WHY Sustainomy?  รู้ทัน 3 ความล้มเหลวของระบบเก่า พร้อมสร้าง Future of Growth ด้วยเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเติบโตได้อย่างไม่มีลิมิต

แม้ประเทศไทยจะถูกจัดให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวลำดับแรกๆ ของอาเซียนและทั่วโลก แต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและสมดุล เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ถูกทำลายหรือใช้ไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับอัตราส่วนรายได้ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่อปี เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงกว่าในสิงค์โปร์ถึงสองเท่า แต่สถิติการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทย สามารถสร้างรายได้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งของสิงคโปร์เท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างบางอย่างในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะความไม่คุ้มค่าในการใช้​ทรัพยากร หรือต้นทุนในมิติต่างๆ ของประเทศ เพื่อนำมา​สร้างการเติบโตให้กับ​เศรษฐกิจของประเทศตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงจำเป็น​ที่จะต้องเริ่มผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง (High-value Economy) ในขณะที่การขับเคลื่อนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง​ทั้งการเติบโตรวมทั้งสามารถรักษาความสมดุล​ในทุก​มิติ ทั้งในเรื่องของคน (People), โลก (Planet), และผลกำไร (Profit) หรือนโยบาย (Policy)

BRANDi Institute of Systematic Transformation (BiOST) และ  BRANDi and Companies  จัดงาน Future of Growth Briefing  โดย คุณปิยะชาติ (อาร์ม) อิศรภักดี  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด หนึ่งนักธุรกิจไทยในฐานะสมาชิกสภาอนาคตโลก (Global Future Council) เพื่อแชร์ประเด็นสำคัญจาก 15th Annual Meeting of New Champions 2024 หรือ Summer Davos ซึ่งจัดโดย World Economic Forum พร้อมชู  แนวคิดเศรษฐกิจใหม่ (Sustainomy) เพื่อเป็นคำตอบและทางออกสู่การเติบโตที่ยั่งยืน เพื่อ​เตรียมความพร้อมในการสร้าง Future-ready และขับเคลื่อนกลยุทธ์ที่เหมาะสม ​รวมทั้งสามารถตอบโจทย์​อนาคตให้แก่ประเทศไทยได้

ถอดรหัส 3 ความล้มเหลว​การเติบโตด้วยระบบเก่า

คุณปิยะชาติ ให้มุมมองว่า แนวคิด​ในการสร้างการเติบโตในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว  ธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ไม่ใช่ธุรกิจที่โดดเด่น หรือเก่งแค่เรื่องของการ ‘แข่งขัน’ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเก่งในการสร้างความ ‘ร่วมมือ’ ด้วย  เพราะการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง (High-value Economy) ​ต้อง​สามารถเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน​ของระบบนิเวศ​ธุรกิจ (Ecosystem) ทั้งจากภายในประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อสามารถสร้างเอกลักษณ์ (Uniqueness) เพื่อเป็นจุดยืนและตัวตนที่แข็งแกร่งของประเทศไทย​มาเป็นแนวทาง​ขับเคลื่อนประเทศในเชิงรุก (Proactive)  ภายใต้ 3 แนวคิด ที่​เป็นสารตั้งต้น ในการขับเคลื่อนด้วย เศรษฐกิจใหม่ (Sustainomy) ที่จะนำพาประเทศไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ประกอบด้วย

1. เข้าใจความเชื่อมโยงของกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน

ความล้มเหลวในเชิงโครงสร้าง ที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญ​ความท้าทาย​ มาจากการแทรกแซงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่บิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งนำไปสู่ ‘ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ’ ที่มีต้นทุนสูงถึง 375 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน​ อีกทั้ง​ยัง​ใช้ทรัพยากรล่วงหน้าไปแล้วกว่า 7.5 ปี  หรือต้องใช้ทรัพยากรถึง 3 หน่วย เพื่อสร้างการเติบโตของ GDP ​เพียง​​ 1 หน่วย ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ไม่สามารถรักษาความมั่นคงไว้ได้ในระยะยาว ​การแก้ไขปัญหานี้  จึงจำเป็นต้องสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นความยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อรองรับอนาคตและสร้างเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง

2. เข้าใจเงื่อนไขและความท้าทายในการทำธุรกิจ

ความล้มเหลวของตลาด เกิดจากการที่ธุรกิจมัก​​ดำเนินการภายใต้ Comfort Zone หรือเลือกแข่งขันในพื้นที่ที่มีความสามารถในการจ่ายและสามารถทำกำไรได้สูง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ธุรกิจไม่สามารถอยู่ในสภาวะดังกล่าว​ได้ตลอดเวลา เพราะผู้บริโภคในหลายพื้นที่ก็ไม่มีความสามารถในการจ่าย ทำให้กลไกตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงไม่สามารถ​มอง​ธุรกิจในแบบปกติที่คุ้นเคย (Business as Usual) แต่​ต้องมองจากบริบทที่เปลี่ยนไปแบบ Bussiness as Unusual ที่เน้นให้เกิด Force for Good เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้

3. เพิ่มความสามารถในการดำเนินการ และทำให้นโยบายปฏิบัติได้จริง

ปัญหาของเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ ความล้มเหลวในการเติบโต (Growth Failure) ซึ่งเป็นภาพเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่ยังไม่สามารถ​จัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่นโยบายการขับเคลื่อนของภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้ธุรกิจไทยเสียเปรียบตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญคู่แข่งจากประเทศที่มีความสามารถในการลดต้นทุน หรือประเทศที่ขยับตัวเองไปเป็น High-value Economy ได้

สร้าง Thailand Growth Model เติบโตจากภายใน

“การวัดความสำเร็จประเทศจากตัวเลข​ หรือ High GDP เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่แนวทางที่จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ เราต้องหา Thailand Growth Model โมเดลการเติบโตในแบบของเราเอง​​ และขายให้เป็น ต้องหาให้เจอว่าเราคือใครในเวทีโลก โดยเฉพาะการ​ก้าวข้ามการเป็นประเทศ ‘ถูกและดี แต่ต้องเป็นประเทศที่ แพงแต่โคตรดี  เพื่อขยับไปเป็น High-value Economy ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศมีความสำคัญ รัฐบาลต้องสร้าง Sandbox หรือพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจไทยสามารถเติบโตและเข้มแข็งได้จากภายใน เพื่อเตรียมพร้อมในการก้าวไปสู่เวทีโลก และสามารถนำเงินจากทั่วโลก มาต่อยอดเพื่อสร้างความมั่งคั่ง หรือ Wealth Distribution ให้กับคนในประเทศได้ในที่สุด เราจำเป็นต้องสามารถสร้างเวที สร้างเกมของตัวเอง​เพื่อสร้างความได้เปรียบและเติบโตได้ เพราะการเข้าไปแข่งในเกมของคนอื่น ​มีโอกาสสูงมากที่จะต้องกลายเป็นผู้แพ้​ได้ในที่สุด” 

นอกจากนี้ อีกหนึ่ง​จุดแข็งของประเทศไทย คือ การขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืนซึ่งกำลังเป็นวาระสำคัญของโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพของสิ่งแวดล้อมตามกรอบ ESG และ SDGs จึงควรต่อยอดในการหากลไกเพื่อสร้างโมเดลขับเคลื่อนการเติบโตจาก Nature based Approach เพิ่มเติมจาก Nature Capital ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้อยู่แล้วในระบบเศรษฐกิจแบบเก่า​

ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจใหม่อย่าง ‘Sustainomy’ จะขับเคลื่อนการเติบโตผ่าน 3 แนวทางสำคัญ คือ

1. ​สร้างการเติบโตให้ครอบคลุมมากกว่าแค่ผลกำไร : ​ขยายคำจำกัดความของการเติบโตให้ครอบคลุมทั้งการสร้างความ​มั่งคั่ง (Prosperity) ​​ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน (People) และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Planet)

2. สร้างพอร์ตโฟลิโอที่สมดุล : ส่งเสริมองค์ประกอบเศรษฐกิจที่สมดุล โดยมีสัดส่วนทที่เหมาะสมของอุตสาหกรรมที่มีมายาวนานและมีความมั่นคง (เศรษฐกิจจริง — Real Sector) และอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมนวัตกรรม แต่มีความผันผวน (เศรษฐกิจเสมือน — Virtual Sector) 

3. เสริมความแข็งแกร่งให้กับ ‘ตรงกลาง’ : ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มชนชั้นกลาง ในการขับเคลื่อนทางออกใหม่ที่ยั่งยืน

“สุดท้ายแล้วการจะเกิดเศรษฐกิจใหม่ (Sustainomy) เราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า Value Creation ของเราอยู่ตรงไหนใน Global Goals และ Goals ของเราคืออะไร และจะทำอย่างไรให้ Value Creation ของเรานั้นเป็น High-value Creation ได้” คุณปิยะชาติ กล่าวทิ้งท้าย

Stay Connected
Latest News