เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่ประกาศขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยได้ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 พร้อมให้ความสำคัญในการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบการผลิตของ ‘อิชิตัน’ เป็นการผลิตที่มีทั้งเทคโนโลยีทันสมัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
สอดคล้องกับโรดแม็พความยั่งยืนของ อิชิตัน กรีน แฟคทอรี ที่ให้ความสำคัญในการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่วันแรกที่เปิดโรงงาน โดยได้นำระบบ Cold Aseptic เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในช่วงเวลานั้น เพื่อช่วยลดการใช้ปริมาณพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการออกแบบโรงงานให้มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน และการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนพื้นที่หลังคากว่าหมื่นตารางเมตร และสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้กว่า 5.8 ล้านหน่วยต่อปี (kWh) รวมทั้งเร่งผลักดันแผนงานด้าน Eco Packaging เพื่อสนับสนุนนโยบาย Circular Economy และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกหนึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหา Climate Change
คุณตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าทุกขวดของอิชิตันสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกลงได้ถึง 28.5% เมื่อเทียบกับการผลิตแบบดั้งเดิมที่เคยใช้พลาสติกมากกว่า 26 กรัมต่อขวด มาเป็นน้อยสุดได้ถึงกว่า 17.5 กรัมต่อขวด เทียบเท่าการลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ถึง 7,000 ตัน/ปี โดยภารกิจสำคัญจากนี้ คือ การเร่งแผนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Eco Packaging ที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ทั้ง 100% (Recyclable Packaging) ทั้งขวด ฝา ฉลาก ภายในปี 2026 เพื่อสนับสนุนนโยบาย Circular Economy รวมทั้งช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจกและปัญหา Climate Change
ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการนำร่องเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว โดยมีสินค้ากลุ่มแรกที่เป็น 100% Recyclable Packaging ได้แก่ อิชิตัน กรีนที 500 มล. และชิซึโอกะ กรีนที 440 มล. รวมทั้งภายในปีนี้ จะมีการนำ rPET ไม่น้อยกว่า 30% เข้าไปทดแทนพลาสติกใหม่ในผลิตภัณฑ์ อิชิตัน กรีนที 500 มล. ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลาสติกใหม่ได้ 175 ตัน/ปี
“อีกหนึ่งภารกิจของอิชิตันในปีนี้ คือ การยกเลิกใช้ขวด PET สี ในกลุ่มน้ำด่าง โดยจะเปลี่ยนมาเป็นการใช้ขวดใสท้ังหมด โดยปัจจุบันในขวดไซส์เล็ก ได้เปลี่ยนเป็นขวดใสทั้งหมดแล้ว ส่วนในไซส์ใหญ่ 550 มล. จะทยอยปรับเปลี่ยนจากขวด PET สี มาเป็นขวดใสและใช้ฉลากหุ้มเพื่อบอกรสชาติแทน รวมทั้งเริ่มลดการพิมพ์สีต่างๆ บนฝาขวด โดยคาดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งจะทยอยลดการใช้ PET สีในผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ของบริษัทเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อบรรลุเป้าหมาย Recycleable Packaging ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2026”
‘เปลี่ยนผ่าน’ แค่มีเงินไม่พอ ต้องรอจังหวะที่ไม่กระทบธุรกิจด้วย
คุณตัน ยังคลายข้อสงสัยที่มีต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านต่างๆ ที่อาจมีบางส่วนมองว่าใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนนานเกินไปหรือไม่ เนื่องจากข้อจำกัดหลายหลายอย่าง ที่มากกว่าแค่การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ค่อนข้างแพงแล้ว ยังต้องมีการทดสอบระบบ ทดสอบเชิงเทคนิคต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจในภาพรวม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องตามมาอย่างมหาศาล
“หลายคนมองว่า แค่เปลี่ยนฉลาก หรือวัตถุดิบที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ ทำไมต้องรอเวลา แต่ในความเป็นจริงมีเงื่อนไขด้านระบบการผลิตค่อนข้างซับซ้อน เช่น เมื่อวัตถุดิบของฉลากเปลี่ยนซึ่งต้นทุนอาจจะแพงกว่าเดิมนิดหน่อย รวมทั้งต้องเปลี่ยนเครื่องสวมฉลากที่ราคาประมาณ 20 กว่าล้าน ซึ่งต้นทุนต่างๆ เราต้องมีการลงทุนอยู่แล้ว แต่ระบบการผลิตต่างๆ จำเป็นต้องมีการติดตั้ง มีการทดสอบระบบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในกระบวนการผลิต ประกอบกับ การหยุดเดินสายการผลิตสำหรับกลุ่ม Mass Product ที่มีการผลิตหลักร้อยล้านขวดในแต่ละสายการผลิต จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจตามมาอย่างมาก ทำให้การปรับเปลี่ยนต้องรอความพร้อม ทั้งการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร รวมทั้งจังหวะและเวลาที่เหมาะสม เช่นในช่วงที่ตลาดเริ่มเข้าช่วง Low Season ซึ่งก่อนหน้าเราได้ลงทุนเพิ่มไลน์ผลิตใหม่ไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้สิ้นปีนี้ หลังเดินสายไลน์ใหม่ อาจจะทยอยปรับเปลี่ยนและทดสอบระบบ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้”
สำหรับการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนตามโรดแม็พความยั่งยืน คาดว่าจะต้องลงทุนเพิ่มเติมอีกราว 200-300 ล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ หลังจากก่อนหน้าได้ลงทุนไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิต และรองรับการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET ก่อนจะทยอยปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทั้งโรงงานสามารถรองรับการขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2026
“อิชิตันตั้งเป้าหมายที่จะสนับสนุนระบบการรีไซเคิล ทั้งการปรับเปลี่ยนให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้มากที่สุด และเพิ่มการใช้วัสดุรีไซเคิลให้มากที่สุด นอกจากระบบการผลิตแล้ว ยังมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดกระบวนการผลิต เช่น การต่อยอดกากชาที่เหลือจากการผลิตทั้งการนำไปทำปุ๋ย หรือเชื้อเพลิงไบโอแมสต่างๆ รวมทั้งการต่อยอดด้านดีไซน์และเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งการเปิดโรงงานอิชิตัน ให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ตันแลนด์ เพื่อมีส่วนปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้ผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชม รวมทั้งการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ทั้งการดำเนินการเอง จากการไปออกบูธตามอีเวนท์หรือคอนเสิร์ตต่างๆ ผ่านการจัดกิจกรรมนำการนำขวดเปล่ามาแลกเป็นส่วนลด หรือเป็นสินค้าขวดใหม่ได้ รวมทั้งการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสนับสนุนภารกิจในการเก็บกลับขยะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งอิชิตันมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งนำเสนอเครื่องดื่มคุณภาพที่ให้ความอร่อยสดชื่น ไปพร้อมกับการสร้างความสดชื่นให้กับโลก ตามแนวคิด Produce Responsibly, Drink Sustainably”