บางจากฯ จับมือ CPF ลงนามส่งต่อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (UCO : Used Cooking Oil) สำหรับผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF : Sustainable Aviation Fuel) โดยในเฟสแรกจะใช้ซัพพลายในประเทศไทย ทั้งจากโรงงานอาหารแปรรูปสำหรับส่งออก ก่อนเฟสต่อไปจะเพิ่มซัพพลายจากฐานผลิตที่มีอยู่ใน 17 ประเทศเพิ่มเติม ด้านบางจากย้ำหน่วยผลิต SAF เดินหน้าตามเป้าหมาย เริ่มเดินเครื่องผลิตมี.ค. 2568 กำลังผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นฐานผลิต SAF ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสามารถรองรับการเติบโตของดีมานด์ได้ยาวจนถึงปี 2030
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ ในเรื่องการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ระหว่าง คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ และ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ โดยมี คุณกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจากฯ และ คุณกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ ลงนามเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารบางจากฯ ซีพีเอฟ และบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจากร่วมเป็นสักขีพยาน
ภายใต้ความร่วมมือนี้ บางจากฯ และ ซีพีเอฟ จะร่วมกันบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหารและไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของซีพีเอฟและบริษัทในเครือ เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF : Sustainable Aviation Fuel) ภายใต้การดำเนินงานของ BSGF
คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ กล่าวว่า CPF ถือเป็นครัวของโลก จึงเป็นหนึ่งในผู้ซัพพลายวัตถุดิบที่มีศักยภาพ ประกอบกับมีความมุ่งหมายร่วมกันในการเข้าร่วมโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” ในการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากร้านอาหารในเครือซีพีเอฟ มาเข้าร่วมเป็นวัตถุดิพื่อนำไปผลิต SAF พลังงานแห่งอนาคต สนับสนุน Circular Economy หรือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนตามแนวทาง BCG แกนหลักในการขับเคลื่อความยั่งยืนตามกรอบ ESG ที่ไม่เพียงแค่ ช่วยส่งเสริมในด้านการดำเนินธุรกิจ แต่ยังมีผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทั้งสองบริษัทสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้
“ความร่วมมือระหว่าง บางจากฯ และซีพีเอฟครั้งนี้ ช่วยสร้างประโยชน์ในหลายมิติ ไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้ของเสียจากกระบวนการผลิตอาหาร ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์แบบ ยังส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่ง SAF เป็นหนึ่งในการปรับตัวของอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรป และสหราชอาณาจักรที่มีข้อกำหนดให้ผสม SAF ในน้ำมันอากาศยาน 1% ในปีหน้า และเพิ่มเป็น 5% ภายในปี 2030 รวมท้ังเพิ่มเป็น 70% ในปี 2050 เช่นเดียวกับการบินในประเทศไทย ที่มีการกำหนดให้มีการผสม SAF 2% ในปี 2026 หรืออีกราว 2 ปีข้างหน้าเช่นกัน ขณะที่ความคืบหน้าการเตรียมเดินเครื่องหน่วยผลิต SAF ของบีเอสจีเอฟ ในพื้นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง กำลังดำเนินการตามแผนไปประมาณกว่า 70% โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ราวเดือนมีนาคม 2025 โดยมีกำลังผลิตเต็ม Capacity 1 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับรองรับการเติบโตของดีมานด์ SAF ได้จนถึงปี 2030 และถือเป็นฐานผลิต SAF ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ด้านความพร้อมในการจัดหาซัพพลายในการผลิต ปัจจุบันบางจากมีเครือข่ายหน่วยงานภาคราชการ เอกชน และผู้ประกอบการ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการและส่งต่อน้ำมันปรุงอาหารเพื่อผลิต SAF มากกว่า 800 จุดทั่วประเทศ ซึ่งการแปรรูปน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเป็น SAF จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงการบินแบบดั้งเดิมช่วยตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งการผลิต SAF ในเฟสแรกจะใช้วัตถุดิบจาก UCO ทั้งหมด โดยการรับซื้อตามราคาตลาดที่ 21 บาทต่อกิโลกรัม
ด้าน คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ความร่วมมือกับบางจากครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวคิด Sustainovation ของซีพีเอฟ ในการนำนวัตกรรมมาช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (UCO) รวมถึงไขมันต่างๆ จากธุรกิจผลิตอาหาร และไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของซีพีเอฟ เพื่อนำไปผลิตน้ำมัน SAF ซึ่งสร้างประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติได้มากข้ึน จากที่ก่อนหน้าใช้ UCO ตามแนวทาง Waste to Value ผ่านการนำไปต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพภายในกระบวนการผลิตของตัวเองเป็นหลัก
“ความร่วมมือกับบางจากครั้งนี้ จะเป็นการส่งมอบ UCO ภายในอุตสาหกรรม ทั้งจากน้ำมันที่ใช้ภายในโรงงานไก่แปรรูปอาหารสำหรับที่มีอยู่ 3-4 แห่ง และมีปริมาณการใช้น้ำมันพืชม่ต่ำกว่าปีละ 1 แสนตัน รวมทั้งน้ำมันพืชจากกิจการไก่ย่างห้าดาวที่มีไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ และร้านอาหารในเครือ เช่น เชสเตอร์ ที่มีกว่า 200 สาขา และแบรนด์อื่นๆ ทั้งกระทะเหล็ก ข้าวมันไก่ ไห่หนาน ฯลฯ โดยปริมาณในการส่งมอบน้ำมันให้บางจากยังอยู่ระหว่างการศึกษาและคำนวณ โดยปริมาณมากกว่าครึ่งจะนำส่งให้บางจากเป็นหลัก รวมท้ังผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีแนวการศึกษาการขยายปริมาณ UCO จากในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศของซีพีเอฟที่มีฐานอยู่ในอีกทั้ง 17 ประเทศในอนาคตอีกด้วย”
ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญในการควบคุมมาตรฐานการใช้น้ำมันเพื่อปรุงอาหารในธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะไม่ใช้น้ำมันในการทอดซ้ำเกิน 2 รอบ ขณะที่ความร่วมมือครั้งนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลด Second Life ของการนำน้ำมันกลับไปใช้ซ้ำในตลาด ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้บรอโภค รวมทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท และถือเป็นหนึ่งในการดำเนินการด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Action โดยการบริหารการลดของเสียจากกระบวนการผลิตที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มีมูลค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร หรือ Circular Economy”