TIPMSE เร่งปลดล็อค ​EPR Thailand ผนึกผู้ผลิต​​ตั้ง​ ‘​PROVE’​ สร้างระบบจัดการบรรจุภัณฑ์​ใช้แล้ว ​​ถอดบทเรียนโมเดลภาคสมัครใจ ก่อนบังคับใช้กฎหมายในปี 2570

บทบาทของ “ผู้ผลิต” ในโลกยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ผลิตสินค้า แต่ต้องขยายความรับผิดชอบ​ไปจนถึงการจัดการสินค้าหลังบริโภคด้วย เพื่อไม่ให้​กลายเป็น “ขยะ” ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ EPR  (Extended Producer Responsibility) ซึ่งกำลังกลายเป็นกฎกติกาการค้ายุคใหม่ในประชาคมโลก

EPR  หรือ “หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต” ​เป็นการ​ขยายความ​รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตในทุกกลุ่ม​ ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ไปจนถึง วิสาหกิจขนาดกลางย่อม (SMEs ) ​​ที่ต้องบริหารจัดการให้ครอบคลุม​วงจรชีวิตของสินค้ารวมทั้ง​บรรจุภัณฑ์  ตั้งแต่การออกแบบการผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทยอยู่ระหว่างผลักดัน พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ​โดยนำหลักการ EPR มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย และกำลังเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ​เพื่อ​เริ่มนำหลัก EPR มาใช้ในภาคการผลิตของประเทศ และวางเป็นกฎหมายใหม่ได้ตามเป้าหมายในปี 2570 ซึ่งนอกจากการดูแลผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วย​รักษาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่มีเป้าหมายขยายไปสู่ตลาดส่งออก

ล่าสุด สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมงาน (TIPMSE ) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เป็นแกนกลางร่วมกับเครือข่าย ภาครัฐ และเอกชน ในการเตรียมความพร้อมพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเก็บบรรจุภัณฑ์เข้าสู่วงจรรีไซเคิล ผ่านการ​จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “PROVE: The Journey to EPR Thailand” เพื่อสื่อสารและสร้างโอกาสในการเข้าร่วมขับเคลื่อน EPR  ภาคสมัครใจ  เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ภาคบังคับ โดยมีผู้เข้าร่วมจากทั้ง​ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิลจาก 60 องค์กร​ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เพื่อปูทางการพัฒนาระบบขององค์กร ให้สามารถนำหลัก EPR ไปใช้โดยไม่เกิดอุปสรรคและปัญหาในการบริหารจัดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณทวีชัย เจียรนัยขจร ผู้อำนวยการส่วนลดและใช้ประโยชน์ของเสีย กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ​ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม และเดินหน้า​ในการนำบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่ระบบมากที่สุด ​รวมทั้งการขับเคลื่อนระบบ EPR ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกลไก​การจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร เนื่องจากกฎหมายขยะปัจจุบันยังมีช่องโหว่ โดยกำหนดบทบาทให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่เพียงเก็บขนกำจัดอย่างเดียว แต่ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการคัดแยกและรีไซเคิล​ที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติ และอุดช่องว่าง​​การใช้ระบบ EPR ในอนาคต ทางเครือข่าย​ได้​จัดตั้ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการ EPR ​​ซึ่งประกอบไปด้วยทั้ง​ภาครัฐและเอกชนในการร่วมขับเคลื่อน​ 7 แผนงาน ได้แก่ 1 .การสนับสนุนการดำเนินงาน V-EPR หรือ EPR ภาคสมัครใจของเอกชน 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 3. การพัฒนาแนวทางการดำเนินงานตามหลัก EPR ในอนาคต (ถอดบทเรียนจากการนำร่อง) 4. การจัดทำข้อมูลและฐานข้อมูลบรรจุภัณฑ์  5. การพัฒนาข้อเสนอแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนภาคเอกชน กรณีจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักการ EPR 6. การสร้างการรับรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และ​ 7. การพัฒนากฎหมาย EPR

“แรงกดดันของประชาคมโลกในการจัดการปัญหามลพิษจากพลาสติก และการนำของเสียกลับมาเป็นทรัพยากรเพื่อลดคาร์บอนฟรุตพรินท์ที่กลายเป็นกระแสโลก จึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อน EPR ที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย เพื่อนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” คุณทวีชัย กล่าว

ด้าน คุณธงชัย ศิริธร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE ) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะองค์กรหลักของภาคเอกชนในการขับเคลื่อน EPR​ กล่าวว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตทุกกลุ่มอุตสาหกรรมสามารถเข้าสู่ระบบ EPR ได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ จึงพัฒนากลไก PRO (Producer Responsibility Organization) เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการ รับผิดชอบด้านการเรียกกลับบรรจุภัณฑ์ ​เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการบังคับใช้กฎหมายใหม่ ซึ่ง โดย มีแผนร่วมกันจัดตั้งองค์กรตัวแทนในนาม PROVE​​ (Producer Responsibility Organization Voluntary Effort) เพื่อร่วมทดลองการดำเนินงาน EPR ภาคสมัครใจในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานและนำเสนอภาครัฐ เพื่อหาบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทยดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวองค์กร PROVE ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 ช่วงเดือน ต.ค.นี้   โดย​​มุ่งหวังว่าผู้ประกอบ SME จะเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น และ​ยังนำมาซึ่งความได้เปรียบทางการค้าของไทยในระยะยาว

สำหรับการ​​นำร่องขับเคลื่อนโครงการ EPR ภาคสมัครใจ (Voluntary EPR ) ในช่วงที่ผ่านมา มีการดำเนินโครงการ ‘PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน’ ตั้งแต่ปี 2564 ในพื้นที่ 3 เทศบาล จ.ชลบุรี ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และเตรียมขยายผลไปสู่ 11 เทศบาล ในปี 2567 โดยทดลองเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลัก EPR ​โดยปัจจุบันมี 100 องค์กร​แสดงเจตจำนงความร่วมมือแล้วในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 ที่ผ่านมา พร้อม 4 องค์กรภาคี ได้แก่ PPP Plastics, PRO Thailand Network, Aluminium Closed Loop Packaging System (Al Loop) และ TIPMSE PackBack  รวมถึง Collector รายใหญ่ที่พร้อมสนับสนุนอย่าง TBR หรือ SCGP เพื่อร่วมสร้างกลไก EPR ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันประเทศไทย​มีเอกชนรายใหญ่ รวมตัวกันภายใต้ PRO-Thailand Network ​ โดยมี 7  บริษัทนำร่อง ร่วม​ทำการวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท ทั้งขวดพลาสติกใส (PET Bottle) กล่องเครื่องดื่ม และพลาสติกหลายชั้น (เช่น ซองขนม ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น) ​นอกจากนี้ ยังมี Aluminium Loop ที่ทดลองนำร่องศึกษาเครื่องมือเก็บกลับในพื้นที่พิเศษ เช่น พื้นที่เกาะต่างๆ ​รวมทั้ง PPP Plastic ที่กำลังผลักดันการพัฒนาโครงสร้างรองรับการคัดแยก ซึ่งที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานได้ขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นภายใต้ความเชี่ยวชาญของแต่ละแห่ง

ทั้งนี การจัดตั้ง ​PROVE จะช่วย​​​พัฒนาระบบในการเชื่อมโยงองค์กรที่มี​จัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ช่วย​เพิ่มประสิทธิภาพ​การจัดการบรรจุภัณฑ์ให้​ครอบคลุม​​​​และบรรลุเป้าหมาย​การสร้างเครือข่าย EPR​ ที่สมบูรณ์มากขึ้น ​พร้อมทั้งเดินหน้าจัดเวที​รับฟัง แนะนำ และแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสะท้อนปัญหาและและอุปสรรคของผู้ประกอบการ รวมทั้งทำความเข้าใจกระบวนการทำงาน​ในมิติต่างๆ เพื่อสนับสนุนกลไก EPR เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลนำร่อง PROVE  ผ่าน 4 เวทีสัมมนากลุ่มย่อย ประกอบด้วย

1. Recap EPR Policy : จับประเด็นกฎหมาย EPR  

เพื่อทำความเข้าใจกฎหมาย EPR  ที่จะเป็นแม่บทของการกำกหนดกลไกการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ​​สู่​การกำหนดนโยบายระดับประเทศ ผ่านคณะกรรมการนโยบายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมด้วยผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง​ รวมทั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ขณะที่​ภาคปฏิบัติจะมีกลไกการจัดการบรรจุภัณฑ์ครอบคลุมตลอด​วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ, ผู้ผลิต, ผู้จัดจำหน่าย, ผู้บริโภค, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,ผู้เก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว (ซาเล้งและร้านรับซื้อ ตลอดจนสถานที่กำจัด สถานที่แปรใช้ใหม่บรรจุภัณฑ์)

ส่วนสาระสำคัญใน กม. EPR  เป็นการกำหนดบทบาทองค์กร​ความรับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (PRO : Producer Responsibility Organization) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวแทน​ผู้ประกอบการ ในการเก็บรวบรวมและคัดแยกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ โดยเรียกเก็บค่าบริการในการจัดการบรรจุภัณฑ์ (EPR Fees) จากผู้ประกอบการ รวมถึงจัดทำแผนจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน  เพื่อเสนอต่อกรมควบคุมมลพิษ ขณะที่ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ ผู้ประกอบการจะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียม Damage Fee เข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

2. Reset Infrastructure : ปรับโครงสร้างขับเคลื่อน EPR

​การนำเสนอระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืน ภายใต้โครการ Smart Recycling Hub ​เป็นโมเดลต้นแบบนำร่องการจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจรในพื้นที่ กทม. ​ผ่านการ​พัฒนาระบบ Ecosystem และเชื่อมโยงให้มีระบบจัดการวัสดุใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการผลิต ครอบคลุมตั้งแต่การแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกลไก Waste Collection System ที่รองรับการจัดการขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล ขยะเปียก การจัดตั้งจุดรับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว (drop off point), ระบบขนส่งและจัดเก็บ และการจัดตั้งศูนย์คัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิล (Material Recovery Facility : MRF) เพื่อคัดแยกขยะตามประเภทของวัสดุ นำกลับมาใช้ประโยชน์ ผ่าน 3 ช่องทาง ​ทั้งการส่งเข้าโรงงานรีไซเคิล (Mechanical Recycler)  ​การนำ​​ขยะพลาสติก​ไปทำให้เป็นน้ำมันหรือปิโตรเลียม (Chemical Recycler) และการใช้เป็นเชื้อเพลิง ผลิตพลังงานจากขยะ (Waste To Energy)

3. Reinvent with Recycle : เปลี่ยนดีไซน์สู่ความยั่งยืน  

การแสดงความ​รับผิดชอบตั้งแต่ต้นทางผ่านขั้นตอนการออกแบบดีไซน์ โดยนำหลัก Eco-design ตามแนวคิด Design for Recycle (D4R ) เพื่อสามารถเก็บกลับบรรจุภัณฑ์​​เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากที่สุด ตาม​หลักการ Eco-modulation fees ที่กำหนดให้การออกแบบดีไซน์​เป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้​​พิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำ eco-design ​​นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำได้อย่างเหมาะสม ​ลดการใช้​บรรจุภัณฑ์ให้​มากที่สุด ​หรือการใช้วัสดุ​รีไซเคิลได้/วัสดุรีไซเคิลแล้ว, สนับสนุนการใช้วัสดุชนิดเดี่ยว (mono-materials) ใช้ส่วนประกอบของวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ และใช้สีให้น้อยที่สุด, พร้อมทั้งใช้สารยึดติดหรือกาวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการคัดแยกและรีไซเคิล, ตัวช่วยหมุนปิด/ฝาปิดที่ติดกับบรรจุภัณฑ์ให้หนาแน่น หลีกเลี่ยงการมีชิ้นส่วนขนาดเล็กที่หลุดลอดสู่ธรมชาติได้ง่าย ​​รวมทั้งการออกแบบให้บรรจุภัณฑ์สามารถเททิ้งของเหลือภายในออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ความหมายของการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ควรได้รับการออกแบบให้สามารถแยกส่วนประกอบบรรจุภัณฑ์ (packaging components) ​​ออกจากกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายมีส่วนร่วมในขั้นตอนการกำจัด เป็นต้น

4. Reignite EPR Voluntary Action : จับมือรวมพลังผลักดัน EPR

การเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจำเป็นต้อง เกิดจากความรับผิดชอบทุกภาคส่วน  ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งโรงงานรีไซเคิล เพื่อให้เกิดการเก็บกลับครบวงจร (Closed Loop Packaging) ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. EPR ได้กำหนดแนวทางจัดการบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนไว้ 2 รูปแบบ ​คือ ผู้ประกอบการรับผิดชอบจัดการเอง (Individual Producer Responsibility: IPR) และการจัดตั้งองค์กรกลาง​อย่าง PRO เข้ามารับผิดชอบ ซึ่งการระดมความคิดเห็น ผู้ประกอบส่วนใหญ่เห็นพ้องไปในแนวทางจัดตั้งองค์กร PRO ร่วมกัน มากกว่าต่างคนต่างจัดการกันเอง ​ซึ่งใน​ปัจจุบัน ภาคเอกชนได้มีการรวมตัวกันเพื่อทดลองจัดตั้งองค์กรรับผิดชอบการจัดการบรรจุภัณฑ์ในชื่อ PROVE : Producer Responsibility Organization  Voluntary EFFORT เพื่อดำเนินงานในช่วงเตรียมความพร้อมสู่การดำเนินงานภาคบังคับต่อไป

Stay Connected
Latest News