โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) ภายใต้การนำขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนที่เป็นผู้นำด้านการกำหนดนโยบายและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพลาสติกของประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวผลงาน PPP Plastics “Building Ecosystem for Plastic Circularity” โดยมีการแถลงผลการดำเนินงานและการส่งมอบตำแหน่งประธาน PPP Plastics การเปิดตัวโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า และการเสวนาหัวข้อการเตรียมพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมข้อตกลงระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก
นายภราดร จุลชาต ประธาน PPP Plastics กล่าวว่า PPP Plastics ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องมากว่า 6 ปี ทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเชิงพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกทะเลลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายใน พ.ศ. 2570
โดยได้ดำเนินการใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ (1) ด้านนโยบาย (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3) ด้านนวัตกรรม (4) ด้านการศึกษาและการสื่อสาร (5) จัดทำฐานข้อมูล (6) บริหารจัดการงบประมาณ ทั้งนี้ งานของ PPP Plastics ประสบความสำเร็จได้เนื่องจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน จึงขอขอบคุณภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกของ PPP Plastics ภาครัฐ ภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงภาคีเครือข่ายในการดำเนินโครงการต่าง ๆ
นางภรณี กองอมรภิญโญ PPP Plastics Communication Taskforce Leader กล่าวว่า PPP Plastics มุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานที่จำเป็นสำหรับการสร้างระบบนิเวศเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของพลาสติก หรือ plastic circularity โดยมีโครงการไฮไลท์ ได้แก่ โครงการ Smart Recycling Hub และโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ซึ่งการที่จะผลักดันให้เกิดองคาพยพของเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริงนั้นจำเป็นจะต้องมีการสื่อสารที่เข้มแข็งในทุกระดับเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและสามารถขับเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า จากนี้ต่อไป PPP Plastics ยังคงเดินหน้าสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งตอบสนองต่อทิศทางนโยบายทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (EPR) กฎหมายเศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรฐาน PCR และข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยในการขับเคลื่อนงานในอนาคต PPP Plastics จะจัดตั้งเป็นสมาคม PPP Plastics เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวได้มีการจัดพิธีส่งมอบตำแหน่งประธาน PPP Plastics ระหว่าง นายภราดร จุลชาต ในนามกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้กับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ในนามองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เพื่อสานต่อและขยายผลการดำเนินงานของ PPP Plastics ให้สำเร็จบรรลุเป้าหมายหลักทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติในการสนับสนุนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก
พร้อมกันนี้ ได้มีงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการยกระดับมาตรฐานซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า โดยมีผู้บริหารจากองค์กรภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย PPP Plastics กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า และองค์กรภาคธุรกิจที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ ได้แก่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จํากัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการจัดการขยะอย่างยั่งยืนตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูล และการลงทะเบียนซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าที่เชื่อมโยงกันในระดับประเทศ และอบรมให้ความรู้แก่ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อนำวัสดุรีไซเคิลคุณภาพดีกลับเข้าสู่ระบบการผลิต
นอกเหนือไปจากนี้แล้วยังมีการเสวนาหัวข้อ “การเตรียมพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมข้อตกลงระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมนำเสนอข้อมูล
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “ทะเลและชายฝั่งเป็นแหล่งของทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้สร้างมลพิษ โดยเฉพาะขยะทะเลชนิดขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อทัศนียภาพ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเล เช่น แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล สัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ทั้งเต่าทะเล โลมา วาฬ และพะยูน รวมถึงสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารของมนุษย์ ขยะพลาสติกเหล่านี้จะกลายเป็นไมโครพลาสติกซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ต่อไป ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถรอเวลาได้ หน่วยงานต่าง ๆ ต้องลงมือปฏิบัติและจัดการอย่างเป็นรูปธรรมแบบบูรณาการเพื่อให้การแก้ปัญหาขยะพลาสติกประสบความสำเร็จและยั่งยืน”
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “มลพิษจากพลาสติก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันโลกกำลังให้ความสำคัญ รองจากเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2568 องค์การสหประชาชาติกำลังจะให้มีอนุสัญญามลพิษพลาสติกขึ้น และอาจจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตพลาสติก ที่จะต้องมีการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้จำหน่ายที่จะต้องเริ่มมีการจำกัดหรือควบคุมการแจกจ่ายบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นอกจากนี้ผู้บริโภคจะต้องมีความตระหนักในการใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า และแยกประเภทขยะให้ถูกต้อง รวมทั้งผู้เก็บรวบรวมขยะที่จะต้องนำกลับคืนขยะรีไซเคิลทุกประเภทเหล่านี้เพื่อนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป”
นายฐิติธัม พงศ์พนางาม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “ภาคธุรกิจไม่สามารถมองประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมด้วยมุมมองเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว เราทุกคนต่างตระหนักว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะช่วยกันดูแลและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การพยายามแก้ปัญหาเรื่องพลาสติกโดยการใช้วัสดุอื่นมาทดแทนยังไม่นับเป็นทางออกที่ยั่งยืน แต่กระบวนการรีไซเคิลและการผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนของพลาสติกคือคำตอบของปัญหาเหล่านี้”
และท้ายสุด PPP Plastics ได้ร่วมกับองค์กรสมาชิกและองค์กรภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา ประกาศความร่วมมือ “Building Ecosystem for Plastic Circularity” เพื่อเป็นการแสดงออกถึงพลังความร่วมมือในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยและร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม