SET เตรียมทรานสฟอร์มมาตรฐานยั่งยืนสู่ FTSE​​ ESG Scores​​ นำร่องตรวจสอบ ‘พี่ใหญ่’ ใน SET 100 ที่ยังไม่ได้ประเมิน ESG Rating​

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เตรียมยกระดับมาตรฐาน  SET ESG Rating สู่ระดับสากล ​ร่วมกับพันธมิตรผู้ประเมิน ESG ระดับโลกอย่าง FTSE Russell (ฟุตซี่ รัสเซล) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (LSEG : London Stock Exchange Group) ในการเป็นผู้ประเมินมาตรฐาน ESG ให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยตามเกณฑ์ ​Global Standard คาดใช้เวลาเปลี่ยนผ่านและเตรียมความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทย 2 ปี ก่อนเปลี่ยนใช้ชื่อ FTSE ​​ESG Scores (ฟุตซี่อีเอสจีสกอร์) เพื่อสร้างการยอมรับและดึงดูดนักลงทุนได้จากทั่วโลก

คุณภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การยกระดับมาตรฐานด้าน​ความยั่งยืนไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกับสากล จะทำให้ตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ  ซึ่งที่ผ่านมา SET ได้ปรับมาตรฐาน ESG Rating เพื่อสะท้อนการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ​และพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญ พร้อมทั้ง​เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ​เพื่อเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจสำหรับนักลงทุนใช้ในการพิจารณาการลงทุน โดยเฉพาะการร่วมมือกับ FTSE Russell คร้ังนี้ จะทำให้ตลาดทุนได้ประโยชน์ใน 4 มิติ สำคัญ ได้แก่

1. ก​ารเพิ่มความโปร่งใสและลดภาระให้ บจ. เนื่องจาก เปลี่ยนวิธีในการประเมินจากเดิมที่ใช้การตอบแบบสอบถามโดย บจ. ที่ต้องการเข้ารับการประเมินเป็นผู้ตอบเอง​​ มาเป็นการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ ทั้งจากการเปิดเผยของแต่ละธุรกิจเอง (Self-Declare) รวมถึงข้อร้องเรียนจากภาคส่วนต่างๆ  จากการมอนิเตอร์ของผู้ประเมิน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่ Global Standard ใช้ประเมิน รวมทั้งลดภาระในการจัดเก็บและส่งข้อมูลของภาคธุรกิจ​

2. เพิ่มการยอมรับในมาตรฐานการดำเนินงานของภาคธุรกิจไทยในสากล เนื่องจาก​ ประเมินโดยผู้ประเมิน​ที่มีมาตรฐานระดับโลก ทำให้เพิ่มโอกาสของหุ้นจากตลาดทุนไทยได้รับการยอมรับและพิจารณาการลงทุนจากทั่วโลกมากขึ้น

3. เพิ่ม Best Practice ให้ภาคธุรกิจไทย จากแนวทางการประเมินของ FTSE Russell ที่มีการพิจารณาปัจจัยที่ธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญอย่างละเอียด ทั้งกรอบโดยรวม และเฉพาะเจาะจงของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้ประเมินในบริษัทกว่า 8 พันแห่ง จาก 47 ประเทศทั่วโลก

4. ยกระดับมาตรฐานความยั่งยืนในประเทศไทยให้เป็นสากล จากการประเมินที่สอดคล้องกับโมเดลของ FTSE ESG Scores ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานอิสระในหลายแขนงทั้งภาคธุรกิจ นักลงทุน NGO และนักวิชาการ ภายใต้การประเมินที่สอดคล้องกับมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่ม

“ในช่วงนำร่อง 1-2 ปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำการประเมินทั้ง 2 มาตรฐาน คือ SET ESG Rating และ FTSE Russell ESG Scores โดยยังไม่มีการเผยแพร่ผลประเมินของทางฟุตซี่ฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ทาง บจ. ปรับตัวและแก้ไข โดยจะเริ่มเผยแพร่ผลประเมินและเปลี่ยนผ่านมาใช้มาตรฐาน FTSE Russell ESG Scores อย่างเป็นทางการในปี 2569 ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ  จะเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกระบวนการในการเปลี่ยนผ่าน มาตรฐานและตัวชี้วัดการประเมินให้ภาคธุรกิจทราบและปรับตัว ทั้งการจัดอบรมสัมมนา Workshop ให้ความรู้ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ รวมทั้งการสื่อสารในวงกว้างเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้​”

นำร่องประเมินพี่ใหญ่ SET 100 ช่วงเปลี่ยนผ่าน 

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยเพิ่มเติมถึงทิศทางและโรดแม็พในการเปลี่ยนผ่านว่า โมเดลในการประเมินของ FTSE ESG นั้น พิจารณาจาก 3 มิติ คือ ส่ิงแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) 14 ธีม แบ่งแยกย่อยในแต่ละมิติ เช่น สิ่งแวดล้อม จะมีเรื่อง Biodiversity, Climate Change, Pollution ​ทรัพยากรต่างๆ เช่น น้ำ รวมทั้งซัพพลายเชน ส่วนมิติสังคม ทั้งเรื่องของแรงงาน สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยและการดูแลสุขภาพพนักงาน หรือความรับผิดชอบต่อลูกค้า  ส่วนเรื่องธรรมาภิบาล เช่น การป้องกันคอรัปชั่น การจัดการด้านความเสี่ยง และความโปร่งใสด้านภาษี  โดยในระดับโลกจะมี​การใช้ตัวชีวัดต่างๆ ​มากกว่า 300 ตัวชี้วัด ​ขณะที่บริบทและลักษณะธุรกิจในประเทศไทยจะใช้ตัวชี้วัดเฉลี่ยที่ราว 140 ตัวชี้วัด

“ที่ผ่านมา เรามีการยกระดับมาตรฐาน SET ESG Rating มาโดยตลอด ทั้งการเปิดเผยข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้น​ ​รวมทั้งการจัดเรตติ้งเพื่อประเมินการดำเนินงาน ซึ่งมีพัฒนาการมากขึ้น มีบริษัทเข้ารับการประเมินแล้ว 192 บริษัท​ แต่หากเทียบกับภาพรวมที่มีบริษัทจดทะเบียนเกือบ 900 บริษัท ยังถือว่าไม่มากนัก การจะเพิ่มมาตรฐานความยั่งยืนให้ครอบคลุมมากขึ้นด้วยการรอความสมัครใจจากภาคธุรกิจจึงอาจไม่ตอบโจทย์ ​ทำให้ต้องเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานการประเมินที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ประกอบกับในช่วงก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากสาธารณะต่างๆ อาจจะยังมีไม่มากพอสำหรับนำมาประเมิน แต่ในยุคปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลหลากหลายและรอบด้านมากขึ้น ทำให้มีความเหมาะสมสำหรัลการใช้อ้างอิงในปัจจุบัน ซึ่ง ในปีแรกจะนำร่องด้วยการประเมิน 192 บริษัทที่อยู่ใน SET ESG Rating รวมท้ังอีก 35 บริษัทใน SET 100 ที่ยังไม่ได้เข้าประเมิน ​รวมทั้งบริษัทขนาดกลางหรือเล็กที่สมัครใจเข้าร่วมประเมินในปี 2568 โดยตั้งเป้าจะสามารถเพิ่มการประเมินมาตรฐาน ESG เพิ่มขึ้นจาก 192 บริษัท เป็น 300-400 บริษัท หรือประมาณ 50% ของจำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และครอบคลุม Market Cap หรือมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาดได้ราว 90% ” 

ท้ังนี้  ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จะมีการประเมินทั้ง 2 มาตรฐานควบคู่กันไป แต่จะยังไม่เปิดเผยมาตรฐาน FTSE ESG Scores โดยจะส่ง​ผลการประเมินตรงไปยังบริษัทที่ถูกประเมิน เพื่อให้รับทราบทำการปรับปรุงแก้ไข ก่อน​เผยแพร่สู่สาธารณะในปี 2569 ซึ่ง​หากภาคธุรกิจที่ได้รับการประเมินไม่เห็นด้วยต่อผลการประเมินที่ได้ สามารถชี้แจง หรือสอบถามมาตรฐานการประเมินจากทาง FTSE  ซึ่งกา​รตรวจสอบการประเมินต่างๆ จะเป็นไปอย่างเปิดเผย แต่ไม่สามารถห้ามการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะได้

สำหรับการเลือกใช้มาตรฐาน FTSE Russell เนื่องจาก เป็นพันธมิตรที่เข้ามาร่วมทำงานเพื่อการยกระดับ​มาตรฐาน ESG กับทาง SET มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นราวปี 2565 ​ประกอบกับ ​มีภารกิจในการประเมินบริษัทในตลาดหุ้นของไทยครอบคลุมกว่า 30-40 บริษัทอยู่แล้ว ทำให้กลายเป็นพาร์ทเนอร์รายแรกเพื่อนำร่อง​การประเมินตามมาตรฐานสากล​ แต่ในอนาคต ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดกว้างสำหรับพันธมิตรรายใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ​การจัดมาตรฐาน​ในบางประเทศก็มีการใช้ในหลากหลายระบบ

 

อย่างไรก็ตาม ความกังวล​ถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานด้าน ESG ​ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า แม้หลายธุรกิจ ที่ได้รับการประเมินอยู่ในลิสต์หุ้นยั่งยืน แต่กลับมีปัญหาเรื่องของการทุจริต หรือความโปร่งใสต่างๆ นั้น ทาง ดร.ศรพล ให้ความเห็นว่า​ “เรื่องความน่าเชื่อถือของธุรกิจที่ได้รับการประเมินด้วยเรตติ้งระดับสูง ถือเป็นปัญหาคลาสิกที่หลายคนกังวล ซึ่ง ต้องยอมรับว่าไม่มีมาตรฐานใดที่สามารถรับรองความถูกต้องได้ 100% แต่การมีข้อมูล ดีกว่าไม่มีข้อมูล และการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยไว้ในสาธารณะ เหมือนกับการมีหลายตาช่วยกันตรวจสอบ ทั้งนักวิเคราะห์ NGO หรือหน่วยงานกำกับต่างๆ และเป็นอีกหนึ่งข้อดีของการขยับมาใช้มาตรฐานใหม่นี้ จากเดิมที่เป็นการเซอร์เวย์ มาเป็นการใช้ข้อมูลสาธารณะ เพราะการมีข้อมูลมากพอมีความสำคัญ รวมทั้งการมีคู่เทียบที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่อาจมีอยู่แค่ภายในประเทศ 100-200 ราย มาเป็นกว่า 8 พันราย ทำให้เราสามารถตรวจจับความผิดปกติของข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรที่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ ปรับปรุงอยู่เสมอ เหมือนที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังยกระดับและปรับปรุงมาตรฐานให้สูงขึ้น”​

Stay Connected
Latest News