SCB ปักธง​ Net Zero 2050 ตามหลัก SBTi แบงก์แรกในไทย​ ตั้งเป้าเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อ 2.3 ล้านล้านบาท เป็นสีเขียวทั้งหมด นำร่องงบหนุนเปลี่ยนผ่าน 3 ปีแรก 1.5 แสนล้านบาท

ออกมาประกาศขับเคลื่อนแผนในการมุ่งสู่ ‘ธนาคารชั้นนำแห่งความยั่งยืน’ (The Leading Sustainable Bank ) ภายใต้เนวคิด Live Sustainably ‘อยู่ อย่าง ยั่งยืน’ พร้อมประกาศ 3 แนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งความยั่งยืนในทุกมิติ

ทั้งในฐานะพันธมิตรผูสนับสนุนลูกค้า การเปลี่ยนผ่านภายในองค์กร และการมีส่วน​พัฒนาสังคมขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน​​ โดย​ Milestones สุดท้ายตาม Journey ที่วางไว้​​ คือการบรรลุ Net Zero 2050 ​ตามหลัก SBTi​ ในฐานะสถาบันการเงินไทยเพียงรายเดียวที่ใช้มาตรฐานนี้ในการชี้วัด พร้อมเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อของธนาคารกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ให้กลายเป็นพอร์ตสินเชื่อสีเขียวทั้งหมด

From Brown to Totally Green Portfolio

คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำ นำมาซึ่งโอกาสและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ทั้งเม็ดเงินจากทั่วโลก ที่จะไหลมาในช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ไม่ต่ำกว่า 39 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดย 40% จะเป็นเม็ดเงินที่มาจากภาคการเงินการธนาคาร รวมทั้งยังนำมาสู่การเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ทั่วโลกจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมอีกกว่า 27 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ประเทศไทยเองก็จะมีเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ตามเป้าหมายในปี 2030 รวมทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอีกไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาทเช่นเดียวกัน

ขณะที่ SCB จะขับเคลื่อนผ่านกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch หรือการผสมผสานพลังคนและเทคโนโลยี​มาเป็นแกนหลักในการร่วมขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยปักหมุดในการบรรลุเป้าหมายสำคัญคือ การเป็น Net Zero​ ​ตามหลัก SBTi​ (Science Based Target Initiatives)​​ พร้อมเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อที่มีกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ไปสู่ Totally Green Loan ภายในปี 2050 ​ โดยวาง Journey ระหว่างทางในการขับเคลื่อน เป็นเป้าหมายระยะสั้น เพื่อการปรับตัวภายในองค์กร ด้วยการลดคาร์บอน (Carbon Reduction) 50% ในปี 2027 และบรรลุ Net zero (Scope 1-2) ภายในปี 2030

ทั้งนี้ ​ SCB ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตาม หลักการทางวิทยาศาสตร์ (SBTi) ซึ่งจะมีการใช้ 2 มาตรวัด ในการตั้งเป้าหมาย ทั้ง SDA​ (Sectoral Decarbonization Approach) จากการ​พิจารณาผ่านค่าความเข้มข้นของ GHG Emission ในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า  และ ITR (Implied Temperature Rise) จากความมุ่งมั่นในการลด GHG Emission ที่สอดคล้องไปกับเส้นทางที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้น และยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ Equator Principles (EP) Association ที่พิจารณาสินเชื่อโครงการของธนาคาร (Project Finance) จากการกำหนดนโยบายและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม​ ​พร้อมให้การสนับสนุน​มากกว่าแค่การเงิน แต่มาพร้อมโซลูชั่นที่สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ​ลูกค้า รวมถึง​เป็นที่ปรึกษาและจัดหาพาร์ทเนอร์ทางเทคโนโลยีอื่นๆ ในอนาคตเพื่อช่วยบริหารการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนระยะยาวให้กับลูกค้าด้วย

“SCB วาง 3 แนวทางในการขับเคลื่อนตาม Journey ทั้ง​มิติของลูกค้า จากภายในองค์กร รวมทั้งการสนับสนุนภาคสังคม ทั้งบทบาทของ Sustainable Banking ด้วยการเป็นพันธมิตรเพื่อสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านและบรรลุ Net Zero ที่แต่ละแห่งตั้งเป้าหมายไว้ ด้วยการ​จัดสรร Sustainable finance ​​โดยเบื้องต้น​ตั้งงบประมาณ​สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนไว้​ 1.5 แสนล้านบาท สำหรับการขับเคลื่อนช่วง 3 ปีแรก (2023 -2025) โดย​สิ้นไตรมาส 2 ​ปีนี้ สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 1.11 แสนล้านบาท ​ขณะเดียวกันจะขับเคลื่อนความเป็น Corporate Practice Excellence​ เพื่อ​สร้างวัฒนธรรมภายในเพื่อมุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ​​ตามกรอบ ESG และพัฒนา AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานต่างๆ ตอกย้ำความเป็น AI-First Bank มุ่งสู่ Net Zero สโคป 1-2 ภายในปี 2030 และการสร้าง Better Society  เพื่อมีส่วนส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในสังคม ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง และได้ร่วมช่วยบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขแก่เยาวชน ชุมชน และสังคมไทย”​​

Pathway to  Net Zero 2050

ด้าน ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงกลยุทธ์เป้าหมาย Net Zero ของธนาคารเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของลูกค้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ว่า SCB ตั้งเป้าหมายบรรลุ Net Zero สำหรับพอร์ตสินเชื่อและการลงทุน (Scope 3 Category 15 Investment) ภายในปี 2050 ตามมาตรฐาน SBTi ซึ่งถือเป็นมาตรฐานในการขับเคลื่อนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Reduction)​ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด เพราะขับเคลื่อน​บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่ง ได้รับการยอมรับจาก 8,800 องค์กรธุรกิจชั้นนำของโลก​ ในการใช้กรอบ SBTi เพื่อขับเคลื่อน GHG Reduction ขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 33 องค์กร และ SCB เป็นสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวของไทย ที่ใช้มาตรฐาน SBTi นี้

“​ปัจจุบันธนาคารมีภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission) ผ่านการให้สินเชื่อ​จากฐานปี 2023 รวมทั้งสิ้น​  6.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ซึ่ง​การไปสู่ Net Zero และ Totally Green Loan Portfolio ในปี 2050​ จะเน้นการลด Emission แบบรายอุตสาหกรรม โดยให้​สอดคล้องกับพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร (Net Zero Financed Portfolio Management) โดยเฉพาะ​ กลุ่มพลังงาน ซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 51% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร ซึ่ง SCB ยังเป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทยมายาวนาน ด้วยวงเงินอนุมัติสินเชื่อกว่า 1.98 แสนล้านบาท (61% ของพอร์ตโรงไฟฟ้าของธนาคาร) มากว่า 14 ปี ​(2011 -2023) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ TOP 3 ธนาคารระดับโลก ที่มีสัดส่วน 53% ทำให้ค่า SDA ในพอร์ตโรงไฟฟ้าของธนาคารลดลง และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าทั่วโลกรวมทั้งต่ำกว่าเส้นทางการบรรลุ Net Zero ตาม Paris Agreement ด้วย  รวมทั้งในอนาคต​ จะมีมาตรการลดการให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่ม Fossil Base ซึ่งจัดเป็น​ Brown Loan และเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กลุ่ม Renewable ทั้ง​ลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ รวมทั้งทยอยลดสินเชื่อคงค้าง (Coal Phasing Out) ตามแนวทาง LessBrown จนทั้งพอร์ตกลายเป็นสินเชื่อสีเขียวได้ทั้งหมด”  

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ​​ได้นำวิธี Implied Temperature Rise (ITR) โดยระดับอุณหภูมิในพอร์ต​สินเชื่อของลูกค้าแต่ละรายจะขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น (Commitment) ในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก​ที่​เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งการขับเคลื่อนจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นฐานขนาดใหญ่ถึง 84% ของสินเชื่อในกลุ่ม ITR ทั้งหมด (ยอดสินเชื่อทั้งหมด 4.99 แสนล้านบาท) ​รวมทั้ง​​การสนับสนุนลูกค้าให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินยั่งยืนที่ครบถ้วน และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกขนาดในแต่ละอุตสาหกรรมได้ทั้งธุรกิจรายใหญ่,  ธุรกิจ SME รวมทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อย พร้อมผลักดัน ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ’ สู่ ‘การยกระดับการเงินที่ยั่งยืน’ เพื่อช่วยลูกค้าลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ และเพื่อผลักดันการสนับสนุนแก่ลูกค้าและสังคมไปสู่เป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลักการ Equator Principles (EP) และถือ​เป็นธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่ริเริ่มการนำหลักการ EP มาเป็นกรอบในการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงิน ที่นำมาตรฐานสากล Best Practices มาใช้ โดยตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ได้​​ประเมินโครงการตามหลักการ EP ​รวม 53 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 75,500 ล้านบาท

“ระดับการตั้งเป้าหมายของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่มีความหลากหลาย โดยลูกค้า​​ 77 ราย หรือ 47% ของยอดสินเชื่อ มีการกำหนดและประกาศเป้าหมายที่ครบถ้วน แต่อย่างไรก็ดี ยังมีลูกค้าจำนวน 100 ราย หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อ 35% ​ที่ยังไม่มีการเก็บข้อมูล GHG และไม่มีการตั้งเป้าหมายแต่อย่างใด ซึ่งทางธนาคาร จะพยายามช่วยทำความเข้าใจ หรือช่วยแก้ไขปัญหาที่ทำให้ภาคธุรกิจยังไม่พร้อมในการเปลี่ยนผ่าน  โดยเน้นความเหมะสมกับบริบทของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้ธุรกิจมีความพร้อมในการตั้งเป้าหมายและเพิ่มยอดการให้สินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันระดับอุณหภูมิในพอร์ตของลูกค้าขนาดใหญ่ได้ปรับลดลงจาก 2.84 องศาเซลเซียส จากปีฐาน 2021 มาอยู่ที่ 2.65 องศาเซลเซียส ในปี 2023 หรือลดลงได้กว่า 0.19 องศาเซลเซียส ซึ่งธนาคารมีเป้าหมาย​ให้​อุณหภูมิพอร์ตสินเชื่อลดลงสู่ระดับ 2.35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2028 และ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040  ซึ่งจะช่วยให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุ Net Zero ได้ในปี 2050 ในที่สุด” 

คุณกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า  “ความยั่งยืนของไทยพาณิชย์เราเริ่มมาแล้วร้อยกว่าปี และสิ่งที่เราทำในวันนี้ คือการส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานได้อยู่ต่อไปอีกร้อยปี เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้า ผู้คนจะต้องดำเนินชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม ธุรกิจจะต้องเติบโตต่อไปได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยพาณิชย์มุ่งมั่นเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน พร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับพันธมิตรส่งต่อความยั่งยืนให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นทางการเงิน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมได้อยู่ อย่าง ยั่งยืน”

Stay Connected
Latest News