ชมรมบัวหลวง SME ​หนุนธุรกิจเร่งปรับตั​ว ​ชู 2 ธุรกิจตัวอย่าง รอดด้วย ‘นวัตกรรม คุณภาพ ความแตกต่าง’ สู่เป้าหมายคือ ‘ความยั่งยืน’

ธุรกิจเอสเอ็มอี ถือเป็นรากฐาน​ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ทั้งในแง่ปริมาณที่มีมากกว่า 3 ล้านราย นำมาซึ่งการจ้างงานหลักสิบล้านคน ​​และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญ​ของ Supply Chian เป็นฟันเฟืองสำคัญให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างๆ  รวมท้ังยังสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจได้ถึงราว 1 ใน 3 ของ GDP ประเทศ

แต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เต็มไปด้วยความเปราะบาง การแข่งขันระดับสูง การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทรนด์ต่างๆ ทั้งในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภค หรือเมกะเทรนด์ต่างๆ รวมไปถึงกฏระเบียบข้อบังคับทางธุรกิจที่เริ่มมีการยกระดับเพิ่มมากขึ้นในมิติต่างๆ ที่แม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ยังต้องเร่งปรับตัวให้ทัน จึงถือเป็นความท้าทายสำคัญในการปรับตัวของกลุ่มเอสเอ็มอีเพื่อสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ชมรมบัวหลวง SME โดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งกลไกในการตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและมีส่วนช่วยยกระดับพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของทางธนาคาร ผ่านการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ เพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศไทย และต่างประเทศ และสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีสมาชิกในชมรมรวมกันกว่า 2,000 ราย และขับเคลื่อนผ่านแนวคิด​ ‘สัมพันธ์ดี มีเครือข่าย ได้ความรู้ อุ้มชูธุรกิจ’

ทั้งนี้ ชมรมบัวหลวง SME ได้จัดกิจกรรม ชมรมบัวหลวง SME สัญจร เยี่ยมชมธุรกิจของสมาชิกชมรมเพื่อเป็น Best Practice ด้านการปรับตัวในฐานะ SME Transformation ที่​เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสเติบโต เพื่อถ่ายทอด Keys Sucees และแนวทางการปรับตัวเพื่อสามารถเติบโตได้ยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทายรอบด้านจาก 2 ธุรกิจ คือ บริษัท ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ จำกัด และ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด

คุณกำพล กุลวรานนท์ ประธานชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี กล่าวถึงความท้าทายของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบัน ที่ต้องเผชิญหลายความท้าทายในการผลักดันให้ธุรกิจเติบโต โดยเฉพาะปัญหาหนักในปัจจุบันที่มีสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในยุคทที่ผู้บริโภคกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพ ขณะที่การเติบโตของสินค้าจีนที่ขยายเข้ามาทุกเซ็กเม้นต์จากากการเติบโตของออนไลน์ เพราะต้นทุนที่ถูกกว่าสินค้าในประเทศ รวมทั้งการ​จัดส่งได้รวดเร็วทำให้ผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทยที่ไม่สามารถแข่งขันได้และค่อยๆ ล้มหายตายจากไปในที่สุด

“บทบาทของภาครัฐที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการไทย คือ การกำหนดเรื่องของมาตรฐานสินค้าต่างๆ ให้มีความปลอดภัย หรือการใช้มาตรการด้านกำแพงภาษี รวมท้ังการกำหนดโควต้าสินค้านำเข้า หรือเพิ่มมาตรการในการส่งเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี ทั้งเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ขณะที่เอสเอ็มอีเองจำเป็นต้องปรับตัว สร้างจุดแข็งและความแตกต่างให้ธุรกิจ หรือการสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงเพื่อแชร์องค์ความรู้ การพัฒนานวัตกรรมหรือการเปลี่ยนผ่านต่างๆ เช่นเดียวกับทางชมรมฯ ที่พยายามเข้ามามีบทบาทในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของธุรกิจเอสเอ็มอีภายในกลุ่ม ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แชร์ Practice ด้านการปรับตัว การบริหารต้นทุน การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี ข้อกฏหมายหรือกฏเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ภาคธุรกิจต้องเท่าทัน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนธุรกิจตามกรอบความยั่งยืนหรือ ESG ที่เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขของโลกธุรกิจใหม่ ที่ผู้ประกอบการตลอดทั้งซัพพลายเชนต้องสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจได้อย่างสอดคล้อง​”​​ 

‘ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ’ แตกต่างด้วยดีไซน์+ นวัตกรรม และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

คุณสมพงษ์ วาทินชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ จำกัด หนึ่ง Best Practice ของชมรมบัวหลวง SME ​ในฐานะผู้ประกอบการด้านเฟอร์นิเจอร์คุณภาพที่ได้รับการยอมรับระดับภูมิภาค โดยเป็นผู้นำเฟอร์นิเจอร์ในห้องปฏิบัติการของภูมิภาคเอเชีย ภายใต้แบรนด์ ProLAB รวมทั้งยังต่อยอดมาสู่​​เฟอร์นิเจอร์สำหรับสำนักงานแบรนด์ VIN เฟอร์นิเจอร์ห้องครัวแบรนด์ VATIN รวมทั้งกลุ่มสมาร์ทเฟอร์นิเจอร์ทั้งในที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน สถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ด้วยแบรนด์ TETER

คุณสมพงษ์ เปิดเผย Key Success ในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งมาจากการมองเห็นช่องว่างในตลาด และการทำให้คุณภาพได้รับการยอมรับเริ่มจากในกลุ่มตลาด professional อย่างเฟอร์นิเจอร์ในห้องแลป ที่ต้องมีคุณภาพและความน่าเชื่อถือในระดับสูงแต่ก็ยากที่จะมีคู่แข่ง รวมทั้งการค่อยๆ ขยายมาสู่ตลาดใหม่ๆ ต่อเนื่อง และการให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความทันสมัยด้วยการลงทุนสำหรับการปรับกระบวนการผลิตให้เป็น Smart Automation ด้วยงบกว่า 200 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ประหยัดต้นทุน ใช้บุคลากรน้อยกว่า รวมทั้งยังมี Waste หรือขยะจากกระบวนการผลิตน้อยลงอย่างมาก ช่วยให้​สามารถรักษาการเติบโตไว้ได้ต่อเนื่อง โดยในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ราว 15% หรือมียอดขาย 400-500 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามียอดขายราว 390 ล้านบาท

“การลงทุนนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ นอกจากศักยภาพในการผลิตที่ดีขึ้น สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานทั้งด้านฟังก์ชัน ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยแล้ว ยังทำให้ Waste ในการผลิตจาก 30% เหลือแค่เพียง 5% เท่านั้น ทั้งจากประสิทธิภาพในการตัดวัสดุทั้งไม้ หนัง ยาง หรือวัสดุพื้นผิวต่างๆ ยังมีระบบการจัดเก็บรวบรวม Waste ที่เกิดขึ้น สำหรับนำไปต่อยอด เช่น กลุ่มไม้ ที่จะนำไปอัดก้อนทำเป็นถ่านสำหรับจำหน่ายต่อ หรือขายเป็นเชื้อเพลิงให้โรงงานต่างๆ ที่ต้องการใช้เชื้อเพลิงในปริมาณมาก ขณะที่หนัง ยาง ที่เหลือจากการตัดก็สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าที่ระลึก เพื่อส่งมอบให้ลูกค้า หรือต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งวัสดุพื้นผิวที่มีความแข็งแรงสูงก็สามารถนำไปทำเก้าอี้สนาม ที่มีความทนทานสูงได้”​  

นอกจากนี้ บริษัทยังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนด้วยการติดโซลาร์เซลล์ และสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่า 500 กิโลวัตต์ สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้กว่าครึ่งเหลือราว 4 แสนบาท จากค่าใช้จ่ายกว่า 8-9 แสนบาทต่อเดือน ขณะที่การปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน จะเพิ่มการพัฒนาระบบ Smart Business Solutions เพื่อสามารถให้บริการในรูปแบบ Turm keys หรือการให้บริการลูกค้าได้แบบครบวงจร เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในกลุ่ม R&D ทั้งภาคการศึกษา หน่วยงาน รวมทั้งธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อม​ศึกษาแนวทางเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนตามกรอบ ESG และสามารถลด Waste จากธุรกิจ ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมเพิ่มความน่าสนใจ ความแตกต่างและทำให้ธุรกิจมีเสน่ห์มากขึ้น ​ขณะที่แผนในการขับเคลื่อนเพื่อลดคาร์บอนได้มากขึ้น อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อให้ทันโรดแม็พในการพัฒนาธุรกิจให้มีความพร้อมในการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2030

‘ฟาร์มระพีพัฒน์’ ยั่งยืนด้วยคุณภาพ ​ดูแลต้นทุน และ​พอเพียง

อีกหนึ่งตัวอย่างเอสเอ็มอีที่สามารถรักษาธุรกิจให้แข็งแรงได้ แม้ต้องอยู่ในธุรกิจเดียวกับเจ้าตลาดยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ แต่ยังสามารถรักษาการเติบโตของธุรกิจด้วยแนวทางบริหารจัดการฟาร์​มที่มีการดำเนินงานอย่างครบวงจร  โดย คุณสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ ​ผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย ‘ไข่ดี’ จากไก่สุขภาพดี กล่าวถึงหัวใจสำคัญในการบริหารธุรกิจสินค้าเกษตรอยู่ที่การคุมต้นทุน เพราะสินค้าเกษตรมีราคาขึ้นลงตามฤดูกาลและดีมานด์ซัพพลายในตลาด ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ แต่หากสามารถควบคุมต้นทุนในการจัดการได้ดี แม้อาจจะขายสินค้าได้ในราคาไม่ดีนัก แต่ก็ยังสามารถอยู่ได้ หรือขาดทุนไม่มาก แต่หากในช่วงราคาดี และต้นทุนต่ำด้วยก็จะยิ่งทำให้ได้ส่วนต่างที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น และสามารถอยู่ในตลาดได้อย่างยั่งยืน แม้ว่าจะต้องอยู่ในธุรกิจที่มีเจ้าตลาดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศก็ตาม

สำหรับการบริหารต้นทุนของฟาร์มระพีพัฒน์ คือการเน้นเลี้ยงไก่เองตั้งแต่วันแรก มากกว่าการซื้อแม่ไก่ที่พร้อมออกไข่ เพราะช่วยลดต้นทุนเทียบกับราคาขายต่อฟองได้ถึงฟองละ 5 สตางค์ รวมทั้งการผสมอาหารสำหรับเลี้ยงไก่เองทั้งหมดซึ่งเป็นอีกหนึ่งต้นทุนหลัก 30-40% ของต้นทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นราคาต้นทุนต่อฟองราว 20 สตางค์  ดังนั้น แม้ในบางช่วงที่ราคาไข่หน้าฟาร์มลดลงแต่ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าฟาร์มอื่นๆ ทำให้ยังสามารถมีผลประกอบการที่ดีได้ เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าอย่างน้อย 25 สตางค์ต่อฟองเลยทีเดียว

ด้าน คุณสุทธิพร ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการผู้จัดการ  และ คุณธีรพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด กล่าวร่วมกันถึงแนวคิดการขับเคลื่อน ‘ฟาร์มสีเขียว’ ของฟาร์มระพีพัฒน์ ที่มุ่งเน้นให้พื้นที่ส่วนใหญ่​ภายในฟาร์มเป็นพื้นที่สีเขียว และบริหารด้วยแนวคิด Zero Waste ไม่ให้มีการสร้างขยะออกไปสู่ภายนอก โดยการนำมูลไก่ไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าและช่วยประหยัดค่าไฟลงได้จาก 5-6 แสนบาทในแต่ละเดือน เหลือเพียง 5-6 หมื่นบาท ไปจนถึงหลักแสนต้นๆ ส่วนมูลไก่ที่เหลือหลังจากกระบวนการผลิตไบโอแก๊สแล้วก็สามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรต่อได้ ​

ขณะที่การบริหารจัดการภายในฟาร์ม มีการคำนึงถึงเรื่องของคุณภาพและหลักสุขาภิบาล โดยเฉพาะการมีโรงผสมอาหารของตัวเอง นอกจากเรื่องของการลดต้นทุนแล้ว ยังสามารถควบคุมคุณภาพอาหารตามหลักโภชนาการของไก่ในแต่ละช่วงวัย ทำให้ได้ไข่ที่​มีคุณภาพสำหรับผู้บริโภค โดยปริมาณไข่จากฟาร์มในแต่ละวันจะอยู่ที่ราว 2-3 แสนฟอง ซึ่งไก่ที่อายุมากและปลดระวางแล้ว จะมีการขายต่อไปสู่ตลาดเนื้อไก่ ส่วนไก่ที่ตายภายในฟาร์มก็จะนำซากไก่ไปเป็นอาหารให้​จระเข้ที่มีการเลี้ยงภายในฟาร์ม

“การทำธุรกิจของฟาร์มระพีพัฒน์จะเน้นการอยู่ได้อย่างยั่งยืน มากกว่าการขยายธุรกิจให้ใหญ่โต เราเน้นทำในปริมาณที่สามารถควบคุมคุณภาพได้ทั่วถึง ถ้าเทียบกับคู่แข่งในตลาดเราอาจจะเป็นรายเล็กแต่เราต้องสามารถอยู่ได้อย่างแข็งแรง แม้สินค้าเกษตรจะมีราคาไม่แน่นอนและผันผวนสูง เราเน้นขับเคลื่อนเพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืน แม้จะต้องเผชิญวิกฤตอะไรธุรกิจก็ยังสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ ดังนั้น หากจะมีการ​ขยายจึงไม่ได้เน้นขยายที่ขนาดของฟาร์ม แต่เน้นการขยายประสิทธิภาพที่สามารถนำมาช่วยลดต้นทุนได้มากขึ้น เช่น โรงผสมอาหาร ศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้มากขึ้น ​ขณะเดียวกัน ต้องทำให้ธุรกิจไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันฟาร์มของเราไม่มีการสร้างขยะ เพื่อสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบได้”​ 

Stay Connected
Latest News