เมื่อการขายของอยู่แค่ในประเทศคงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ มีความกังวลใจในการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับอัตราหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 92% ทำให้กำลังในการจับจ่ายของคนไทยอยู่ในระดับต่ำ เท่ากับว่าถ้ามี 100 บาท ก็จะมีเงินเหลือใช้จ่ายอยู่ในกระเป๋าแค่ 8 บาทเท่านั้น
ประกอบกับโครงสร้างทางสังคมไทย ที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และคนส่วนใหญ่ในประเทศมักจะมีปัญหา ‘แก่ก่อนรวย’ ทำให้กำลังซื้อจากภายในประเทศ ไม่แข็งแรงมากพอที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างแข็งแรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทย กว่า 3.17 ล้านราย ที่จดทะเบียนอยู่ในระบบ และอีกกว่า 2 ล้านราย ที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ซึ่งรวมๆ แล้วจะมีอยู่เกือบ 6 ล้านราย ซึ่งหากต้องการให้ธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งได้ในอนาคต คงไม่สามารถพึ่งพาแค่เฉพาะตลาดจากในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป
ดีมานด์แค่ในประเทศไม่พอให้ธุรกิจเติบโต
ขณะที่ในความเป็นนจริงที่เกิดขึ้น จำนวน SME ที่มีความสามารถในการส่งออกได้ มีอยู่ไม่ถึง 2.5 หมื่นราย หรือไม่ถึง 1% จากจำนวนที่มีการจดทะเบียนไว้ 3.17 ล้านราย ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในอาเซียน และยังต่ำที่สุดใน CLMVT อีกด้วย เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่คิดแบบมายาคติว่า จะเน้นแค่ทำธุรกิจในประเทศ เพราะยังเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจในประเทศ ยังสามารถตอบสนอง Bottom Line ให้ธุรกิจได้ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ดีมานด์จากแค่ในประเทศนั้น ไม่เพียงพอในการตอบสนองให้ธุรกิจเติบโตได้
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่มีทางที่การสร้างธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา แล้วจะแข็งแกร่งได้จากแค่การพึ่งพาตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นผู้ประกอบการ SME ก็ต้องพึ่งตลาดต่างประเทศ และจำเป็นต้องเรียนรู้เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศต่างๆ หากจะขยับไปสู่ตลาดโลก เพราะแม้ปัจจุบันจะมีการทำ FTA เพื่อตกลงข้อเสรีทางการค้า หรือการยกเว้นภาษีระหว่างกันกับหลายๆ ประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีเงื่อนไขในกลุ่ม Non- tariff Barriers หรือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกฏระเบียบของโลกการค้าใหม่ ที่ซ่อนเอาไว้ภายใต้มาตรการทางภาษีมาบังคับใช้ โดยเฉพาะมาตราการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 18,000 มาตรการ
“ปัจจุบันมีหลายประเทศ ตั้งเงื่อนไขเพื่อกีดกันไม่ให้สินค้าที่มีส่วนทำร้ายโลกเข้าไปค้าขายในประเทศของตัวเอง ทำให้แม้ว่าเราอาจจะไม่ต้องเสียภาษีเพราะได้รับการยกเว้นจากการที่รัฐบาลได้ตกลงทำ FTA ไว้กับประเทศต่างๆ แต่เราอาจต้องเสียค่าปรับจากสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ของสินค้า หรือวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เป็นต้น ซึ่งหลายๆ มาตราการผู้ประกอบการไทย อาจคุ้นเคยและได้ยินบ่อยๆ แต่ไม่มีความเข้าใจต่อมาตราการดังกล่าวเหล่านั้นอย่างแท้จริง เช่น กลุ่มภาษีคาร์บอนอย่าง CBAM ของสหภาพยุโรป หรือ CCA ของสหรัฐอมเริกา หรือกลุ่มภาษีสำหรับการจัดการขยะพลาสติก ทั้งในจีน ญี่ปุ่น หรืออินเดีย ซึ่งทั้ง 5 ตลาดสำคัญนี้ ก็มีมูลค่าเกินครึ่ง หรือ 51% จากมูลค่าส่งออกของประเทศไทยแล้ว”
แนวโน้มการตั้งกำแพงสีเขียวเข้มข้นมากขึ้น
ผลกระทบจากกำแพงสีเขียวเหล่านี้ จะส่งผลต่อต้นทุนสินค้าที่เข้าไปทำตลาดสูงขึ้น และไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่มีคาร์บอนฟุตพรินท์น้อยกว่าได้ แม้คุณภาพจะใกล้เคียงหรือไม่แตกต่างกันเลยก็ตาม ซึ่งหากธุรกิจไม่เรียนรู้และปรับตัวที่จะทำความเข้าใจเรื่อง Carbon Emission และเร่งขับเคลื่อนสู่ Low Carbon ก็จะทำให้ธุรกิจเสียเปรียบคู่แข่งในการแข่งขันในเวทีโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเข้มข้นของกำแพงสีเขียวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีการปรับมาตรการเพิ่มมากขึ้นทุกปีเฉลี่ยถึงปีละ 18%
นอกจากนี้ ยังพบว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าในกลุ่ม Green Export ประมาณ 7.6% ซึ่งหากเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ กลับพบว่า สัดส่วนสินค้าสีเขียวของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีเป้าหมายในการเป็นครัวของโลก แต่กลับมีปริมาณสินค้าสีเขียวน้อยกว่าประเทศอุตสาหกรรมเหล่านี้ ด้วยสัดส่วน 15.4% 15.0% 10.4% และ 10.2% ตามลำดับ เป็นอีกหนึ่งสมการที่ต้องนำไปคิด เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย ได้รับการยอมรับและมีมาตรฐานในฐานะ Green SME ได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ แนวทางที่ภาคธุรกิจจะสามารถทรานส์ฟอร์มไปสู่การเป็น Green SME หรือ Green Exporter สามารถขับเคลื่อนตามสมการ ทำ 2P เพื่อให้ได้ 4P ได้แก่
P1 : การปรับเปลี่ยน Process : ผ่านการปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพของเครื่องจักร และนำระบบ Automation มาใช้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ลดลงได้ราว 30% รวมทั้งการจัดการด้านพลังงาน ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การติดโซลาร์เซลล์ หรือใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล
P2 : การปรับเปลี่ยน Prodcut : โดยผสมความ Green เข้ากับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและมีศักยภาพในการจ่ายได้มากขึ้น
โดยผลลัพธ์ที่ตามมาจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ประกอบด้วย
Price : การตั้งราคาขายได้สูงขึ้น เนื่องจากพบว่า ผู้บริโภค 70% ยอมจ่ายแพงขึ้นสำหรับ Green Product โดยเฉพาะ Gen Z และ Millenials ที่มีถึง 60% ยอมที่จะจ่ายเพิ่มขึ้น
Profit : ได้กำไรมากขึ้น โดยพบว่า ธุรกิจที่ใส่ใจ ESG มีกำไรเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.1% ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ละเลยเรื่อง ESG ถึง 2.5 เท่า
Place : โอกาสในการเข้าถึงตลาดได้กว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain ของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น รวมทั้งลดเงื่อนไข อุปสรรค หรือข้อกีดกันทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะในตลาดสำคัญของโลก อย่างยุโรป หรืออเมริกา เป็นต้น
Promotion : โอกาสในการเข้าถึงสิทธิพิเศษ หรือแหล่งทุนด้วยเงื่อนไขพิเศษต่างๆ เช่น การพิจารณาดอกเบี้ย 0% สำหรับการลงทุนใน Green Project ต่างๆ หรือ ได้รับพิจารณา Green Loan ซึ่งดอกเบี้ยถูกกว่าเงินกู้ทั่วไป เป็นต้น