ้งเศษเนื้อตัดแต่งได้ถึง 1.8 ตัน หรือคิดเป็น 918 kgCO2e ไปจนถึงอออกแบบการเสิร์ฟกะหล่ำเพื่อช่วยลดปริมาณ Food Waste จากการรับประทานเหลือของลูกค้า โดยเสิร์ฟปริมาณกะหล่ำถ้วยแรกที่ 125 กรัม และถ้วยต่อๆ ไปอยู่ที่ 80 กรัม ทำให้ลดการทิ้งกะหล่ำลงได้ถึง 10% หรือกว่า 2 แสนกิโลกรัม เทียบเท่าปริมาณคาร์บอนที่ลดลงได้ถึง 82 tCO2e รวมทั้งมีอุปกรณ์ ‘ม้าเหล็ก’ ที่ตอบโจทย์การแยกขยะได้ตั้งแต่การเข้าไปเก็บโต๊ะลูกค้า ทั้งส่วนที่เป็น Food Waste และขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อสามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม โดยมีการจดบันทึกปริมาณและประเภทขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อประสานงานในการส่งต่อพันธมิตร ทำให้สามารถแยกขยะเพื่อนำกลับไปรีไซเคิลได้ราว 3 กิโลกรัมต่อวันต่อสาขา ช่วยลดคาร์บอนลงได้ 533 tCO2e ต่อปี”
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการบริหารจัดการด้านพลังงานภายในร้าน ด้วยการปลูกฝังพฤติกรรมพนักงานในการปรับเวลาเปิด – ปิดไฟ โดยเปิดให้ช้าลงและปิดให้เร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมง พร้อมพัฒนาระบบ IoT เพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในร้าน เพื่อสามารถประหยัดพลังงานได้มากขึ้น ส่วนการจัดการด้านพลังงานที่อยู่ภายนอกร้าน ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่สำนักงาน และครัวกลาง โดยปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดมาทดแทนปริมาณไฟฟ้าในกระบวนการได้ถึง 30% ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 400 tCO2e ต่อปี ซึ่งช่วยทั้งลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมทั้งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
บาร์บีคิวพลาซ่า ยังได้วางแนวทางออกแบบร้านใหม่ หรือการปรับปรุงร้านเดิมด้วยคอนเซ็ปต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Restaurant ทั้งส่งเสริมการใช้วัสดุอัพไซเคิล เช่น ใช้หนังสังเคราะห์ Bio-Material จากเปลือกมะนาว ใยสับประรด หรือกากมะพร้าวมาต่อยอด รวมทั้งใช้กระดุมเก่ามาตกแต่งผนังร้านเป็นสัญลักษณ์ ‘บาร์บีก้อน’ การเลือกใช้สารเคมีสำหรับทำความสะอาดต่างๆ ที่เป็น Biodegradable ทั้งเพื่อความปลอดภัย และยังประหยัดการใช้น้ำทำความสะอาดลงได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง แม้แต่ในมิติของการทำโปรโมชั่นหรือแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ ที่จะเน้นจัดในกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าอยู่แล้ว เพื่อประเมินข้อมูลการบริหารจัดการทั้งด้านวัตถุดิบได้อย่างแม่นยำมากขึ้น รวมทั้งยังตอบโจทย์ทั้งการดูแลต้นทุน และในมิติด้านความยั่งยืนได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความยั่งยืนร่วมกัน ทั้งการปิดเตาเมื่อเลิกใช้ หรือเปลี่ยนวิธีเสิร์ฟหลอดโดยไม่ใส่มาในแก้วน้ำ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก รวมทั้งพัฒนาระบบ GON ORDER-TO-PAY สั่ง-จ่าย-จบ ทำเองได้ในมือถือ และยกเลิกการใช้แผ่นรองจาน เพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษให้น้อยลง ซึ่งในอนาคตทางร้านเตรียมแนวทางเพื่อเพิ่ม Engagement ในการให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันบาร์บีคิวพลาซ่า ได้รับตราสัญลักษณ์ G-Green รับรองการเป็น Green Restaurant แล้ว 11 สาขา โดยในปี 2568 มีแผนจะส่งร้านเพื่อรับรองเพิ่มเติมอีก 11 สาขา โดยมีเป้าหมายให้ทั้ง 150 สาขาที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งสาขาใหม่ๆ ที่จะมีเพิ่มเติมในอนาคตได้รับการรับรองให้เป็น Green Restaurant ได้ทั้งหมด รวมทั้งการขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจลง 30% ภายในปี 2573 ตามแนวทาง SBTi พร้อมขยับสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ภายในปี 2583 และ 2593 ตามลำดับ รวมทั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะฝังกลบจากกระบวนการทำงาน 10% ผ่านการใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนและลดการใช้ทรัพยากร เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ และส่งมอบความสุขและประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ เพื่อนำมาซึ่งความแข็งแกร่งเติบโตได้อย่างยั่งยืนของธุรกิจได้ในอนาคต” คุณจรูญโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย