บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกาศหนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593
โดยกลยุทธ์ขับเคลื่อนได้วางให้สอดคล้องไปกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และการขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ที่แต่ละประเทศได้ตั้งเป้าหมายไว้
คุณนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลดำเนินงานรอบ 6 เดือน ของปี 2567 มีรายได้รวม 22,351 ล้านบาท รายได้หลัก 94% มาจากธุรกิจไฟฟ้ารวม 21,020 ล้านบาท ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก 17,895 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 3,125 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากสาธารณูปโภคและส่วนอื่นๆ อีก 6% หรือ 1,331 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 3,827 ล้านบาท เติบโต 7.1% รวมทั้งอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลรอบ 6 เดือนแรก 0.80 บาทต่อหุ้น รวมเป็นจำนวน 1,740 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 กันยายน ที่จะถึงนี้
ขณะที่แนวทางขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเติบโตจากนี้ จะมุ่งเน้น 3 เรื่อง คือ
1. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักและกระจายอยู่ในหลายประเทศ โดยจะนำดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการติดตามการดำเนินงานและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น
2. บริหารโครงการในมือที่มีอยู่แล้วให้เสร็จตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 15 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,773 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง ในจำนวนนี้มี 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 เวียดนาม และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ออสเตรเลีย กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น รวม 40 เมกะวัตต์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในครึ่งหลังของปีนี้
และยังมี 3 โครงการที่ดำเนินการสำเร็จไปแล้วในครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 392.7 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไพตัน อินโดนีเซีย กำลังการผลิต 742 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าคาลาบังก้า ฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 36.36 เมกะวัตต์
3. การลงทุนขยายธุรกิจ มุ่งเน้นลงทุนในโครงการตามแนวทาง และกรอบการพัฒนาของประเทศเป้าหมายแต่ละแห่ง ทั้งในไทย ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งครอบคลุมกำลังการผลิตพลังงานทดแทน (Greenfields) และเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (Brownfields) ควบคู่ไปกับการศึกษาโมเดลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) และการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Reactor Modular: SMR)
“หลักการลงทุนของราช กรุ๊ป จะยึดจากศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของเราเป็นหลัก โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ลงทุนทั้ง Greenfields และ Grid Connection และความคุ้นเคยในโครงสร้างและตลาดไฟฟ้าของประเทศเป้าหมายที่ดำเนินการอยู่ ทำให้สามารถเข้าใจสภาพตลาดและความต้องการของผู้บริโภค ที่มีต่อทั้งสินค้า บริการ และราคาที่ต้องการ ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง”
ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ รับแผนเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด 100%
ปัจจุบัน ราช กรุ๊ป สามารถรับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 10,817.28 MW โดย 72.5% เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวม 7,842.61 เมกะวัตต์ และ 27.5% เป็นกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน รวม 2,974.67 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถถึงเป้าหมายที่ตั้งเป้าสัดส่วน Renewable ให้ได้ 30% ภายในปี 2573 และเพิ่มเป็น 40% ภายในปี 2578
ทำให้บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมปรับยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างการเติบโตให้สอดคล้องกับโอกาส และบริบททางธุรกิจที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ทั้งจากมาตรการด้านภาษี การประกาศ Carbon Tax หรือการตื่นตัวของโลกด้านความยั่งยืน พร้อมทบทวนจุดแข็ง ศักยภาพ หรือการเร่งลงทุนในบางเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถปรับตัวไปทันกับทิศทางโลก รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายสุดท้ายที่จะต้องเปลี่ยนผ่านมาสู่ Greenfields ทั้ง 100% ของพอร์ตธุรกิจภายในปี 2593 ซึ่งจำเป็นต้องเร่งศึกษาทั้งโมเดลและเทคโนโลยีในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่เป็นกลุ่มพลังงานสะอาด รวมท้ังในกลุ่มที่ช่วยกักเก็บพัลงงานหรือสามารถเสริมประสิทธิภาพเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วง Energy Transition นี้ เช่น ระบบแบตเตอรี่ หรือการนำระบบ Synchronous Condenser มาใช้
“บริษัทตั้งงบลงทุนช่วงครึ่งหลังของปีนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนทั้งในโครงการกรีนฟิลด์ และบราวน์ฟิลด์ โดยจะเข้าร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเป้าหมาย โดยประเทศไทยและอินโดนีเซีย มีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติ ส่วน สปป. ลาว มีศักยภาพที่จะลงทุนด้านพลังงานน้ำเพื่อส่งจำหน่ายให้กับประเทศไทย และในออสเตรเลียจะเป็นโครงการพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการประเภท Synchronous Condenser ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน”
สำหรับโครงการที่ ราช กรุ๊ป เริ่มศึกษาเพื่อพัฒนาโมเดลผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าใหม่ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีด้านพลังงานอนาคตที่ยังไม่มีผู้เล่นหลัก หรือเจ้าตลาด เพื่อขยายไปสู่การเติบโตใหม่ๆ รวมท้ังสอดคล้องกับแผน Energy Transition ประกอบด้วย
– โครงการกรีนไฮโดรเจน ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนในไทย ลาว และออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต
– ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ (BESS) ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์
– โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงในประเทศไทย (DPPA) ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมกับพันธมิตร เพื่อศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ทั้งการศึกษาด้านเทคโนโลยี กฎระเบียบ ศักยภาพและความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง พร้อมทั้งการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้ เนื่องจากความท้าทายสำคัญมากกว่าทุกเรื่อง คือ การทำให้ประชาชนยอมรับและเกิดความมั่นใจ จึงต้องเน้นการให้ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจกับประชาน รวมทั้งยังต้องรอขั้นตอนให้ประเทศไทยได้รับใบอนุญาตในการเป็นประเทศที่จะสามารถดำเนินโครงการในลักษณะนี้ได้เสียก่อน ซึ่งคาดว่ามีเวลาในการเตรียมตัวสำหรับการขับเคลื่อนได้อีกหลายปี