มากกว่าแค่ช่วยภัยแล้ง แต่สร้าง ‘โมเดลจัดการน้ำอย่างยั่งยืน’  ม.ขอนแก่น ผนึก​ ​สิงห์อาสา สร้างบ่อพ่อบ่อแม่ ขยายผล ‘แหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน’ ในพื้นที่ภาคอีสาน

ปัญหา ภัยแล้ง​เป็นหนึ่งในความเดือดร้อนสำคัญของพี่น้อง​ภาคอีสานมาเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพอากาศในปัจจุบันจาก​ภาวะโลกเดือด ทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ ทำให้ความรุนแรงของปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน และสำหรับทำการเกษตรมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่อง​เป็นลูกโซ่ ทั้งด้านคุณภาพชีวิต สุขภาพ รวมถึงรายได้ที่ไม่เพียงพอของผู้คนในพื้นที่

การมีแหล่งน้ำที่สะอาดในปริมาณที่เพียงพอ​​ จึงเป็นหนึ่งปัจจัยพื้นฐานในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)​ จึงร่วมกับ “สิงห์อาสา พร้อมด้วยบริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด บริษัทในเครือบุญรอดฯ และ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 สถาบัน สร้างสรรค์โครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” ต่อเนื่องหลายปี เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี และยังทำหน้าที่เป็นบ่อกักเก็บน้ำและช่วยชะลอการหลากของน้ำในช่วงฤดูฝน ช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกันยังเป็นกลไกสำคัญในการเติมระดับน้ำใต้ดิน จากการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการในการเลือกพื้นที่ และรูปแบบการขุดบ่อที่ลึกมากพอจนทำให้น้ำสามารถซึมผ่านชั้นหินอุ้มน้ำได้ เพื่อช่วยเพิ่มแหล่งน้ำ​และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเพิ่มความมั่นคงทางอาหารภายในชุมชนได้มาก​ขึ้น เพราะเมื่อปริมาณน้ำมากขึ้น นอกจากรองรับการอุปโภคในพื้นที่ได้​​พอเพียงแล้ว ยังทำให้มีน้ำสำหรับการทำการเกษตรเพิ่มเติม ทั้งการปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ รวมทั้งมีปลาในบ่อตามธรรมชาติ ให้ชาวบ้านจับเป็นอาหารได้ด้วย

ภาพเปรียบเทียบบ่อที่ขุดบ้านนาสีนวน ต.ขัวเรียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ในโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน”

เพิ่มบ่อโครงข่าย ขยายผลเชิงบวกในพื้นที่​

โครงการสิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน เริ่มขับเคลื่อนในพื้นที่ภาคอีสานมาตั้งแต่ปี 2565 นำร่องในพื้นที่บ้านนาสีนวน ต.ขัวเรียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ด้วยการขุดบ่อ​​พื้นที่ 3 ไร่ เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำตามธรรมชาติ และสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้ชุมชนในพื้นที่หมู่ 1 ซึ่งมีกว่า 220 ครัวเรือน รวมไปถึง​พื้นที่ในหมู่ 9 ที่มีอีกกว่า 90 ครัวเรือน ให้สามารถมีน้ำใช้และทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี จากที่ก่อนหน้านี้ แค่การใช้ภายในพื้นที่หมู่ 1 ​ปริมาณน้ำ​ก็​แทบไม่เพียงพอแล้ว

โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งที่ต้อง​ไปซื้อน้ำจากทาง อบต. มาไว้ใช้ภายในครัวเรือน และไม่มีน้ำเหลือสำหรับทำการเกษตรเพิ่มเติม​ แต่หลังจากขุดบ่อแรก​สำเร็จ ก็​สามารถเพิ่มปริมาณน้ำใช้ให้พื้นที่ได้ตั้งแต่ปีแรก โดยเฉพาะ​ระบบประปาท้องถิ่นที่เคยมีช่วงเวลาขาดน้ำก็กลับมามีน้ำใช้ต่อเนื่อง​ รวมทั้งปริมาณน้ำในบ่อที่เคยแห้งขอดในช่วงหน้าแล้งก็มีปริมาณน้ำในบ่อตลอดทั้งปี ทำให้ชาวบ้านมีทั้งน้ำใช้ และเหลือพอสำหรับปลูกพืชผักที่หลากหลาย สร้างรายได้ได้มากขึ้น ​รวมทั้งช่วยเพิ่ม​แหล่งอาหารจากการจับปลาในสระ พร้อมทั้งยังเพิ่มพื้นที่สันทนาการ ส่วนกลางของชุมชน สำหรับทั้งการพักผ่อน หรือเป็นพื้นที่จัดงานเทศกาลต่างๆ ได้ด้วย

ภาพบ่อใหม่ ในโครงการ“สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” บริเวณโรงเรียนขัวเรียงศึกษา

ความสำเร็จของบ่อแรกเมื่อราว 2 ปีก่อน ​นำมาสู่การขยายผลผ่านการขุดบ่อโครงข่ายเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียงคือ ​บริเวณโรงเรียนขัวเรียงศึกษา หมู่ 1 ต.ขัวเรียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้ขุดบ่อขนาดเกือบ 2 ไร่ อยู่ห่างจากบ่อเดิม​ราว 2 กิโลเมตร เพื่อเป็นบ่อโครงข่ายเพิ่มเติมในพื้นที่ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ​รวมทั้งยัง​เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง ​ประกอบกับเป็นพื้นที่ติดโรงเรียนและชุมชน ซึ่งไฟอาจลุกลามสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะใน​ช่วงที่เกิดไฟป่าก็​ไม่มีแหล่งน้ำมาช่วยในการดับไฟ ทำให้นักเรียนและบุคลากรต้องซื้อน้ำมาสำรองไว้ใช้เอง ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เร่งด่วนที่โครงการจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือเช่นกัน

อ.มัลลิกา พร้อมด้วยนักศึกษาคณะเกษตร์ศาสตร์ ม.ขอนแก่น และสิงห์อาสา หารือและวางแผนในโครงการ“สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม อาจารย์สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการขุดบ่อโครงข่ายเพิ่มเติมในพื้นที่ว่า เป็นการขยายผลในการแก้ปัญหาปริมาณน้ำในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากองค์ความรู้ในการขุดบ่อของโครงการสิงห์อาสาฯ ไม่เพียงช่วยเพิ่มปริมาณน้ำระดับผิวดินเท่านั้น แต่ยังเป็นการเติมระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้น​ เพื่อสามารถดันขึ้นมาชดเชยน้ำผิวดินในช่วงฤดูแล้งได้ ขณะที่ช่วงน้ำมากก็จะไหลซึมผ่านชั้นหิน​​เพื่อเก็บไว้​เป็นน้ำใต้ดิน ​การมีบ่อโครงข่ายที่มากขึ้น จึงช่วย​เพิ่มระดับน้ำใต้ดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ได้ในระยะยาวและยั่งยืนมากขึ้นด้วย

ประกอบกับยังช่วยรับมือต่อความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้ว ซึ่งนัก​อุตุนิยมวิทยาทั่วโลกคาดการณ์ไว้ว่า ในปีนี้จะมีทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญาเกิดขึ้น ส่งผล​ให้​​บางพื้นที่ต้องเผชิญหน้า​ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งที่รุนแรง ​​การเพิ่มบ่อโครงข่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบ่อหลักมาเสริมในพื้นที่ จึงเป็นเหมือนการมีทั้ง ‘บ่อพ่อ +บ่อแม่’ มาช่วยเพิ่มความสามารถในการรักษาความสมดุลของพื้นที่ เพื่อรับมือต่อทั้ง 2 สถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม​ ​ทั้งช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ​ให้​เพียงพอสำหรับการใช้ตลอด​หน้าแล้ง​หรือ​ช่วงปรากฏการณ์​เอลนีโญ​ ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ช่วยชะลอการหลากของน้ำในช่วง​ลานีญาที่จะมีปริมาณน้ำมาก เพื่อป้องกันน้ำไหลท่วมชุมชน​และพืชผล​​​เกษตรในพื้นที่ถูกทำลายเสียหายได้​​ ถือเป็น​อีกหนึ่งการใช้กระบวนการและองค์ความรู้ทางธรรมชาติมาช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้อย่างมีความสมดุล

“การเพิ่มบ่อโครงข่ายแห่งใหม่ที่โรงเรียนขัวเรียงศึกษา จะช่วยเกื้อหนุนการทำงานของบ่อเดิม ตามแนวคิด ‘บ่อพ่อ+บ่อแม่’ ทำให้เพิ่มความสามารถในการกระจายน้ำไปยังบ่อลูกๆ ในบริเวณข้างเคียงทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติ หรือบ่อที่เกษตรกรขุดไว้สำหรับการเพาะปลูก และ​​เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในพื้นที่ ช่วยลดปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งยังสามารถเป็นแนวกันไฟตามธรรมชาติ ช่วยบรรเทาผลกระทบ​จากไฟป่า และยังเป็นแหล่งน้ำฉุกเฉินเพื่อช่วยดับไฟ ​ลดการลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ขณะที่บริเวณโดยรอบของบ่อยังมีการปลูกพืชผักที่เหมาะกับพื้นที่ ช่วยทั้งการพังทลายของผิวดิน รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ให้คุณครูหรือนักเรียนหรือชาวบ้านในพื้นที่นำไปใช้รับประทานได้ด้วย”​ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา กล่าว

มากกว่าช่วยเฉพาะหน้า แต่มุ่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

คุณรวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

คุณรวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มประชาสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภารกิจ​สำคัญของ สิงห์อาสา ​คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการมีส่วนช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน ทั้งการดูแลน้ำสำหรับการบริโภคผ่านการ​แจกจ่ายน้ำดื่มให้กับหลายชุมชน การติดตั้งธนาคารน้ำสิงห์เพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำ​บริโภคได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งการทำท่อประปาเพื่อลำเลียงน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำไปสู่​​พื้นที่ห่างไกลต่างๆ ซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่องและส่งต่อความช่วยเหลือไปยังหลายพื้นที่ในภาคอีสานตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“ไม่เพียงแนวทาง​การแก้ปัญหาเพื่อ​บรรเทาความเดือดร้อนแบบเฉพาะหน้าเท่านั้น สิงห์อาสายังให้ความสำคัญกับ​การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการสร้างแหล่งน้ำชุนชน ที่นอกจากช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำแล้ว ​ยังส่งมอบ​องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนให้ชาวบ้านในพื้นที่ นำไปต่อยอดเพื่อเพิ่ม​ประสิทธิภาพการพัฒนา​​บ่อน้ำที่อยู่ในพื้นที่ได้​มาก​ขึ้น เกิดเป็นโมเดลช่วยบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป ภายใต้การทำงานร่วมกันทั้ง​สิงห์อาสา คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มผู้นำและตัวแทนจากแต่ละชุมชน​เพื่อรับฟังและแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแรงให้กับชุมชน ​รวมทั้งยังมีเครือข่ายนักศึกษา​นักศึกษาสิงห์อาสาภาคอีสาน ซึ่งถือเป็นลูกหลานคนในพื้นที่และเป็นแนวร่วมสำคัญที่จะ​นำความรู้​ความสามารถของตัวเองมา​ช่วยเหลือพัฒนาบ้านเกิดได้ในอนาคต” คุณรวินทร์ กล่าวสรุป

ภาพชาวบ้านใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่ขุดไว้

ปัจจุบัน​โครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” ได้ขับเคลื่อนแล้วในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคอีสาน ผ่านการ​พัฒนาโมเดลแหล่งน้ำชุมชนกว่า 10 แห่ง ​และมีแผนจะขยายพื้นที่เพิ่มเติมในอนาคต ผ่านองค์ความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ​ ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายแหล่งน้ำชุมชนให้เพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต ก็เชื่อได้ว่า​ปัญหาภัยแล้งในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทยจะสามารถบรรเทาเบาบางลงได้ในที่สุด

ภาพธนาคารน้ำดื่มสิงห์ นำน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายประชาชนที่ประสบภัยแล้ง

แนวทางการขับเคลื่อนโครงการ ยังสอดคล้องกับภารกิจ​สำคัญของ สิงห์อาสา ที่มุ่งมั่นในการ​เติม​ความสุขและสร้างรอยยิ้มให้พี่น้องคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการทำงานร่วมกันของเครือข่ายที่แข็งแรงและกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจปัญหา ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ เพื่อ​​​สามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทยได้อย่างตรงจุด รวมทั้งพัฒนา​เป็นโมเดลที่สร้างให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นภายในชุมชน ตามแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่าง​แท้จริง

Stay Connected
Latest News