WWF ประเทศไทย ผนึกกำลัง LINE MAN Wongnai และ foodpanda ดึงภาคธุรกิจร่วมลดใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ขยายผลโครงการ Plastic ACTion สู่ระดับประเทศ

หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มีการใช้ขยะพลาสติก​ Single-use หรือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในปริมาณมาก คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะจากแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่เติบโตขึ้นอย่างมากหลังการแพร่ระบาดของโควิด

ซึ่งที่ผ่านมาเราจะได้เห็นความพยายามของผู้ให้บริการออนดีมานด์เหล่านี้ ในการเข้ามามีส่วนร่วม​แสดงความรับผิดชอบ เพื่อให้​สามารถดำเนินธุรกิจโดยที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้​  โดยเฉพาะการพัฒนาฟีเจอร์ในแพลตฟอร์มเพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือก ‘ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก‘ หรือการไม่รับเครื่องปรุงต่างๆ รวมทั้งความพยายามริเริ่มโครงการหรือบริการใหม่ๆ เพื่อมีส่วนลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

ล่าสุด มีความร่วมมือระหว่าง WWF Thailand (องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย) และแพลตฟอร์ม Food Delivery On Demand อย่าง LINE MAN Wongnai (ไลน์แมน วงใน) และ foodpanda (ฟู้ดแพนด้า) ในการขยายโครงการ PACT หรือ Plastic ACTion ​ซึ่งเป็นโครงการลดพลาสติกทั่วโลกของ WWF ภายใต้กรอบ ‘No Plastic in Nature‘ เพื่อลดการรั่วไหลของพลาสติกสู่ธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายระดับโลก ในการลดขยะพลาสติกลง 30%  ภายในปี 2030 โดยมุ่งเน้นการกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นทั้งหมด พร้อมส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิลได้ ​​รวมทั้งลดปริมาณการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) ให้น้อยลง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และกำจัดปัญหาขยะพลาสติกในธรรมชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มในสิงคโปร์ ก่อนจะขยายผลไปในหลายพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งฮ่องกง เกาหลี เอกวาดอร์ เปรู และไทย

ขยายผล Plastic ACTion ใน​ประเทศไทย

สำหรับการขยายโครงการ PACT ในประเทศไทย ได้​​ร่วมกับภาคี​นำร่องเพื่อดำเนินการคู่ขนานไปกับโครงการ Plastic Smart Cities ที่​มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น 38 ราย ในอุตสาหกรรมเป้าหมายท้ังอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจบริการ ของ 4 เมืองภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เกาะสมุย สงขลา และหาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการลดขยะพลาสติกในพื้นที่ ผ่านการร่วมมือกับเทศบาลนคร โรงเรียน และชุมชนในท้องถิ่น โดยมีกิจกรรม เช่น โรงเรียนปลอดพลาสติก ธนาคารขยะชุมชน ศูนย์คัดแยกขยะ และจุดรับคืนบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ประกอบการในพื้นที่ รวม​ทั้งผู้บริโภคที่สนับสนุนแนวทางในการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

ขณะที่การขยายความร่วมมือออกมานอกพื้นที่ ผ่านกลุ่ม Food Delivery นำร่อง 2 แพลตฟอร์ม อย่างไลน์แมน วงใน และฟู้ดแพนด้า ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้าง Single-use Plastic ​ปริมาณมาก เพื่อ​ร่วมมือกันสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับประเทศ ​และเปลี่ยนผ่านสู่แนวทางการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน ผ่านการให้คำปรึกษา สนับสนุนเครื่องมือและทักษะในการวัดและประเมินผลข้อมูล รวมทั้งสนับสนุนด้านการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสร้างเครือข่ายให้แก่ธุรกิจตลอดห่วงโซ่ผ่าน​ 3 แนวทาง ประกอบด้วย

1. ลด: สนับสนุนการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในระบบการจัดส่งอาหาร

2. เพิ่ม: ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ยั่งยืน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง

3. แลกเปลี่ยน: แบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานตามนโยบาย กรณีศึกษาและแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

คุณรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย เปิดเผยว่า ขยะพลาสติกเป็นประเด็นปัญหาระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทุกคน ทุกปีมีการผลิตพลาสติก  430 ล้านตันทั่วโลก  โดยประเทศไทย​มีขยะพลาสติก​ 75% หรือราว 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ครั้งเดียว และไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ ​เสี่ยงต่อการรั่วไหลสู่ธรรมชาติและสามารถตกค้างอยู่ในมหาสมุทรได้เป็นเวลาหลายร้อยปี  ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์

“การแก้ไขปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก​เป็นภารกิจที่ WWF ให้ความสำคัญ และมุ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและบริโภค รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ของพลาสติก ซึ่งการขับเคลื่อน PACT ระดับโลก เช่น ในสิงคโปร์ ​WWF ได้จับมือกับองค์กรธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในปี 2019  ริเริ่มฟีเจอร์ ‘ไม่รับช้อนส้อมพลาสติกแบบอัตโนมัติ’ บนแอปพลิเคชัน และสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้มากกว่า 1 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์ ส่วนในประเทศไทยเชื่อว่าการได้ ไลน์แมน วงใน และฟู้ดแพนด้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Plastic ACTion จะสามารถขยายผลของในการลดปริมาณขยะพลาสติก และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมต่อไป รวมทั้งขยายให้เกิดอิมแพ็กในระดับประเทศได้ต่อไป”

ดึง​บริการแพลตฟอร์ม​ ร่วมสร้าง Impact

ดร.บุญชนิต ว่องประพิณกุล ผู้จัดการโครงการ Plastic Smart Cities WWF ประเทศไทย กล่าวถึงศักยภาพในการร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เนื่องจาก เป็นตัวกลางที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้บริโภค ทำให้สามารถรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การบริโภคที่ยั่งยืน​ทั้งจากฟากของดีมานด์และซัพพลาย ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มเองยังทำหน้าที่ในการเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เพื่อขับเคลื่อนทั้งการด้านตระหนักรู้ และ​ให้​ความรู้​แก่ลูกค้าและร้านค้าเรื่องการบริโภคที่ยั่งยืน การจัดการขยะ หรือการส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ​ขณะที่การขยายผลในอนาคตตั้งเป้าให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในทุกแพลตฟอร์ม กลุ่มธุรกิจบริการ อีคอมเมอร์ซและโลจิสติกส์ รวมทั้งกลุ่มธรกิจค้าปลีก เป็นต้น

ดร. มาลียา โชติสกุลรัตน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายนโยบายสาธารณะ และรัฐกิจสัมพันธ์ LINE MAN Wongnai กล่าวว่า ไลน์แมน วงในให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อมีส่วนช่วยลดขยะพลาสติก โดยเฉพาะการพัฒนา UX UI บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคนต่อเดือน มีส่วน​ร่วมในการลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะการมีฟีเจอร์ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก ที่พัฒนามาในปี 2021 ซึ่งช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา สามารถลดขยะพลาสติกได้กว่า 3,286 ตัน พร้อมทั้ง​พยายามเพิ่มให้ลูกค้ามีส่วนร่วมมากขึ้น ด้วยการปรับการวางปุ่มเพื่อให้ลูกค้าสังเกตุง่ายขึ้นและมีส่วนร่วมบ่อยๆ จนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าให้รับได้เฉพาะในช่วงที่จำเป็นได้ในที่สุด

“ทางแพลตฟอร์มยังได้ต่อยอดมาสู่การเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในส่วนอื่นๆ เช่น การไม่รับเครื่องปรุง ที่นำร่องมาได้ราว 2 เดือน ซึ่งสามารถช่วยลดขยะจากซองเครื่องปรุงลงได้กว่า 20 ล้านซอง รวมทั้งการจูงใจร้านค้าในแพลตฟอร์มให้ปรับเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่แพลตฟอร์มก็จะสนับสนุนให้ร้านค้ากลุ่มนี้ที่มีกว่า  1,400 ราย ให้มีอัตราการมองเห็นจากลูกค้าได้ดีมากขึ้น เพื่อมีส่วนช่วยผลักดันยอดขายให้สามารถชดเชยต้นทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ขณะที่การมาเข้าร่วม PACT กับทาง WWF และได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาโครงการ Plastic Smart Cities ในพื้นที่นำร่อง ทำให้สามารถนำมาต่อยอดไอเดีย​ รวมท้ังการเข้าถึงความรู้ ข้อมูล เพื่อนำมาต่อยอดให้ธุรกิจสามรถสร้างอิมแพ็กได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

ด้าน คุณจุฑารัตน์ มณิปันตี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กรและรรัฐกิจสัมพันธ์​ foodpanda ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟู้ดแพนด้าริเริ่มพัฒนาฟีเจอร์ไม่รับช้อนส้อมใน 11 ตลาด ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาต้ังแต่ปี 2018 โดยในประเทศไทยมีลูกค้าถึง 85% ที่เลือกไม่รับช้อนส้อม โดยมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20-30% และส่วนใหญ่คนที่เคยกดแล้วมักจะกดซ้ำนำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการสร้างขยะได้ในที่สุด โดยในปี 2023 ที่ผ่าน สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ 246 ตัน หรือตลอด 6 ปี สามารถลดลงได้มากกว่า 2,500 ตัน  รวมทั้งการสนับสนุนให้ร้านค้าหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ด้วยการจับมือกับแบรนด์เกรซ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนบรรจุภัณฑ์กว่า 1.5 ล้านกล่อง เพื่อมอบให้ร้านค้าในแพลตฟอร์มกว่า 4,500 ร้านค้า นำไปใช้บรรจุอาหารให้ลูกค้า ซึ่งช่วยลดโอกาสเกิดขยะไปได้ 1.5 ล้านชิ้นเช่นกัน

“ขณะที่การผลักดันเพื่อให้ลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ลงได้มากขึ้น จากการต่อยอดความร่วมมือในโครงการ PACT เพื่อนำข้อมูล หรืออินไซต์ที่ได้ไปขยายผลต่อผ่านการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นทั้งด้าน Awareness และการเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า ส่วนแผนในการผลักดันให้ร้านค้าเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนให้มากขึ้น ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อเสนอเงื่อนไขพิเศษให้กับทางร้านค้า เพื่อมีส่วนดึงดูดร้านค้าอื่นๆ ที่อยู่ภายในแพลตฟอร์มให้หันมาใช้บริการจากทางแบรนด์เพิ่มมากขึ้น​​ เพื่อสามารถขยายผลเชิงบวกได้เป็นวงกว้างได้มากขึ้น” ​ 

Stay Connected
Latest News