‘ป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว จ.ร้อยเอ็ด’ ต้นแบบ ‘คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน’ ชนะเลิศป่าชุมชนระดับประเทศ ปี 2567  กรมป่าไม้ – ราช กรุ๊ป หนุนลดวิกฤตโลกร้อนแบบ Nature-based Solutions   

ท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความถี่ขึ้นและไม่อาจคาดการณ์ได้ในหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงพายุรุนแรง ฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัยและดินถล่มในภาคต่างๆ ของประเทศไทย เป็นสัญญาณเตือนให้สังคมตระหนักถึงภัยพิบัติ และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ปัจจุบันนานาประเทศได้ร่วมกันกำหนดแนวทางและเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โดยประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตจำนงและประกาศเป้าหมายในปี 2065

การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็นหนทางที่จะทำให้อุณหภูมิของโลกลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะจะช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์มากักเก็บไว้ในรูปของเนื้อไม้

ทั้งนี้ ป่าชุมชนถือเป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพทั้งการรักษาฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่ป่าเพราะมีชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแล ขณะเดียวกันชุมชนก็สามารถพึ่งพิงป่าเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำในการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน จึงถือเป็นอีกหนึ่งโซลูชันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง Nature-based Solutions (NbS)

กรมป่าไม้ และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2551 ภายใต้โครงการ ‘คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน’ ทุกปีจะมีการเฟ้นหาป่าชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งในการดูแลรักษาป่า การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าให้มีความยั่งยืน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างพอเพียง จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อมอบรางวัล ‘คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน’ เป็นการเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่ชุมชน รวมทั้งช่วยปลุกสังคมให้เกิดการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกรวนและยังเป็นกลไกในการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติทั้งพายุ ฝนตกหนัก ดินถล่ม น้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

สำหรับ รางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2567 ป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว ตำบลช้างเผือก อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด คว้ารางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินกองทุนอนุรักษ์ป่าชุมชน 200,000 บาท

โดย ป่าชุมชนบ้านหนองบั่ว​ เป็นป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังพื้นที่ 1,013 ไร่  มีต้นพะยูงจำนวนมาก แสดงถึงดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างดี พร้อมพันธุ์ไม้หลักอื่นๆ ​เช่น แดง ประดู่ มะค่าแต้ ยางนา มะพอก พืชสมุนไพร ได้แก่ โด่ไม่รู้ล้ม ย่านาง กำแพงเก้าชั้น เครือหมาน้อย มะเกลือ มะขามป้อม มะตูม

ป่าแห่งนี้ใช้แนวคิดจัดการแบบ “น้ำรอบป่า” ด้วยการปลูก ฟื้นฟูจนป่าอุดมสมบูรณ์สามารถดูดซับน้ำไว้ใต้ดิน เพื่อนำมาใช้เป็นน้ำในการอุปโภคบริโภคของชุมชน พร้อมหล่อเลี้ยงป่า โดย​ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีความรักหวงแหนในผืนป่า ผนึกกำลังกันปกป้องผืนป่าจากการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่ากว่า 19 ปี และฟื้นฟูผืนป่าจนอุดมสมบูรณ์หลุดพ้นจากปัญหาการขาดแคลนน้ำได้สำเร็จ
พร้อมทั้งติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับระบบน้ำบาดาล และวางท่อประปารอบผืนป่าเพื่อให้น้ำแก่ต้นไม้ สัตว์ป่าและสรรพชีวิตในป่า รวมทั้งปล่อยสู่แหล่งน้ำในชุมชนเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรด้วย
ที่สำคัญสมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมทำแผนพัฒนาและกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับการใช้ป่าชุมชน ทั้งเป็นแหล่งอาหาร พืชสมุนไพรพื้นบ้าน ทั้งการบริโภคใช้สอยในครัวเรือน และจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ โดยมีมูลค่าผลผลิตจากป่าช่วยลดรายจ่าย/สร้างรายได้แก่ชุมชน ปีละกว่า 200,000 บาท
อีกทั้งยังสร้างเครือข่ายพิทักษ์ป่าร่วมกับป่าชุมชนใกล้เคียง จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติและฐานเรียนรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจ มุ่งขยายกลุ่มคนรักษ์ป่าออกไปในวงกว้าง และก่อตั้ง ‘หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศ’ แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ​สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพื่อช่วยกันรักษาและปกป้องผืนป่าให้อยู่ยืนยงชั่วลูกชั่วหลาน

คุณสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 55% ของประเทศ ตามที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศให้ได้อย่างน้อย 40% ตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562 ตลอดจนร่วมเป็นแรงหนุนประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยส่งเสริมให้ชุมชน เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการ ฟื้นฟู รักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลร่วมกับภาครัฐ ในรูปแบบของป่าชุมชน ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ถือเป็นยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่ป่า ที่กรมป่าไม้ให้ความสำคัญ ด้วยเล็งเห็นว่าการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้จะยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากองคาพยพของสังคม โดยเฉพาะประชาชนและชุมชนซึ่งเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดป่ามากที่สุด โดยตั้ง เป้าหมายขยายการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศให้ถึง 15,000 แห่ง รวมพื้นที่ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2570

“ผลสำเร็จของป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลเป็นภาพสะท้อนที่แจ่มชัดว่า คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและเกื้อกูลกัน เมื่อมีการพัฒนาและบริหารจัดการป่าที่ดี ชุมชนก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตจากป่าที่สมบูรณ์ ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ต่อยอดพัฒนาอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องบุกรุกทำลายป่า และป่าชุมชนต้นแบบเหล่านี้จะเป็นแหล่งข้อมูลด้านการบริหารจัดการป่าชุมชนที่สำคัญ ให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการดูแล ป่าชุมชน เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาป่าชุมชนของตนเองต่อไป ซึ่งโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ถือได้ว่าเป็นโครงการต้นแบบที่บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานรัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน (PPP)หลอมรวมเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” นายสุรชัย กล่าว

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในสภาวการณ์ที่สภาพภูมิอากาศของโลกกำลังแปรปรวนอย่างหนัก ทุกประเทศต่างยอมรับว่า การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้จะช่วยลดปัญหานี้ได้ ดังนั้น ป่าชุมชน จึงเป็นความหวังและพลังในการรักษา ฟื้นฟู ดูแลผืนป่าและขับเคลื่อนสังคม ตลอดระยะเวลา 17 ปีของโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน บริษัทฯ ได้เห็นก้าวย่างการพัฒนาป่าชุมชน ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และศักยภาพความสามารถของชุมชนในการบริหารจัดการป่าและความสามัคคีของชุมชนที่นับวันจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น

“บริษัทฯ ภูมิใจที่ได้ร่วมสนับสนุนชุมชนคนรักษ์ป่าทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ บริษัทฯ ขอชื่นชมและยกย่องป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชนทั้ง 16 แห่ง ที่ร่วมมือร่วมใจมุ่งมั่นดูแลป่าไม้อย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนาน ทุกท่านล้วนเป็นทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าของประเทศ ที่ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่เป็นต้นกำเนิดของน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพที่ทุกคนในสังคมพึ่งพาอาศัย บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนป่าชุมชนเพื่อตอบสนองเป้าหมายยุทธศาสตร์ของชาติ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ต่อไป”

สำหรับการประกวดป่าชุมชน ภายใต้โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2567 มีป่าชุมชนที่ได้รับรางวัล 16 แห่ง รวมพื้นที่ป่า 37,062.61 ไร่ มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนได้ 233,494.443 ตันคาร์บอน (ค่าเฉลี่ยอัตราการ​กักเก็บคาร์บอนของป่าไม้ประมาณ 6.3 ตัน/ไร่) รวมตลอด 17 ปี ที่ผ่านมา โครงการได้สนับสนุนป่าชุมชนไปแล้ว 1,779 แห่ง พื้นที่ป่ารวม 1,607,072.23 ไร่ ซึ่งสามารถกักเก็บและดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 10,124,555.049 ​​ตันคาร์บอน

Stay Connected
Latest News