ในฐานะองค์กรที่มีส่วนร่วมพัฒนาสังคมให้ สปป. ลาว มาอย่างต่อเนื่องกว่าทศวรรษ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว ได้มอบเหรียญตราพัฒนา (Cross of Development) ให้แก่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับมอบให้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากได้รับครั้งแรกเมื่อปี 2018
ทั้งนี้ ราช กรุ๊ป เข้ามาดำเนินธุรกิจใน สปป. ลาว ตั้งแต่ปี 2011 หรือกว่า 13 ปี พร้อมเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาทั้งความรู้และทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูงให้แก่ครูและนักเรียนอาชีวศึกษา ผ่าน “โครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ สปป.ลาว” ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้ว 2 เฟส ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลลาว โดยกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา เพื่อร่วมพัฒนาทั้งความรู้และทักษะฝีมือให้แก่ครูและนักเรียนอาชีวะศึกษา โดยเฉพาะในสาขาเชื่อมโลหะ ซ่อมบำรุงทั่วไป เครื่องกล ไฟฟ้าควบคุม และพลังงานทดแทน ให้มีความทันสมัยและสอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งการขับเคลื่อน ในเฟสที่ 1 และเฟส 2 ที่ผ่านมานั้น ทางโครงการได้ผลิตครูที่มีศักยภาพให้กรมอาชีวศึกษาแล้วกว่า 118 คน พร้อมให้การสนับสนุนในรูปแบบทุน สำหรับครูและนักเรียน สำหรับการศึกษาต่อรวม 51 ทุน พร้อมทั้งพัฒนา ปรับปรุงห้องฝึกปฏิบัติการของโรงเรียนเทคนิคให้ทันสมัยรวม 7 แห่ง และมีนักเรียนชั้นปีสุดท้ายจากวิทยาลัยเทคนิค 7 แห่ง ที่ได้รับการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือก่อนจบการศึกษาเพื่อออกไปประกอบอาชีพในสาขาเป้าหมายรวม 1,646 คน ภายใต้งบประมาณในการขับเคลื่อนแต่ละเฟสไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
ที่สำคัญคือ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ หลังจบการศึกษาได้งานทำ ได้ศึกษาต่อ รวมทั้งมีทักษะที่สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของลาว รวมทั้งมีจำนวนนักเรียนที่มีงานทำ และศึกษาต่อรวม 88.15% นับเป็นการผลิคบุคลากรเข้มแข็งเพื่อไปเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ สปป. ลาว มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ต่อยอดเฟส 3 เพิ่มแรงงานเทคนิค และพลังงานทดแทน
จากความสำเร็จใน 2 โครงการ นำมาสู่การต่อยอดความร่วมมือในระยะที่ 3 เพื่อเสริมให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ สปป.ลาว โดยเฉพาะในมิติการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ด้วยการขยายการพัฒนามาสู่แรงงานด้านเทคนิคและพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับทั้งบริบทในการขับเคลื่อนประเทศที่มีเป้าหมายหลุดจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนาภายใน 2 ปีนับจากนี้ รวมทั้งบริบทของโลกโดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050
โดยมี ท่านสุลิอุดง สูนดารา รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว ร่วมลงนามกับ คุณนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในเฟสที่ 3 ร่วมกัน ซึ่งได้ปรับแผนให้สอดคล้องกับดีมานด์ของภาคอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะการยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคนิค และทักษะต่างๆ ตลอดจนทัศนคติการทำงานที่เน้นการเพิ่ม Productivity ได้มากขึ้น
โดยเฉพาะการพัฒนาความรู้และทักษะด้านพลังงานทดแทน พร้อมสร้างเครือข่ายผ่านวิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งนำร่องด้วยวิทยาลัยอาชีวศึกษาแขวงคำม่วน สปป.ลาว เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และต้นแบบการเรียนการสอน สาขาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งจากพืชพลังงาน พลังงานจากขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะการติดตั้งและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาหลักสูตรสาขาพลังงานทดแทน
พร้อมท้ังการขยายโอกาสการฝึกทักษะฝีมือไปยังกลุ่มเปราะบางและที่อยู่นอกภาคการศึกษา ผ่านการจัดฝึกอบรมระยะสั้นด้านเกษตรกรรม หัตถกรรม เช่น นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้พิการ ผู้ต้องหาชั้นดีที่ใกล้พ้นโทษ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะมาสร้างสรรค์สังคมและขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน
ท่านหนูพัน อุดสา อธิบดีกรมอาชีวะศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว กล่าวว่า การยกระดับศักยภาพบุคลากรในประเทศของ สปป.ลาว มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะหากประเทศพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนาแล้ว จำเป็นต้องขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งด้วยตัวเอง เพราะอาจจะถูกตัดความเช่วยเหลือต่างๆ จากนานาประเทศที่เคยได้รับอุดหนุนในฐานะประเทศด้อยพัฒนา การเพิ่มความรู้ทั้งการทำให้คนในชาติทั้ง 6-7 ล้านคน ต้องได้รับการศึกษาตามเกณฑ์บังคับในระดับมัธยมปลายทั้งหมด รวมทั้งการเพิ่มทักษะทางด้านอาชีวะ หรือเทคนิคมาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศจึงมีความสำคัญอย่างมาก รวมทั้งการพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เข้ามาลงทุนในลาว เพื่อสามารถขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งโครงการที่ร่วมขับเคลื่อนกับราช กรุ๊ป สามารถตอบโจทย์ในมิติเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
มุ่งขับเคลื่อน Energy Transition ตามกรอบ ESG
คุณนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายของราช กรุ๊ป ให้ความสำคัญทั้งการพัฒนาให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าทางสังคมและการดูแลสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ที่ได้ขยายธุรกิจเข้าไป (ESG) ซึ่ง สปป.ลาว ก็ถือเป็นอีกหนึ่งฐานธุรกิจที่สำคัญของราช กรุ๊ป เช่นเดียวกัน โดยจะใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบริษัทด้านการพัฒนาและผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้ง พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม มาช่วยเพิ่มทักษะและพัฒนาทั้งหลักสูตรรวมทั้งคุณภาพของบุคลากรในสายงานด้านนี้ให้กับประชาชนใน สปป.ลาว ตลอดการดำเนินงานทั้ง 7 ปี (2024-2030) พร้อมการสนับสนุนงบประมาณรวม 23.8 ล้านบาท
สำหรับเป้าหมายในการขับเคลื่อนโครงการยังสอดคล้องไปกับแนวทางการพัฒนาตาม UN SDGs ในเป้าหมายที่ 4 ที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมในการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งเป้าหมายข้อ 8 ที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม ต่อเนื่อง และยั่งยืน พร้อมขยายโอกาสในการสร้างงานที่เหมาะสมและมีผลิตภาพสำหรับทุกคน พร้อมทั้งคำนึงถึงการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะไม่นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมหรือผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ราช กรุ้ป เองได้วางเป้าหมายให้ทั้งองค์กรมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 โดยการขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่จะสอดคล้องไปกับนโยบายและทิศทางของแต่ละประเทศ โดยจะพยามยามลดพอร์ตฟอสซิลให้ลดลง และเพิ่มการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทน ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมทั้งการลงทุนกลุ่มแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มศักยภาพ Storage System เพื่อลดความผันผวนด้านความมั่นคงทางพลังงาน จากแหล่งพลังงานจากธรรมชาติที่มีความไม่แน่นอนสูง ภายใต้เม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท สำหรับทุกประเทศทั้งในไทย ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยตั้งเป้าเพิ่มพอร์ตในกลุ่มพลังงานทดแทน (Renewable) ประมาณ 70% และกลุ่มฟอสซิลเหลือ 30% ภายในอีก 3-4 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีสัดส่วน Renewable ในพอร์ตธุรกิจประมาณ 20%
“การลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของกรุ๊ป จะสอดคล้องกับทิศทาง นโยบาย และความเร่งด่วนของแต่ละประเทศที่เข้าไปลงทุน แต่เชื่อว่าโดยภาพรวมจะลดพอร์ตในกลุ่มฟอสซิลลงได้ตามโรดแม็พ จากการประเมินตามระยะสัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่ ขณะที่การลงทุนโครงการใหม่ๆ จะมุ่งที่การใช้พลังงานสะอาด และแบตเตอรี่ โดยคาดว่าประเทศที่จะขับเคลื่อนได้เร็วที่สุดจะเป็นออสเตรเลีย ตามเป้าหมายของประเทศที่ตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 รวมท้ังต้องการเป็น Hydrogen Hub ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะมีระยะการเปลี่ยนผ่านแตกต่างไปตามศักยภาพทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเม็ดเงินที่ต้องลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดสำคัญในการขับเคลื่อนช่วง Energy Transition ส่วนทางราช กรุ๊ป มีเป้าหมายแน่นอนวางไว้ในปี 2050 เพื่อให้ธุรกิจทุกประเทศเป็นพลังงานสะอาดทั้งหมด ขณะที่วิธีการในการขับเคลื่อน จะค่อยๆ พิจารณาทั้งเทคโนโลยี ที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและการคุ้มค่าในการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญด้วย”
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อน Energy Transition มี 3 pillars ที่ต้องคำนึงถึง ทั้งเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุนในการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งต้องมีความสมดุลกันทั้ง 3 ด้าน จึงจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากจะคำนึงถึงแต่ประเด็นสิ่งแวดล้อม แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดทั้งหมด แต่ไฟติดๆ ดับๆ หรือต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ราคาแพงมาก ก็ไม่สามารถมีใครพร้อมที่จะลงทุนได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความมั่นคง หรือ Energy Security ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เพราะถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ และยังเป็นอีกหนึ่งจุดที่ช่วยดึงดูดการลงทุน ดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาพัฒนาประเทศ และสะท้อนความสามารถทางการแข่งขันของประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
“ก่อนหน้านี้บริบทในเรื่องของสิ่งแวดล้อม อยู่ที่การไม่สร้างมลภาวะมากเกินมาตรฐาน แต่เมื่อบริบทในปัจจุบันและมาตรฐานได้ถูกยกระดับมากขึ้น การปล่อย Carbon Emission ซึ่งเป็นเรื่องที่มาคู่กับการผลิตไฟฟ้ากลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกมีความกังวล และมีการยกระดับเพื่อควบคุมปริมาณการปลดปล่อยซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรม แต่ก็ถือเป็นความท้าทายใหม่ที่ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมทุกรายต้องสามารถสร้างให้เกิดความสมดุลขึ้นมาให้ได้ในสุด”