‘เอสซีจี’ เร่ง Climate Tech มุ่งทั้งลดและดูดกลับคาร์บอน ชี้เทคโนโลยีและความร่วมมือ คือกุญแจ​กู้โลกเดือด เมื่อโลกเลยจุดเยียวยาตัวเอง

“เอสซีจีตั้งเป้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ Net Zero 2050 ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อไปถึงเป้าหมายในอีก 26 ปีข้างหน้า แต่สถานการณ์โลกเดือดที่ผ่านมาเป็นตัวบอกว่าต้องเร่งมือเพิ่มขึ้น ทั้งการลดและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม โดยมีเทคโนโลยีและความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญ”  

มุมมองของ คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ​บนเวทีเสวนา The World after Sustainability: What’s the Next Global Agenda ในงาน Techsauce Global Summit 2024 ​โดยมองว่า อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่สถานการณ์โลกเดือด และมีโอกาสที่อุณหภูมิจะยังคงสูงเพิ่มขึ้นแตะ 2.5 -3 องศาเซลเซียส กลายเป็นจุดพลิกผันของโลก​ ที่​ทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนไป ​ผืนป่าอาจเปลี่ยน​เป็น​ทะเลทราย สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมก็จะได้รับผลกระทบเกินกว่าที่โลกจะสามารถเยียวยาตัวเองได้อีกต่อไป ทุกคนจึงต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

ความท้าทายที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สังคม มีความสำคัญมากขึ้น และต้องทำควบคู่ไปกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์  บทบาทของการพัฒนาเทคโนโลยีจึงเข้ามามีความสำคัญมากขึ้นในการช่วยตอบโจทย์ทั้งในมิติที่ช่วย​ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ​รวมไปถึงการดูดซับคาร์บอนที่ปล่อยออกมาแล้ว เพื่อช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ และดูแลสังคม ซึ่งการขับเคลื่อนต่างๆ ไม่สามารถจะทำได้เพียงลำพัง ดังนั้น การพัฒนาทั้งเทคโนโลยี รวมทั้งความร่วมมือ จึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ​

ทั้งนี้ เอสซีจี​​ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี​​มาช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ​​​ เพื่อมีส่วน​สร้างการเปลี่ยนแปลงและร่วมส่งต่อโลกที่ยั่งยืน และผนึกความร่วมมือกับ​ทุกภาคส่วนเพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น  เช่น

การพัฒนาเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution มาสร้างสรรค์ บ้านปะการังเพื่อช่วยดูแลระบบนิเวศทางท้องทะเลได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้ทรัพยากรและความอุดมสมบูรณ์ของปะการังเสื่อมโทรม โดยบ้านปะการังจากเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution จะมีความคล้ายคลึงกับปะการังจริง กลมกลืนกับธรรมชาติ ​มีประสิทธิภาพในการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง ผลิตจากปูนซีเมนต์รักษ์โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล แข็งแรง ทนทาน มุ่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ท้องทะเลไทย

การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนฟุตพรินท์เป็นลบ (Negative Carbon Footprint) เพื่อยกระดับการ​ลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ล้ำหน้ายิ่งขึ้น เช่น  SCGC (เอสซีจีซี) ร่วมกับ Avantium ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านเคมีทดแทน (Renewable Chemistry) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาผลิต พอลิเมอร์คาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นลบ’ ที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต รวมถึงสามารถย่อยสลายได้ทั้งในสภาวะธรรมชาติและในทะเล ​หรือความ​ร่วมมือกับ Braskem ผู้นำพลาสติกชีวภาพระดับโลก จากประเทศบราซิล ใช้จุดเด่นของประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม นำผลิตผลจากภาคเกษตรมาพัฒนาเป็น พลาสติกชีวภาพ พลาสติกรักษ์โลกคาร์บอนเป็นลบ และสามาร​ถรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป​

การพัฒนานวัตกรรม ปูนคาร์บอนต่ำ’ ซึ่งทางเอสซีจีผลิตได้สำเร็จเมื่อหลายปีที่แล้ว ภายใต้ความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่​เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเดียวกัน ลูกค้า และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ แต่ผลลัพธ์จากการพัฒนาครั้งนี้ สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากสัดส่วนการใช้ปูนคาร์บอนต่ำของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า​ 70% ในปี 2566 และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

วิกฤต​โลกเดือดที่เกิดขึ้น ทำให้การขับเคลื่อนแค่เป้าหมาย Net Zero อาจไม่เพียงพออีกต่อไป จำเป็นต้องมองมิติของการฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่ไปด้วย หรือการขับเคลื่อนตามหลัก Regenarative​ ที่ต้องทั้งลดทั้งดูดกลับคาร์บอน เพื่อไปสู่ Net Positive ได้ด้วย เช่น การดูแลฟื้นฟูดิน​ผ่านการส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า หรือการใช้ปะการังเทียมเข้ามาช่วยดูแลระบบนิเวศในทะเล รวมทั้งการ​นำคาร์บอนในอากาศมาเปลี่ยนเป็นพลาสติกด้วยเทคโนโลยี CCUS เพื่อให้ได้พลาสติกคาร์บอนเป็นลบ และสามารถขับเคลื่อนได้ทั้ง Decarbonization และ Regeneration ควบคู่กันไป​​ รวมไปถึงการมีส่วนช่วยดูแลคนตัวเล็ก ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากวิกฤตสภาพอากาศ ซึ่งจำเป็นต้องช่วยเหลือกันให้ทุกคนสามารถเปลี่ยนผ่านร่วมกันได้อย่างยั่งยืน​”

“เอสซีจีพร้อมเป็นส่วนหนึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อส่งต่อโลกที่ยั่งยืนน่าอยู่ถึงคนทุกรุ่นและความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อีกมาก เพราะความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง ถ้าหากทำเพียงลำพัง อุณหภูมิโลกก็จะยังสูงเกินกว่าทุกคนจะรับไหว เวลานั้นไม่ว่าใครก็จะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด” คุณธรรมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

Stay Connected
Latest News