มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดตำรา ‘ปลูกป่า ปลูกคน’ ​​ทางออก​วิกฤตสภาพอากาศ พร้อมเติมความหลากหลายทางชีวภาพ

“การมีป่าเพียงอย่างเดียวกำลังจะไม่เพียงพอ เพราะโลกกำลังต้องการป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่ป่ากับความหลากหลายจะยั่งยืนได้ก็ต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งก็คือชุมชน ดังนั้น ​การเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศจะต้องมีทั้งสองปัจจัยนี้ และจะแยกจากกันไม่ได้” 

คำกล่าวของ ​หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในเวทีเสวนา​ Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024 หัวข้อ “ปลูกป่า ปลูกคน: ทางเลือก ทางรอด” โดยมองว่า ความสำเร็จที่จะทำให้ประเทศไทย​บรรลุตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ​ทำให้ประเทศไทยต้องเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 ล้านตันเทียบเท่า ภายในปี พ.ศ.2580

นอกจากนี้ ​ยังได้รับรองกรอบความร่วมมือคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montréal Global Biodiversity Framework) เพื่อที่จะหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ทางบก ทางทะเล และน้ำจืดให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 – หรือเป้าหมาย 30×30

ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ จำเป็นต้อง​ใช้กระบวนการทางธรรมชาติในการบำบัด (Nature-based Solution) และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเป็นทางรอดจากหายนะจากวิกฤต Climate Change ซึ่งสามารถพิสูจน์ความสำเร็จได้จาก Best Practice การปลูกป่าบนดอยตุงของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ที่ดำเนินมาครบ 36 ปี

โดยตลอดระยะเวลา 36 ปี ​​มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าบนดอยตุง สามารถฟื้นฟูป่าได้ราว 9 หมื่น​ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก. ) กว่า 4.19 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Co2e)  รวมทั้ง​​ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และภาคีภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร ที่ร่วมกับ 281 ชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนกว่า 258,186 ไร่ โดยตั้งเป้าขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน

“การขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนช่วยลดปัญหาไฟป่าในพื้นที่ลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ​จากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% จึงพิสูจน์แล้วว่า ชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม เพราะ คน ธรรมชาติ และสภาพอากาศ มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะ คน เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการทำหน้าที่ดูแลรักษาธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูและคืนสภาพอากาศที่ดีให้โลก สอดคล้องกับพระบรมราโชบาย “ปลูกป่า ปลูกคน” ​​สะท้อน​​​แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญในปัจจุบัน  ช่วยเ​พิ่มพื้นที่ป่า พร้อมทั้งสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน รวมทั้งการเพิ่มโอกาสจากกลไกคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง จากการ​ยกระดับการรับรองคาร์บอนเครดิตที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามมาต​รฐานโลกและป้องกันปัญหาการฟอกเขียว​ “ หม่อมหลวงดิศปนัดดา กล่าว

การขับเคลื่อนผ่าน Policy Maker เพื่อรับมือวิกฤต

ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ​หัวข้อ “นโยบายและแนวทางการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ” โดยมองว่า ​ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญ​ปัญหา​​เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฤดูกาล การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ประเทศไทย ​​

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของประเทศไทยเพื่อรับมือวิกฤตสภาพอากาศ ​ในฐานะ​ภาคีสมาชิกกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ​​ได้ตั้งเป้าหมาย​เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ​ โดยได้เพิ่มความสามารถของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG Reduction) ตามแผน NDC1 ที่ต้องเพิ่ม GHG Reduction ต่อปีจาก 20% มาเป็น 30-40% ภายในปี 2030 ​เพื่อยกระดับความสามารถให้เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในการใช้ฐานการลดตามค่าที่เกิดขึ้นจริงในการ​ปล่อยก๊าซรือนกระจก (GHG Emission) แทนการคาดการณ์ ​ รวมทั้งให้ความสำคัญในการสร้างภู​มิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​​  ซึ่งจะทำให้ประเทศสามารถยกระดับสู่เป้าหมาย NDC2 ในปี 2035 ที่สามารถเพิ่ม GHG Reduction ได้เป็น 60% เพื่อบรรลุ Carbon Neutrality ​ตามแผนในปี 2050 และอาจทำให้ประเทศสามารถขยับเป้าหมายในการเป็น Net Zero ได้เร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้ในปี 2065 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นเป้าหมายที่ช้าเกินไป

นอกจากนี้ ในมิติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ได้ร่วมวาง Global Biodiversity Framework ตามกรอบ​​​คุนหมิง-มอนทรีออล ที่ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM – GBF) เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ นำ​สามารถบรรลุพันธกิจปี ค.ศ. 2030 (2030 Mission ) และวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050 ที่ต้องการให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์  ใน 4 มิติ คือ

1. เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกระบบนิเวศ 2. ดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ 3. แบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม และ  4. แก้ปัญหาช่องว่างทางการเงินและแนวทางดําเนินงานอื่นๆ เพื่อ​สนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2050

“การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุทั้ง Carbon Neutrality และ Net Zero ต้องขับเคลื่อนผ่าน 2 มิติ ทั้งการลดการปลดปล่อย GHG Reduction รวมทั้งการดูดซับ GHG Emission ภายใต้การพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บและดูดซับคาร์บอน เพื่อนำไปเก็บไว้ทั้งบนบกหรือใต้ทะเล รวมทั้งการใช้กลไก Nature-based ผ่านการปลูกป่าและใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้​มีพื้นที่ป่า 55% หรือมากกว่า 323 ล้านไร่  ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าทั้งจาก​ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ รวมท้ังพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและในชนบท  ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบาย  ‘ป่าชุมชน’ จะเข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ เพื่อขับเคลื่อน​เป้าหมายด้าน​วิกฤตสภาพอากาศ พร้อมเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละชุมชนจากการใช้ประโยชน์ป่าชุมชนทั้ง​การท่องเที่ยว การเพิ่มทั้งรายได้และความมั่นคงทางอาหารจาก Biodiversity ภายในป่าชุมชน  การใช้สาธารณประโยชน์หรือจากระบบนิเวศ​จากป่าชุมชน เช่น การใช้ประโยชน์จากไม้  หรือแหล่งน้ำภายในป่า รวมทั้งการมีศูนย์เรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ และการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและธรรมชาติ เป็นต้น” 

​ยังมีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายผ่านการจัดทำร่าง​​ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นการวางกรอบกฎหมาย กลไก และเครื่องมือในภาคบังคับและส่งเสริมที่จำเป็นและเหมาะสมกับการขับเคลื่อนประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ​รวมทั้งสร้างประโยชน์ให้ทุกภาคส่วนในการเปลี่ยนผ่าน ทั้งการสนับสนุนกลุ่มรายย่อยหรือ SME รวมทั้งกฏเกณฑ์เรื่องของการชดเชยคาร์บอน ซึ่งต้องมีการระบุสัดส่วนคาร์บอนเครดิตที่มาจากป่าชุมชน เพื่อสร้างประโยชน์ไปสู่ชมุชนได้อย่างแท้จริง โดยปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. ได้จัดทำแล้วเสร็จในทุกมาตรา และอยู่ในกระบวนการเพื่อสอบทานก่อนผลักดันให้ทางรัฐบาลพิจารณาและเห็นชอบ​ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2026  ​

นอกจากนี้ จะเตรียมพร้อม​การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการผลักดันในการยกระดับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 3.0) ซึ่งมีกำหนดจัดส่งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2025 ขณะที่ความน่าสนใจของ COP 29  จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยจะกำหนดเป้าหมายทางการเงินสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วในการร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านรวมกว่า 1.1 -1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อกระจายไปยังกว่า 140 ​ประเทศ ในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเพื่อเร่งขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย

“​การขับเคลื่อนต่างๆ เพื่อตอกย้ำว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ แต่เราเพียงเข้ามาใช้ประโยชน์ และมีหน้าที่​ช่วยกันดูแล เพื่อ​ส่งต่อโลกที่ดีและยั่งยืนให้คนรุ่นต่อไป เข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลโลกต่อจากเรา”  ดร.พิรุณ กล่าวทิ้งท้าย 

มุมมอง​ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ : จากทางเลือกสู่ทางรอด

เวทีเสวนา​ Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024 หัวข้อ “ปลูกป่า ปลูกคน: ทางเลือก ทางรอด” ยังพูดถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนควบคู่กับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนภายใต้โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ผลพลอยได้เป็นคาร์บอนเครดิตที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. คุณสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และ คุณปราณี ราชคมน์ ประธานเครือข่ายป่าชุมชน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย

พร้อมด้วยเสวนาหัวข้อ “ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ: จากทางเลือกสู่ทางรอด” โดยตัวแทนภาคเอกชนมาแบ่งปันวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน กลยุทธที่ปฏิบัติได้จริง ได้แก่ คุณต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) คุณสุศมา ปิตากุลดิลก   ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ คุณสุมลรัตน์ ทวีกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด

นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ยังพร้อมนำ ‘ตำราแม่ฟ้าหลวง’ หรือองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนไปเสริมทัพกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรเอกชนเพื่อนำกลยุทธความยั่งยืนขององค์กรไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาชุมชน การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการระบบน้ำ การปลูกและฟื้นฟูป่า การจัดการของเสีย เป็นต้น และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ​​ยังมุ่งมั่นต่อยอดแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนควบคู่กับการฟื้นฟูและรักษาธรรมชาติ สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solution) และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและประโยชน์จากระบบนิเวศเป็นแนวทางในการปรับตัว (Ecosystem-based adaptation) อีกด้วย ​

Stay Connected
Latest News