เอสซีจี วาง 5 กลยุทธ์ เติมความฟิตให้ธุรกิจ สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจในระยะยาว พร้อมรีโฟกัส ถอน ‘แมวดำ’ จากพอร์ตโฟลิโอ เลิกแข่งในตลาดที่ไม่แข็งแรง และสร้างความแตกต่างไม่ได้ แต่ยังหนุนสร้างนวัตกรรมใหม่ให้องค์กรต่อเนื่อง
คุณธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า บริษัทมีผลประกอบการไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา จากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นของเอสซีจี เคมิคอลส์ กำลังซื้อในตลาดอาเซียนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย รวมทั้งมีรายได้เงินปันผลรับจากการลงทุนในธุรกิจอื่น โดยมีรายได้ 128,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อนหน้า มีผลกำไรกว่า 3,708 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% ใกล้เคียงกับปีก่อน ส่วนรายได้ภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 252,461 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน แบ่งเป็นสัดส่วนจากแต่ละกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ เอสซีจี เคมิคอลส์ 39% เอสซีจีพี 27% เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน 16% เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิงและเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล 13% และเอสซีจี เดคคอร์ 5%
“ในครึ่งปีแรกนี้ทุกกลุ่มธุรกิจมีการปรับตัวที่ดีขึ้น มีเพียงกลุ่มเคมีคัลที่ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งส่งผลกระทบไปทั้งโลก โดยมียอดขายจากการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) 38,690 ล้านบาท คิดเป็น 20% กลุ่มนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-Value Added Products & Services – HVA) 77,037 ล้านบาท คิดเป็น 39% และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice ยอดขาย 136,124 ล้านบาท คิดเป็น 54% ทั้งนี้ มีรายได้จากธุรกิจในประเทศ รวมทั้งการส่งออก ในครึ่งปีแรกนี้ 111,367 ล้านบาท หรือ 44 ของยอดขายโดยรวม ขณะที่เป้าหมายในสิ้นปีนี้จากที่เคยตั้งเป้าเติบโตไว้ 20% แต่มีปัญหาความล่าช้าของโครงการ ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ ที่คาดว่าจะขยับมาเดินเครื่องได้ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ทำให้กระทบต่อเป้าหมายที่วางไว้ แต่เชื่อว่าจะสามารถผลักดันการเติบโตได้อย่างน้อยราว 10%”
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ยังมีปัจจัยลบที่ต้องเผชิญและเฝ้าระวังทั้ง ความตึงเครียดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันสูงจากสินค้านำเข้าจากจีน เศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า จากกำลังซื้อที่อ่อนแอในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย ทำให้การดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีจึงยังคงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เอสซีจีจึงให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแรง โดยได้วาง 5 กลยุทธ์ เพื่อเร่งเพิ่มความฟิตทางธุรกิจ พร้อมสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วย
1. บริหารต้นทุนพลังงาน เพื่อลด และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในระยะยาวได้ เช่น ในกลุ่มธุรกิจซีเมนต์ในประเทศไทย ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน Renewable ไว้ที่ราวครึ่งหนึ่ง
2. ปรับโฟกัสธุรกิจ โดยเน้นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต และเลิกดำเนินการในกลุ่มที่ไม่สามารถแข่งขัน หรือไม่สามารถสร้างให้เกิดความแตกต่างจากตลาดได้ พร้อมจัดสรรทั้งบุคลากรและทรัพยากรไปสนับสนุนกลุ่มที่เป็น New S-Curve เช่น Solar Roof, Green Energy, Heat Energy หรือ Air Scrubber ส่วนกลุ่มที่ตัดสินใจเลิกดำเนินการ เบื้องต้นมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มขนส่งรายย่อย SCG Express หรือแมวดำ และ Green Construction ที่เน้นเรื่องการก่อสร้างทั่วไป ที่ไม่ได้มีโซลูชันที่ช่วยเพิ่ม Value หรือ ความแตกต่างจากตลาดได้
3. ปรับปรุงการจัดเก็บ ขนส่ง กระจายสินค้า เช่น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลวางแผนการจัดส่ง ตรวจรับสินค้า ช่วยลดเวลาทำงาน ลดความเสียหาย ลดโอกาสผิดพลาดในการรับ-ส่ง รวมทั้งการบริหารการขนส่งได้ตอบโจทย์ลูกค้าในปัจจุบัน เพื่อสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจได้ตลอดทั้งสายการลิต
4. การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนของการผลิต หรือการพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น เช่น เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ใช้โซลูชัน AI จาก REPCO NEX ในการดูแลเครื่องจักรและซ่อมบำรุงได้อย่างแม่นยำ มีเสถียรภาพ (Reliability) ได้ทั้ง 100%
5. มุ่งส่งมอบโซลูชันที่ฟังก์ชันและราคาตรงกับความต้องการของลูกค้า อาทิ CPAC รถโม่เล็ก ขนาดกะทัดรัด สำหรับงานก่อสร้างในเมืองที่มีขนาดพื้นที่จำกัด รวมทั้งยังช่วยลด Waste จากการก่อสร้างได้น้อยลง เพราะไม่จำเป็นต้องสั่งในปริมาณมาก รวมทั้งการเพิ่มความหลากหลายของ Product Portfolio โดยเฉพะาการพัฒนาสินค้านวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การงานที่เฉพาะกลุ่มแบบ Micro Segment มากขึ้น เช่น ซีเมนต์คาร์บอนต่ำที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก หลังจากเปิดตัวก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด รวมทั้งสามารถส่งออกไปอเมริกาได้มากกว่า 1 ล้านตันและเร่งขยายไปยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เอสซีจียังตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่กระทบความเป็นอยู่ของผู้คนในวงกว้าง จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี เตรียมจัดโครงการ Go Together เพื่อให้ความรู้ สร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยเริ่มจากโรงงานสระบุรี พร้อมขยายผลไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่เอสซีจีมีโรงงานตั้งอยู่ เช่น กาญจนบุรี ลำปาง ขอนแก่น นครศรีธรรมราช เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยการปรับปรุงและนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต ลดต้นทุน นำของเหลือใช้มาสร้างประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นวัตถุดิบ เชื้อเพลิง รวมทั้งใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ด้านมูลนิธิเอสซีจี ได้ส่งเสริมแนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด เน้นการเรียนรู้เพื่อมีงานทำ สามารถสร้างอนาคตได้จริง โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบ ประมาณ 3,000 ทุนต่อปี ในสาขาที่ตอบโจทย์ตลาด เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ เป็นต้น โดยเยาวชนที่ผ่านโครงการถึง 90% สามารถหางานทำได้ ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถพัฒนามิติทางสังคมให้แข็งแรง จากการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เยาวชนในโครงการ ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มกลุ่มแรงงานทักษะเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น
‘แมวดำ’ ไม่ไปต่อ แต่ยังหนุนสร้างนวัตกรรมใหม่ในองค์กร
สำหรับหนึ่งในธุรกิจที่ SCG ตัดสินใจไม่ไปต่อ คือ ธุรกิจขนส่งรายย่อย SCG Express หรือ แมวดำ ที่ร่วมกับพันธมิตรในการ Diversify ไปสู่ธุรกิจขนส่ง รับเทรนด์การเติบโตของอีคอมเมิร์ซตั้งแต่เมื่อปี 2560 ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถสร้างศักยภาพทางการแข่งขันที่ดีกว่า หรือสร้างให้เกิดคุณค่าที่แตกต่างจากตลาดได้ ขณะที่แลนด์สเคปในตลาดเป็นการแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งไม่ใช่แนวทางในการขับเคลื่อนของเอสซีจี จึงนำมาสู่การตัดสินใจเลิกดำเนินการต่อ เพื่อหยุดปัญหาขาดทุน ซึ่งการเลิกธุรกิจนี้ทำให้ศักยภาพของธุรกิจโดยรวมดีขึ้น
“เราตัดสินใจเลิกดำเนินการในกลุ่มขนส่งรายย่อย แทนที่จะสู้ต่อ เนื่องจาก ไม่ต้องแข่งข้นด้านราคาที่เหมือนเป็นการเผาเงินโดยไม่มีแวลู่ทางธุรกิจที่คุ้มต่า ประกอบกับความไม่สมบูรณ์ใน Ecosystem ที่เรามี เนื่องจากมองว่า การจะได้ประโยชน์ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มที่ เราต้องมีทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือ Market Place และมีระบบการขนส่งมารองรับ เพื่อสามารถบริหารจัดการต้นทุนและสร้างกำไรที่เหมาะสมได้ แต่การมีธุรกิจรองรับเพียงแค่การขนส่งเพียงขาเดียว ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่แลนด์สเคปในธุรกิจ การแข่งขันมักเป็นเรื่องของการตัดราคา และยากที่จะสร้าง Differentiate ได้ หากเลือกใส่เงินลงทุนเพิ่ม มองว่า อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะไม่ได้สร้างความได้เปรียบ หรือเสริมความแข็งแรงที่แท้จริงให้ธุรกิจ แต่ควรนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในธุรกิจที่กำลังเติบโต หรือสามารถสร้าง New S-Curve ใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กรในภาพรวมได้ดีมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม ทางเอสซีจี ยังคงสนับสนุนให้พนักงานสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความเชื่อในเรื่องคุณค่าของคน ขณะที่ความล้มเหลวต่างๆ ก็ถือเป็น Most Valuable Asset ที่ทำให้พนักงานได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อสามารถปรับตัว และวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง จากสถานการณ์จริงเพื่อที่จะไม่ผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต รวมทั้งหลายๆ นวัตกรรมที่โดดเด่นก็มาจากการเปิดกว้างในการทดลองสิ่งใหม่ เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ ที่มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีจากภายในองค์กรเอง และสามารถประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับจากตลาดอย่างดีมาก ซึ่งในแซนด์บ็อกซ์ขององค์กรยังมีทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งโมเดลธุรกิจใหม่ๆ สำหรับการทดลองเรียนรู้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก โดยจะเน้นการเริ่มต้นในขนาดที่เหมาะสม หากล้มเหลวก็พร้อมยอมรับ เพื่อปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ เพื่อเริ่มต้นโปรเจ็กต์ที่อาจจะเป็นโอกาสใหม่ๆ ต่อไป หรือ Small Start, Fail Fast, Learn Fast แต่หากองค์กรใดที่มัวแต่ผิดพลาดและไม่กล้าเริ่มต้นหรือทดลองอะไรใหม่ๆ เลย สุดท้าย ก็จะไม่สามารถปรับตัวได้และไม่มีทางรอดได้ในอนาคตเช่นเดียวกัน
ทิศทางและเป้าหมายของแต่ละกลุ่มธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจของเวียดนามและอินโดนีเซียที่กลับมาฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง กำลังซื้อกลับมาจากแรงหนุนของรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสร้างเมืองหลวงใหม่ ‘นูซันตารา’ รวมทั้งรัฐบาลเวียดนามผลักดันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ขณะที่การฟื้นตัวของไทยยังชะลอตัว ความต้องการสินค้าลดลงตามฤดูกาล และการจัดสรรงบประมาณของรัฐที่ล่าช้า
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน เร่งผลักดันปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชัน 2 ซึ่งสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 15-20% พร้อมขยายตลาดต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย รวมทั้งเปิดตัวปูนคาร์บอนต่ำรายแรกในเวียดนาม ‘SCG Low Carbon Super Cement’ ขณะที่ในไทย มีการเติบโตต่อเนื่องทดแทนตลาดปูนแบบเดิมได้แล้วกว่า 86% รวมทั้งการออกปูนซีเมนต์หลากหลายรุ่น ด้วยคุณภาพและราคาเหมาะสม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าครอบคลุมมากขึ้น เช่น แบรนด์ ‘5 STAR’ ในกัมพูชา ‘BEZT’ ในอินโดนีเซีย ‘ADAMAX’ ในเวียดนาม และ ‘แรด’ ในไทย
เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล ลุยเสิร์ฟสินค้าและบริการเรื่องบ้านผ่านร้านค้าปลีกกว่า 87 ร้านในอาเซียน โดยครึ่งปีแรกของปีได้ขยายโมเดิร์นเทรด ‘Mitra10’ ผู้เชี่ยวชาญตลาดค้าปลีกในอินโดนีเซีย มีสินค้ากว่า 65,000 รายการ เพิ่มอีก 2 สาขา ที่เกาะสุมาตรา และเกาะชวาตะวันตก ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก รับลูกค้ามากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน ตั้งเป้า 100 สาขา ในปี 2573 ปัจจุบันเปิดแล้ว 50 สาขา
เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง รุกนำเสนอนวัตกรรมวัสดุตกแต่งภูมิทัศน์ อาทิ กระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น เอสซีจี หนุนรับนักท่องเที่ยว สามารถออกแบบลวดลายเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคการพ่นสีเฉพาะ เช่น ลายดอกโบตั๋น สำหรับทางเท้าย่านเยาวราช พร้อมทั้งเปิดตัวนวัตกรรมระบบบำบัดอากาศเสีย Air Scrubber สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก ภายใต้แบรนด์ ONNEX by SCG Smart Living เจาะกลุ่มลูกค้างานอาคารและสำนักงาน ที่มีพื้นที่ใช้สอยขนาดน้อยกว่า 3,500 ตร.ม. พร้อมขยายบริการครอบคลุมอาเซียนและตะวันออกกลาง
เอสซีจี เดคคอร์ (SCGD) ดันแผนสร้างการเติบโต 2 เท่าภายในปี 2573 เริ่มเดินการผลิตโรงงานแผ่นปูพื้น SPC LT by COTTO กำลังผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งตลาดกว่า 500 ล้านบาท และเดินหน้าก่อสร้างโครงการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง กลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลน สวยงาม แข็งแรง เป็นที่นิยม 3 โครงการใหญ่ในประเทศเวียดนามและไทย คาดเริ่มเดินการผลิตปีนี้
พร้อมกันนี้ เอสซีจียังขยายตลาดวัสดุก่อสร้างในอินเดีย โดย SCG International ร่วมกับบริษัทบิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น จำกัด ลงทุนเปิดโรงงานแผ่นผนังมวลเบา (AAC Walls) ภายใต้แบรนด์ ‘ZMARTBUILD WALL by NXTBLOC’ แห่งแรกในรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่การก่อสร้างมีมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่อง
เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) แม้ไตรมาสที่ผ่านมาธุรกิจมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น จากการกลับมาเดินเครื่องของโรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังอ่อนตัว จากความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลง ขณะที่มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ SCGC เร่งผลักดันนวัตกรรมรักษ์โลก SCGC GREEN POLYMERTM สู่ตลาดที่มีความต้องการมาก อาทิ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ล่าสุดร่วมกับ Dow พัฒนาธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกตลอดห่วงโซ่คุณค่าเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกปริมาณกว่า 200,000 ตันต่อปี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นผลิตภัณฑ์หมุนเวียนที่มีมูลค่า ภายในปี 2573
ขณะที่ โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) กลับมาทดสอบการเดินเครื่องทั้งโรงงานขั้นต้น (Upstream) และขั้นปลาย (Downstream) ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 และจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2567
เอสซีจีพี (SCGP) มุ่งขยายกำลังการผลิตรับความต้องการบรรจุภัณฑ์จากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ประกอบกับบริหารจัดการวัตถุดิบและต้นทุนพลังงาน รวมทั้งสร้างการเติบโตในธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ล่าสุด SCGP รุกขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ด้วยการลงทุนในบริษัทวีอีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการผลิตชิ้นส่วนสมรรถนะสูงจากการฉีดขึ้นรูปพอลิเมอร์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าของ Deltalab, S.L. และ Bicappa Lab S.r.L. บริษัทใน SCGP เพื่อรองรับความต้องการและส่งเสริมให้ SCGP ขยายเครือข่ายลูกค้าในต่างประเทศครอบคลุมยิ่งขึ้น
ด้าน ธุรกิจน้องใหม่ เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เติบโตได้ดีตามแผน มุ่งเพิ่มสัดส่วนการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูง ครึ่งปีแรกของปี 2567 มีกำลังการผลิตรวม 522 เมกะวัตต์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ จับมือ ซีเกท ประเทศไทย ลงนามในสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้า Solar Rooftop ขนาด 20.96 เมกะวัตต์ ณ โรงงานซีเกท จังหวัดนครราชสีมา สำหรับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานความร้อนจากพลังงานสะอาด Rondo Heat Battery อยู่ระหว่างการก่อสร้างยูนิตแรกของโลกสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่โรงงานปูนซีเมนต์เอสซีจี จ.สระบุรี คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 ซึ่งจะสามารถเป็นต้นแบบสำหรับหลากหลายอุตสาหกรรมต่อไป