สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 พร้อมได้เปิดเวทีนำเสนอเนื้อหาและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานที่จัดทำขึ้น
โดยร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ภาพรวมการเปลี่ยนแปลง 2.คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขา จากการติดตามสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 11 สาขา ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ดินและการใช้ที่ดิน,ทรัพยากรน้ำ, ทรัพยากรแร่, ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า, ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ความหลากหลายทางชีวภาพ, ด้านมลพิษ, ด้านสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน, ด้านสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม, ด้านพลังงาน และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ
รวมทั้งการศึกษาในส่วนที่ 3. แนวโน้มและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยได้มีการคาดสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงในช่วง 2 ปีข้างหน้า รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในระยะยาว ช่วง 10 ปี พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการแก้ไขและขับเคลื่อนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศร่วมกัน
คุณจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. กล่าวว่า สผ. ดำเนินงานตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินำเสนอรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ ต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบาย แผน และมาตรการ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
“การรับฟังความคิดเห็นในวันนี้เป็นการเตรียมการสำหรับการก้าวต่อไปข้างหน้า หากเราวางกรอบในวันนี้ได้ดี ก็เชื่อว่าจะทำให้สิ่งแวดล้อมในอนาคตดีขึ้นได้ รวมทั้งการต้องกำหนดขึ้นมาเป็นข้อกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางและการขับเคลื่อนของสถานการณ์โลก โดยจะนำข้อเสนอแนะที่ทุกฝ่ายมีต่อร่างรายงานในวันนี้ไปเพิ่มเติม แก้ไขในมิติต่างๆ ก่อนจะนำเสนอให้ภาครัฐ และผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปวางกรอบการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของประเทศต่อไป”
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ร่างรายงานคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 ได้นำเสนอข้อมูลตามแนวทาง DPSIR ซึ่งประกอบทั้ง ปัจจัยด้านการขับเคลื่อน (Drivers) ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจและสังคม เช่น การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ และนโยบายของประเทศ ส่งผลสู่ ปัจจัยในการกดดัน (Pressure) และเป็นสาเหตุของ การเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อม (State) ทั้งทางบวกและทางลบ นำไปสู่ผลกระทบ (Impact) ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การแก้ไขปัญหา (Response) ที่เกิดจากการดำเนินงานของภาคส่วนต่าง ๆ
“ร่างรายงานฉบับนี้ชี้ให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระยะสั้น อาทิ การขยายตัวการใช้ดินของพื้นที่ชุมชน และสิ่งปลูกสร้างจากการขยายตัวของเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน, การใช้พลังงานทดแทนจากเซลล์แสงอาทิตย์มากขึ้น จากนโยบายส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์, การสะสมฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตร, การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำท่าที่คาดการณ์ได้ยากขึ้น ปะการังและหญ้าทะเลมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียมากขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศ และปริมาณขยะในแหล่งท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการจัดการขยะในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม”
รวมถึงประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระยะยาว เช่น การขยายตัวของเมืองที่ทำให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็จะทำให้พื้นที่ทางธรรมชาติถูกเปลี่ยนสภาพหรือถูกแบ่งเป็นพื้นที่เล็กๆ ประชากรหนาแน่นซึ่งมีผลต่อการใช้น้ำ พลังงาน การเกิดขยะและของเสีย สิ่งก่อสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ เกิดน้ำท่วมขัง และเกิดเกาะความร้อนในเมือง (Urban heat)
ส่วนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่เกินศักยภาพของพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ การจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม รวมถึงมลพิษที่เกิดจากขยะและของเสีย รวมทั้งการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีผลต่อการใช้พลังงานและการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการจัดการไม่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม AI ได้ถูกนำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ทรัพยากร การบริโภค และการเดินทาง ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์การวางผังเมืองรองรับประชากรสูงอายุ และเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีการออกข้อบังคับและมาตรการต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีผลต่อทิศทางการดำเนินงานและประสิทธิภาพในภาคการผลิต
ประเมินอนาคตผ่านเลนส์ 4 ปัจจัยขับเคลื่อน
งานสัมมนาครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คุณสุกัญญา ใจชื่น กรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ดร.ธงชัย โรจนกนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผังเมือง มาร่วมเสวนาเพื่อ มองอนาคตสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย ผ่านปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ และการขยายตัวของเมือง เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมของประเทศในอนาคต
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกจุดทศนิยมมีผลให้เกิดสภาพอากาศรุนแรง ขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการคาดการณ์สถานการณ์ รวมทั้งข้อมูลที่ใช้ต้องมีความพร้อมทั้งด้านของความสมบูรณ์และความต่อเนื่อง เพื่อสามารถประเมินผลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งหากสามารถแจ้งเตือนภัยพิบัติได้ภายใน 24 ชั่วโมง จะช่วยลดความสูญเสียลงได้ราว 30%
ขณะที่การประเมินฉากทัศน์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ Climate Scenario Analysis (CSA) จำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์ให้หลากหลายมากที่สุด ตั้งแต่ผลกระทบจากความสามารถในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้สูงที่สุด (Low Carbon) ไปจนถึงต่ำที่สุด (High Carbon) โดยพบว่าผู้ประกอบการ 60-70% เริ่มมีความตระหนัก และเตรียมตัวเพื่อรับมือต่อสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อธุรกิจของตัวเองได้จากปัญหาสภาพอากาศ เช่น วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เหมือนในปี 2554 ซึ่งมีโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำได้และนำมาซึ่งความเสียหายเป็นมูลค่าสูง ทำให้ภาคเอกชนเริ่มมีความสนใจและมีการนำเครื่องมือต่างๆ ด้าน CSA เข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น
รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ประเทศมีสัดส่วน ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและประชากรกลุ่มเด็กลดลง เป็นเพียงแค่มิติเดียวจากภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร หรือ Population Change ที่ยังมีทั้งเรื่องของการเกิด การตาย การย้ายถิ่น ซึ่งแต่ละมิติสามารถส่งผลกระทบต่อประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดประชากร (Size) ซึ่งประชากรไทยกำลังอยู่ในช่วงลดลง โดย 3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเกิดน้อยกว่าการตาย ทำให้ประชากรไทยลดลงเรื่อยๆ
รวมทั้งองค์ประกอบของประชากร (Composition) ทั้งเรื่องของเพศ อายุ ระดับการศึกษา รวมทั้ง Nationality จากการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ทั้งกลุ่มแรงงานทักษะ และที่ไม่มีทักษะ รวมไปถึงเรื่องการขยายตัวของเมือง (Distribution) ที่ไม่ได้วัดจากเขตพื้นที่ แต่ดูตามพฤติกรรมการอยู่อาศัยของประชากร รวมทั้งประชากรแฝงที่มีการเคลื่อนย้ายเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตต่างๆ ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ
คุณสุกัญญา ใจชื่น กรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในภาคการผลิต ต้องมีการใช้ทรัพยากรเพื่อตอบโจทย์ทางการค้า ขณะที่การวางกฎระเบียบ หรือการขับเคลื่อนในประเทศบางอย่างก็ยังไม่ใช่การบังคับใช้ ดังนั้น อาจจะเป็นเรื่องยากในการขับเคลื่อนได้ทั้ง Supply Chain ให้เป็นไปตามแนวทางการผลิตอย่างยั่งยืน เช่น การไม่รับวัตถุดิบทางการเกษตรที่มาจากการเผา ซึ่งบางครั้งอาจมีการรับวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ มาด้วย จึงจำเป็นต้องพิจารณาการยกระดับการบังคับใช้ภายในประเทศให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถขับเคลื่อนความยั่งยืนได้ทั้งห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง
ดร.ธงชัย โรจนกนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผังเมือง กล่าวว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่มีประเด็นที่แตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือมักจะเป็นเรื่อง PM2.5 ภาคใต้จะเป็นเรื่องภัยพิบัติ ส่วนการเติบโตของเมือง พบว่า เทศบาลกว่าพันแห่ง มีมากกว่า 50% ที่ประชากรไม่ขยับ ส่วนอีกราว 30% เป็นเมืองที่กำลังจะตาย เพราะภาคธุรกิจปิดตัว มีตึกแถวร้าง มีการติดป้ายขาย ให้เช่าจำนวนมาก มีเพียง 10% ที่ยังเติบโต และมักเป็นเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพและปริมณฑล ขณะที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของเมืองที่กำลังโต ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ โดยพบว่า นนทบุรี กำลังสูญเสียพื้นที่สีเขียวอย่างมาก และคาดว่าในอีกไม่ถึง 3-4 ปี อาจจะเหลือพื้นที่สีเขียวอยู่ไม่ถึง 20% หรือ ความหนาแน่นใน กทม. และราคาที่อยู่อาศัยที่มีราคาแพง ทำให้คนต้องย้ายออกไปอยู่นอกเมือง และเลือกขับรถเข้ามาทำงานในเมือง ซึ่งแต่ละวันจะมีการสร้างมลพิษจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวผิดรูปของเมือง ซึ่งผลกระทบจากการเมืองที่ขยายตัวผิดรูปนี้ อาจจะไม่ได้เห็นภายในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่อาจจะเห็นได้ในอีกหลายๆ ปีต่อมา และสะท้อนผ่านความเสียหายของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น
สำหรับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 ครั้งนี้ ได้มีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษา จำนวนกว่า 150 คน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำต่อการนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ปรากฏในร่างรายงานฯ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์มากขึ้น โดยหลังจากการนำเสนอจากที่ประชุม ทางคณะทำงานจะยังคงเปิดรับฟังข้อเสนอแนะผ่านช่องทางออนไลน์ https://docs.google.com/…/1FAIpQLSfGSBfGur…/viewform เป็นเวลาเพิ่มเติมอีกราว 2 สัปดาห์ ก่อนสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ตามลำดับต่อไป