บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ “โคคา-โคล่า” เพื่อทำตลาดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2502 โดยรับผิดชอบ 63 จังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ ฉลองครบ 65 ปี พร้อมเปิดโรงงานปทุมธานีโชว์มาตรฐานการผลิตระดับโลก บนพื้นที่ 140 ไร่ 7 สายการผลิต พร้อมกำลังการผลิตกว่า 180 ล้านยูนิตเคสต่อปี
พร้อมด้วยกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน และยังเป็นโรงงานที่ใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย MBR (Membrane Bio Reactor) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและล้ำสมัยที่สุดในเวลานี้ ตอกย้ำความเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรจุภัณฑ์ เพื่อวางรากฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย
คุณปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ องค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน ไทยน้ำทิพย์ กล่าวว่า บริษัทได้วางโรดแม็พ 2030 เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนให้ครอบคลุมทุกมิติธุรกิจ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ และสังคม โดยเฉพาะในส่วนของกระบวนการผลิตและซัพพลายเชนที่จะโฟกัสผ่าน 3 เสาหลัก คือ
Water : การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของทุกผลิตภัณฑ์ของไทยน้ำทิพย์ โดยเน้นการขับเคลื่อนผ่านแนวทาง 3R ทั้งการลดการใช้น้ำ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการบำบัด (Recycle)
Climate : การมีส่วนรับมือกับวิกฤตสภาพอากาศ โดยมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนทั้งในกระบวนการผลิต และการขนส่งตลอดทั้งซัพพลายเชน
Packaging : บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ผ่านการจัดการด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ผ่านแนวทางทั้ง Reduce ลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิต Redesign การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้นำไปรีไซเคิลได้ง่าย รวมทั้งสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อนำมาเข้ากระบวนการรีไซเคิล (Collection & Recycling) โดยจะขับเคลื่อนให้คล้องไปกับวิสัยทัศน์ World Without Waste ของโคคา-โคล่า ทั่วโลก ทั้งการทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดสามารถรีไซเคิลได้ภายในปีหน้า การใช้ Recycle Content ในบรรจุภัณฑ์ได้ราว 50% รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการเก็บกลับผลิตภัณฑ์ได้เท่าที่ขายได้
ด้าน คุณเทอดพงษ์ ศิริเจน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านคุณภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ ไทยน้ำทิพย์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยน้ำทิพย์ มีโรงงานผลิตทั้งหมด 5 แห่ง ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับโลก รวมถึงได้รับการยกย่องในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคใต้ ในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม จากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในทุกกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยปัจจุบันไทยน้ำทิพย์มีสายการผลิตที่ทันสมัยถึง 21 สาย ผ่านกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นกว่า 450 ล้านยูนิตเคสต่อปี
ขณะที่การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนผ่านทั้ง 3 เสาหลัก ที่ ‘ไทยน้ำทิพย์’ ได้ดำเนินการแล้วในปัจจุบัน ประกอบด้วย
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
หนึ่งแนวทางที่ไทยน้ำทิพย์ใช้เพื่อลดการใช้น้ำ (Reduce) ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชัน “บำรุง” แพลตฟอร์มคำนวณการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่พัฒนาโดยบริษัทไทย พร้อมวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Reuse) โดยนำน้ำที่ไม่เกี่ยวข้องในการผลิตเครื่องดื่มมาใช้ประโยชน์หลายๆ ทาง รวมทั้งนำน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วมาบำบัด (Recycle) เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ติดตั้งระบบ Membrane Bio Reactor บำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบ R.O. (Reverse Osmosis) เพื่อนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดจนสะอาดได้มาตรฐานในการกลับมาใช้ใหม่ในขั้นตอนการผลิต (ไม่ใช่วัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องดื่ม) ซี่งการบริหารจัดการทรัพยากการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2020 -2023) สามารถลดการใช้น้ำจากทั้ง 5 โรงงานได้กว่า 907 ล้านลิตร หรือเทียบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 363 สระ
การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานครบทั้ง 5 แห่ง คือ โรงงานรังสิต โรงงานปทุมธานี โรงงานนครราชสีมา โรงงานขอนแก่น และโรงงานลำปาง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาดรวม 12.6242 MWp หรือประมาณ 10% ของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงาน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดได้สูงสุดราว 15-30% ผ่านการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ว่างภายในโรงงาน หรือการลงทุนโซลาร์แบบลอยน้ำเพิ่มเติมในอนาคต
นอกจากนี้ ยังนำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในรถยกสินค้า (EV Forklift) ในคลังสินค้า และรถขนส่งสินค้า (EV Truck) อีกด้วย พร้อมนำระบบ Telematics มาใช้บริหารจัดการการขนส่ง ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกล้อง AI ช่วยมอนิเตอร์ความเสี่ยงของพฤติกรรมการขับขี่ เพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถ ในปีพ.ศ. 2566 สามารถลดการใช้พลังงานได้ 34.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
การขับเคลื่อนบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน
บรรจุภัณฑ์ของไทยน้ำทิพย์ในปัจจุบัน มีการลดปริมาณพลาสติก (Reduce)ในบรรจุภัณฑ์ผ่านการ lightweight โดยยังคงรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ ทำให้ไทยน้ำทิพย์สามารถลดการใช้เม็ดพลาสติกลงได้กว่า 7,645 ตัน นับจากปี 2009 ทั้งการลดพลาสติก PET ในบรรจุภัณฑ์โค้ก 1.25 ลิตร จาก 38 กรัม เหลือเพียง 34 กรัม และจากขวดน้ำทิพย์ จาก 16.5 กรัม เหบือเพียง 10.7 กรัม
รวมทั้งการ Redesign ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งการเริ่มใช้บรรจุภัณฑ์ rPET ในโค้กลิตร เมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งขยายมาสู่แพกเกจ 300 และ 51o มิลลิลิตร โดยมีแผนจะเพิ่มการใช้ rPET ในบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ World Without Waste รวมทั้งการเปลี่ยนขวดสไปรท์จากขวดสีเขียวให้เป็นขวดใส เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มของไทยน้ำทิพย์ไม่มีขวดที่เป็น PET สี อยู่ในพอร์ตสินค้าแล้ว ขณะที่การขับเคลื่อนด้าน Collection & Recycling ในขวดพลาสติกและกระป๋องบรรจภัณฑ์ เพื่อสร้างวงจรปิดของบรรจุภัณฑ์ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร เพื่อส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศไทย และกระตุ้นให้ผู้บริโภครับรู้และมีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันอัตราการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มขวด PET ที่สามารถเก็บกลับได้มากกว่า 50% ที่จำหน่าย ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 40%
“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไทยน้ำทิพย์ได้ลงทุนเพื่อวางรากฐานด้านความยั่งยืนให้ธุรกิจไปกว่า 1 พันล้านบาท ทั้งการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการนำพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในระบบการผลิต รวมทั้งการนำร่องเปลี่ยนผ่านการกระจายสินค้าด้วย EV Truck และการนำ EV Forklift มาใช้ภายในโรงงาน ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายลงทุนเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนตามโรดแม็พด้านความยั่งยืน รวมทั้งแนวทางในการขับเคลื่อน Decarbonization เพิ่มเติมภายในสโคปที่ 3 เช่น การพัฒนาตู้แช่สินค้า แบบ Non-CFC ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น เพื่อนำไปทดแทนตู้เดิมที่มีการกระจายไปยังร้านตัวแทนจำหน่ายที่มีกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนสำหรับการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero พร้อมทิศทางในการเคลื่อน เพื่อการประกาศเป็นเป้าหมายได้อย่างชัดเจน และสอดคล้องไปกับภาพใหญ่ของ Coca-Cola ที่ประกาศไว้ในระดับโลก” คุณปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ และ คุณเทอดพงษ์ ศิริเจน กล่าวทิ้งท้ายร่วมกัน