บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดพิธีมอบรางวัลแก่ทีมชนะเลิศกิจกรรมประกวดการออกแบบผลิตภัณฑ์ Upcycling ในโครงการ Zero Waste Living by THAI ภายใต้แนวคิด “FROM WASTE TO WEALTH”
โดยในรอบสุดท้ายเป็นการนำเสนอผลงานของผู้ผ่านเข้ารอบ 7 ทีมสุดท้าย การออกแบบผลิตภัณฑ์ Upcycling จากวัสดุผ้าหุ้มเบาะที่นั่งผู้โดยสารบนเครื่องบิน ซึ่งเป็นส่วนของผ้าที่สำรองไว้สำหรับการตัดเย็บเป็นอะไหล่สำรองสำหรับสลับสับเปลี่ยนเพื่อแทนที่เบาะที่ชำรุดเสียหาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปเครื่องรุ่นดังกล่าวได้ปลดระวางแล้ว ผ้าเหล่านั้นจึงกลายเป็น Dead Stock และไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน จึงนำมาวัสดุมาต่อยอดให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์
รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อโลกและสิ่งแวดล้อม โดยมี คุณทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร การบินไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย คุณจันทริกา โชติกเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล คุณชัยยง รัตนาไพศาลสุข ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมฟังการนำเสนอผลงาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจากการบินไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ยั่งยืน อาทิ คุณจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด (ภายใต้แบรนด์ CIRCULAR) คุณธวรรณัฏฐ์ เลิศหัตถศิลป์ ผู้จัดการส่วนงานบริหารผลิตภัณฑ์ บริษัท โซลูชั่น ครีเอชั่น จำกัด (ภายใต้แบรนด์ UP TO YOU) (บริษัทในเครือ PTTGC) และ คุณดรัสวิน สุวรรณเพชร ผู้ออกแบบเอกลักษณ์แบรนด์ Zero Waste Living by THAI ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาตัดสิน โดยพิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์ ฟังก์ชันใช้งาน ความสวยงามของกราฟิก และการนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ
สำหรับทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม MALAI living Collection เจ้าของไอเดียผ้าม่านพับและเบาะนั่ง Bean Bag นั่ง ที่ใช้เศษผ้าสีสันหลากหลายของที่นั่งผู้โดยสารมาตัดเป็นลวดลายของดอกรักบนเครื่องแขวน ให้มีความโมเดิร์นผสมความเป็นไทย ส่วนด้านในเบาะนั่งใช้ผักตบชวาอบแห้งกลิ่นกล้วยไม้แทนเม็ดโฟม ซึ่งดอกรัก และกล้วยไม้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของการบินไทยได้ด้วย ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ Orchid Fashion ที่นำไปต่อยอดในกลุ่มเครื่องแต่งกายเป็นหมวก กระเป๋า และรองเท้า ผ่านเทคนิคการตัดเย็บ และผสมผสานวัสดุเพื่อสร้างความแปลกใหม่ และยั่งยืนของเครื่องแต่งกายผ่านผ้าหุ้มเบาะโดยสารของการบินไทย ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลบัตรโดยสารเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพ-ฮ่องกง จำนวน 3 ที่นั่ง พร้อมประกาศนียบัตร ส่วนทีมรองชนะเลิศ ได้รับรางวัลบัตรโดยสารเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพ-เชียงใหม่ จำนวน 3 ที่นั่ง และทีมที่ได้รับรางวัลชมเชยได้รับของที่ระลึกจากการบินไทย
คุณทวิโรจน์ ทรงกำพล กล่าวว่า กิจกรรมประกวดการออกแบบผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ เป็นการสานต่อแนวคิด Zero Waste Living ส่งเสริมการสร้างสรรค์และความยั่งยืนในสังคม มีผลงานจากนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 7 ทีม จากผู้สมัครทั้งหมด 15 ทีม ซึ่งได้นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์การออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยเน้นหลักการ Upcycle ซึ่งเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถยืดอายุการใช้งานด้วยการปรับเปลี่ยนรูปร่างผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำมาใช้งานได้อีกครั้ง เพื่อสร้างมูลค่าใหม่ ผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้งานได้จริงและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นหรือวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ให้กับภาคชุมชน ส่วนความร่วมมือต่อเนื่องจากโครงการครั้งนี้ จะนำสินค้าของผู้ร่วมโครงการวางจำหน่ายใน THAI Shop เพื่อมีส่วนช่วยต่อยอดการสร้างแบรนด์ของคนไทย และส่งเสริมไอเดียคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจบนพื้นฐานแนวคิดด้านความยั่งยืน
คุณทวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่างๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม, FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน
“การบินไทยมีแผนนำวัสดุภายในธุรกิจจากทุกภาคส่วนมาต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ได้สูงสุด โดยเริ่มต้นด้วยกลุ่มผ้า เพราะมีจำนวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผ้าหุ้มเบาะโดยสาร ที่มีทั้งผ้าหุ้มเบาะโดยสารในส่วนที่เป็น Dead Stock หลังการปลดระวางเครื่องบินรุ่นก่อนหน้า รวมทั้งยังมีผ้าจากส่วนที่ต้องใช้เปลี่ยนเพื่อทดแทนหลังการใช้งานจนเก่าหรือชำรุด รวมท้ังยังผ้าจากส่วนที่เป็นยูนิฟอร์มเก่าของพนักงาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาอัพไซเคิลเป็นยูนิฟอร์มใหม่ และเสื้อโปโลสำหรับพนักงานไปแล้วบางส่วน และในอนาคตจะมีออกมาในอนาคตอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนตุลาคม ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีแผนเตรียมจับมือกับ 10 ดีไซเนอร์ชั้นนำของไทย เพื่อร่วมกันต่อยอดแนวคิด Zero Waste Living มาสู่การสร้างเป็นแบรนด์เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นในการใช้ชีวิตโดยปราศจากขยะ และตอกย้ำ Purpose หรือเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ทุกการขับเคลื่อนจากองค์กรสร้างคุณค่าให้ทั้งสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม ซึ่งก่อนหน้าได้นำร่องทดลองทำตลาดในกลุ่มสตรีทแฟชั่นเป็นคอลเล็คชันแรกไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับที่ดี นอกจากนี้เพื่อให้สามารถขับเคลื่อน Circular Economy ได้อย่างครบวงจร จะใช้ THAI Shop มาเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยง ซึ่งในอนาคตมีแผนให้สินค้าภายในร้านทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมการลด Waste ทั้งสินค้ารีไซเคิล อัพไซเคิล รวมถึงการเป็นจุด Drop Point เพื่อรับบริจาคเสื้อผ้าเก่าจากลูกค้า เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางในการต่อยอดให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็น Closed Loop ได้อย่างสมบูรณ์