‘Water is The New Carbon’ เมื่อ ‘วิกฤตน้ำ’ รุนแรงไม่ต่างโลกเดือด กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเวที ‘Water Resilience in a Changing Climate’ เร่งรับมือความท้าทายเรื่องน้ำ

“วิกฤตน้ำ” เป็นอีกหนึ่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังสร้างความเสียหายต่อผู้คนและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก จากรายงาน Fast Forward ของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ปี 2566 ชี้ให้เห็นว่าภายในปี 2573 ปริมาณน้ำสะอาดที่โลกมีอยู่กับความต้องการใช้น้ำจะมีสัดส่วนต่างกันถึง 40%

โดยน้ำถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็น​การดำรงชีวิตของผู้คน รวมทั้งในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยพบว่าปริมาณความต้องการน้ำทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในแต่ละปีมากกว่า 2.5 เท่า ขณะที่ซัพพลายหรือปริมาณน้ำกลับขาดแคลนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ​ทำให้​สถานการณ์วิกฤตน้ำยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค ​​โดยเฉพาะในประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย​ภาคการเกษตรเช่นในประเทศไทย ‘การบริหารจัดการน้ำ‘ จึงกลาย​เป็นโจทย์สำคัญของโลก รวมทั้งภาคธุรกิจไทยในการเร่งลงมือทำ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านน้ำที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันรวมทั้งในอนาคต

กลุ่มธุรกิจ TCP  จึงได้จัดประชุมด้านความยั่งยืนครั้งสำคัญ  TCP Sustainability Forum 2024 ด้วยธีม “Water Resilience in a Changing Climate” ระดมสมองนักวิชาการ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญ ยกระดับศักยภาพธุรกิจไทยเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านน้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชูแนวคิด ‘ความยืดหยุ่นและการปรับตัวเร็ว’ ผ่านการขับเคลื่อน​ 3 แผนงาน ทั้งการจัดการน้ำแบบฟื้นฟู การใช้น้ำหมุนเวียนแบบ 100% และการใช้นวัตกรรมที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ปลุกพลังสู่เป้าหมายความยั่งยืนในอัตราที่เร็วขึ้นเพื่อโลกที่ดีกว่าตั้งแต่วันนี้

คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานประชุมด้านความยั่งยืน TCP Sustainability Forum 2024 ด้วยความตั้งใจสร้างพื้นที่​ระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านความยั่งยืน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือภายในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อร่วมกันรับมือต่อความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระดับอุตสาหกรรม ทั้งการขับเคลื่อนสู่ Net Zero และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate Chnage Adaptation รวมทั้งการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน

“ขณะที่​ในปีนี้จัดขึ้นผ่านธีม “Water Resilience in a Changing Climate” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “น้ำกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของภาคธุรกิจ” เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำและความท้าทายด้านน้ำอื่นๆ
ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในฐานะ​องค์กรที่ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลัก ผ่านการสนับสนุนให้องค์กรเร่งปรับปรุงการดำเนินการตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยเสริมสร้างความสมบูรณ์และยืดหยุ่นของน้ำ และร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แหล่งน้ำที่มีความเปราะบาง โดย คำว่า ​Water Resilience หรือความยืดหยุ่นด้านทรัพยากรน้ำ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรับมือกับภาวะขาดแคลนน้ำแบบเฉียบพลัน รุนแรงและไม่แน่นอน ​จากผลกระทบของวิกฤตสภาพอากาศที่ยกระดับจาก Climate Change สู่​ Climate Crisis โดยมีหัวใจสำคัญคือการรับมือเพื่อสามารถอยู่รอดได้ในอนาคต และต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วน เพื่อสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าอัตราเร่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน” ​

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ดำเนินการด้านความยั่งยืนตามเป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” โดยกลยุทธ์ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) มีความคืบหน้าอย่างมาก ได้แก่

Product Excellence การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค (Unmet Needs) และส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ 80% ในปี 2569 โดยปัจจุบันทำได้ 25%

Circular Economy การดำเนินตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าหมายพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ให้สามารถรีไซเคิล 100%  ภายในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันทำได้ 93% อีก 7% คือกลุ่มสแนค ซึ่งมั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะทำได้สำเร็จ และปีนี้นำร่องการใช้ขวด rPET กับแบรนด์แมนซั่ม พร้อมเดินหน้าเป็นองค์กร Zero Waste to Landfill ทั้งที่โรงงานปราจีนบุรีและสำนักงานใหญ่อย่างต่อเนื่อง

Low Carbon Economy การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ปัจจุบันสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% และขณะนี้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 80%

Water Sustainability การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2573 ซึ่งบรรลุเป้าหมายแล้วในขณะนี้ โดยสามารถคืนน้ำสู่ธรรมชาติสะสมได้ถึง 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ตลอดกระบวนการ ที่มีปริมาณการใช้ราว 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตร

“เรายังให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำผ่านแนวทาง Smart Manufacturing ทำให้ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ 24% เมื่อเทียบกับปี 2562 และยกระดับการพัฒนาด้วยการนำมาตรฐานสากลเรื่องการจัดการและดูแลทรัพยากรน้ำอย่าง Alliance Water Stewardship หรือ AWS มา​​เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มธุรกิจ TCP จะดูแลและบริหารจัดการน้ำทั้งภายในและภายนอกรอบโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมุ่งขับเคลื่อนการ​ฟื้นฟูขึ้นไปจนถึงแหล่งน้ำเพื่อสร้าง Net Water Positive ​ผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การจัดการน้ำแบบฟื้นฟู เพื่อปรับปรุงระบบนิเวศทางน้ำให้กลับสู่สภาพเดิมหรือดีกว่าเดิม  2. การใช้น้ำหมุนเวียนทั้ง 100% เพื่อสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด และ 3. การพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มผลลัพธ์เชิงบวกต่อทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างคน​ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนแผนงานด้านความยั่งยืน ทั้งภายในองค์กร ชุมชน และระดับประเทศ”

ด้าน คุณประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย กรรมการบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนระดับโลก กล่าเพิ่มเติมในหัวข้อ ‘Water Resilience มาตรฐานและแนวทางการปรับตัวของธุรกิจ’ ​โดยให้ข้อมูลว่า คนทั่วโลกมีการใช้น้ำในปัจจุบันหลายแสนล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ​เทียบเท่าสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกจำนวน 1 พันล้านสระ ขณะที่ซัพพลายที่มีน้อยกว่าดีมานด์ถึง 40% ​ทำให้มีผู้คนทั่ว​โลกกว่า 1 ใน 4 ที่ต้องเผชิญกับวิกฤต​น้ำ หรือประชากรโลกราว 2,000 ล้านคนที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ วิกฤตน้ำ จึงนับเป็นวิกฤตที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่ง​วิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคุณภาพนำ้ ​การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำอีกด้วย

“มุมมองระดับโลก มองปัญหาวิกฤตน้ำเป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นเดียวกับปัญหาสภาพอากาศ โดยนิยามไว้ว่า ‘Water is The New Carbon’ เนื่องจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในโลกส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงออกมาในเชิงกายภาพจากผลกระทบของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือ Climate Change ที่สร้างความเสียหายมากขึ้นและเกิดถี่ขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุ หรือสร้างผลกระทบที่เชื่อมโยงไปสู่เรื่องของน้ำแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำมากจนท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อธรรมชาติ รวมท้ังโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น น้ำ​ท่วมขังโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นเวลานาน ทำให้ได้รับความเสียหาย หรือน้ำท่วมไหลเข้าโรงงานของเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการต่างๆ​ รวมทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปถึงคุณภาพของน้ำหากท่วมจนถึงพื้นที่แหล่งผลิตน้ำดื่มหรือน้ำที่ใช้สำหรับการบริโภค หรือหากน้ำน้อยเกินไปก็จะเกิดปัญหาภัยแล้ง หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นฉับพลัน รวมทั้งการเกิดไฟป่า หรือ​ปัญหาดินถล่มจากระดับน้ำใต้ดินที่ลดลง หรือหากมีระดับน้ำทะเล​หนุนสูงขึ้นจนไหลปนกับแหล่งน้ำบนผิวดินก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำกร่อยหรือดินเค็มได้”

ขณะที่บริบทของประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงเหมือนในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก ทำให้​ความตระหนักต่อปัญหาเรื่องวิกฤตน้ำยังน้อยและมุ่งไปที่เรื่องการจัดการคาร์บอนเป็นหลัก โดยพบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 4 ของโลก ในการเป็นประเทศที่มีการใช้น้ำต่อหัวประชากรสูงสุดของโลก โดยการใช้น้ำกว่า  70% เป็นการใช้ไปในภาคการเกษตร  ขณะที่ข้อมูลในปี 2559 พบปริมาณการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ​​มากกว่า 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ​และข้อมูล​ในปีที่ผ่านมา ยังพบว่า 19% ของปริมาณน้ำผิวดินในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำต่ำอีกด้วย ส่วน​ภาคธุรกิจที่มีความตระหนักต่อปัญหาวิกฤตน้ำ จะมีการขัลเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมรับมือต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทั้งการจัดการภายในกระบวนการผลิตของตัวเอง เช่น ลดการใช้น้ำ และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลง และทำให้ปริมาณการใช้น้ำต่อหนึ่งหน่วยการผลิตลดลงได้มากที่สุด ก่อนจะขยายการจัดการไปยังซัพพลายเชน เพื่อเริ่มเข้าไปดูแลจากแหล่งน้ำ หรือต้นน้ำ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายในการฟื้นฟูและป้องกันดูแลแหล่งน้ำร่วมกัน เพื่อสามารถบริหารจัดการน้ำทั้งในพื้นที่ที่โรงงาน และบริเวณโดยรอบไปจนถึงแหล่งต้นน้ำ เพื่อไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การสร้าง Net Positive Water  Impact หรือการใช้น้ำเป็นศูนย์​และสามารถคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติได้มากกว่าที่นำมาใช้ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดวิกฤตน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ​​

สำหรับ TCP Sustainability Forum 2024 เป็นงานประชุมด้านความยั่งยืนที่กลุ่มธุรกิจ TCP จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สู่ปีแห่งการลงมือทำและปรับตัวเพื่อเร่งให้เกิดความก้าวหน้าเร็วที่สุด อีกทั้งยังเป็นเวทีความยั่งยืนเวทีแรกและเวทีเดียวในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือของพันธมิตรในกลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องดื่ม ในการรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านธุรกิจควบคู่กับการสร้างผลกระทบในทางบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งไทยและต่างประเทศ ตามเป้าหมาย “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า”

Stay Connected
Latest News