โอลิมปิก ปารีส 2024 ​เป็น Carbon Neutral ครั้งแรกของโลก พร้อมตั้งงบ 11.3 ล้านยูโร ​ชดเชยคาร์บอนเครดิต

การแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ในปีนี้ ได้ตั้งเป้า​ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจากค่าเฉลี่ยในการแข่งขัน 3 ครั้งที่ผ่านมาราว ​50%  และชดเชยการปลดปล่อยส่วนที่เหลือด้วยคาร์บอนเครดิต ภายใต้งบรวมกว่า 11.3 ล้านยูโร ​เพื่อเป็นการจัดโอลิมปิกที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นครั้งแรกของโลก

ทั้งนี้ ​ได้ดำเนินการเพื่อให้การจัดการแข่งขันครั้งนี้​มุ่งสู่การเป็น Carbon Neutral ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การลด และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG)

1.  ลดการปล่อย GHG
โดย Paris 2024 จะลดการปล่อย GHG 50% ของปริมาณการปล่อย GHG เฉลี่ยของการจัดงาน London 2012 และ Rio de Janeiro 2016 หรือตั้งเป้าลดการสร้าง Emission ตลอดเกมการแข่งขันให้ไม่เกิน​ 1.75 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq)  และเป็นระดับที่น้อยกว่าการปล่อย GHG จากงาน Tokyo 2021 (1.9 ล้านตัน) ที่เป็นการจัดงานในช่วงล็อคดาวน์ซึ่งไม่เปิดให้ผู้ชมเข้างาน

ทั้งนี้ 1 ใน 3 ของ GHG จะมาจากการเดินทางของผู้ชม และในส่วนที่เหลือจากการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ เช่น

– อาคารและสิ่งปลูกสร้าง: เน้นการใช้สิ่งปลูกสร้างเดิม ควบคู่ไปกับวัสดุก่อสร้างคาร์บอนต่ำ

– ไฟฟ้า: ใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ และลม เป็นหลัก

– การจัดการขยะอาหาร: ที่เน้นใช้วัตถุดิบประเภท Plant-based และลดการใช้อุปกรณ์ประเภทพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

– การขนส่งภายในประเทศ: ผ่านเครือข่ายการขนส่งด้วยรถสาธารณะ เส้นทางรถจักรยาน และรถยนต์พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ไฟฟ้า และไฮโดรเจนสีเขียว


2. การชดเชยด้วยโครงการคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ Paris 2024 มีแผนชดเชยปริมาณการปล่อย GHG ให้ได้มากที่สุด โดยใช้คาร์บอนเครดิตอย่างน้อยจำนวน 1.46 ล้าน tCO2eq ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการประเภทป่าไม้ในฝรั่งเศส 4 โครงการ จำนวน 14,500 tCO2eq ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 11.3 ล้านยูโร จากการซื้อและพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตในมาตรฐาน Gold Standard และ VCS ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร เนื่องจากจะเป็นกลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง ได้แก่ ไนจีเรีย คองโก เคนยา รวันดา เซเนกัล กัวเตมาลา และเวียดนาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจัดงาน Event ในรูปแบบ Carbon Neutral ผ่านการลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีแนวโน้มได้รับการปฏิบัติเป็นปกติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในงาน Event ระดับใหญ่ๆ เช่น โอลิมปิกปารีส 2024 ครั้งนี้ รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ที่ลดการปล่อย GHG เหลือเพียง 0.01%  ขณะที่​ภาคเอกชนไทยก็มีการจัด Carbon Neutral Event ในรูปแบบสมัครใจจำนวน 253 งาน คิดเป็นการชดเชยคาร์บอนเครดิตจำนวน 47,589 ตันคาร์บอน

ทั้งนี้ ในอนาคตการดำเนินการดังกล่าวอาจมีความเข้มงวดมากขึ้นและมีแนวโน้มเป็นมาตรการภาคบังคับ ซึ่งธุรกิจที่ยังคงปล่อย GHG ในระดับสูง คงต้องพิจารณาหาช่องทางเพื่อลด และชดเชยการปล่อย GHG ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Stay Connected
Latest News