หลังมีแผนพัฒนาเครื่องมือคำนวนคาร์บอน หรือ Carbon Calulator เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานกลางในการหาคำนวณการปลดปล่อยคาร์บอนขององค์กร ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ได้พัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบแล้วเสร็จ และได้นำร่องให้ 20 บริษัท จากทั้ง 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้ทดลองนำไปใช้แล้ว
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน และหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร SET เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาเวอร์ชั่นต้นแบบเครื่องคิดเลขคาร์บอน ซึ่งได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. ในการรับรองสูตรที่นำมาใช้ในการคำนวณเพื่อหา Carbon Emission ขององค์กรต่างๆ โดยได้แยกย่อยแพลตฟอร์มออกเป็น 8 กลุ่ม ตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP) กลุ่มทรัพยากร (RESOURC) กลุ่มธุรกิจการเงิน (FINCIAL) กลุ่มบริการ (SERVICE) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (INDUS) และกลุ่มเทคโนโลยี (TECH)
ทั้งนี้ ได้คัดเลือกบริษัทนำร่องรวม 20 ราย เพื่อร่วมทดลองการนำแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณหาการปลดปล่อยคาร์บอนภายในองค์กร รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลการใช้งานต่างๆ เพื่อประเมินผลต่อยอดในการพัฒนาเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนนำไปให้ บจ. ในตลาดที่มีกว่า 840 ราย นำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งการเปิดเป็น Open Platform ในอนาคต เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในธุรกิจรายใหญ่ที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับ Carbon Risk ที่ได้กลายมาเป็นกฎกณฑ์สำคัญของการทำธุรกิจจากนี้ไป
“เป้าหมายของ SET ต้องการพัฒนาเครื่องคิดเลขคาร์บอนเพื่อสร้าง Standard Calculator ช่วยอำนวยความสะดวก รวมทั้งลดต้นทุนและกระบวนการในการคำนวณ Carbon Emission ซึ่งในแต่ละปีจะมีค่าใช้จ่ายหลักหลายแสนบาท แต่การมีแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ หรือนำไปต่อยอดให้มีความ Customize ที่เหมาะกับแต่ละธุรกิจจะทำให้ช่วยลดขั้นตอน และสามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการทวนสอบ เพื่อรับการรับรอง (Verify) ได้อย่างถูกต้อง เพื่อความสะดวกและประหยัดต้นทุนมากขึ้น เนื่องจาก ยังต้องมีกระบวนการในการทวนสอบเพื่อ Verify ข้อมูลที่คำนวณได้ หรือในบางบริษัท อาจยังต้องมีค่าใช้จ่ายด้าน Advisory Service เพื่อช่วยวางแนวทางหรือกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ หรือมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกหลายส่วน”
ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางของ SET จะช่วยเพิ่มจำนวน บจ. ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากข้อมูลช่วงปลายเดือน พ.ค. 2567 มี บจ. เพียงเกือบครึ่งหนึ่ง (48.56%) หรือ 406 บริษัท จาก 836 บริษัท ที่สามารถรายงานการปลดปล่อยได้ และ 31.82% หรือ 266 บริษัท ที่สามารถ Verify ข้อมูลได้ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
เร่งสร้าง Awareness รับมือความเสี่ยงใหม่ๆ
นอกจากประเด็น Carbon Risk ที่ขยับจากประเด็น New Frontier มาเป็น Main Stream ที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญแล้ว การที่ภาคธุรกิจจะสามารถขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนได้ จำเป็นต้องเท่าทันต่อการส่งสัญญาณของความเสี่ยงใหม่ๆ ทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม และประเด็นสังคมที่ ที่จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) จะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในหลายประเทศเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นแล้ว
“อีกหนึ่งหน้าทีสำคัญของ SET คือ การพยายามส่งสัญญาณเพื่อสร้าง Awareness และให้ความรู้พื้นฐานต่อความเสี่ยงใหม่ๆ ที่จะเข้ามากระทบการทำธุรกิจในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจเตรียมรับมือและปรับตัวได้ทัน รวมทั้งมีการพูดคุยและติดตามความเคลื่อนไหวภายใน Ecosystem เพื่อเร่งพัฒนามาสู่การมีกรอบในการขับเคลื่อน หรือแนวทางปฏิบัติให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นความท้าทายในการเชื่อมโยงการดำเนินงานของภาคธุรกิจเข้ากับ Impact ด้านความหลากหลายทางชีวภาพหรือประเด็นทางสังคมต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการชี้วัด ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อนำปัจจัยต่างๆ มาใช้ในการชี้วัดได้เช่นเดียวกับเรื่องของคาร์บอนทั้ง 3 สโคป ซึ่งเชื่อว่าจะมีความชัดเจนในอนาคตอันใกล้นี้”
ทั้งนี้ การให้ความสำคัญ ทั้งการสร้างความตระหนักรู้ต่อปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ การพัฒนาองค์ความรู้ หรือการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนความยั่งยืน (Sustainability) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการเตรียมความพร้อมให้ทั้งบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน รวมทั้งบุคลากรในตลาดทุนไทย สำหรับความท้าทายและโอกาสจากประเด็นด้านความยั่งยืนที่กลายเป็น New Norm ของการทำธุรกิจในอนาคต และยังเป็นประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามบริบทในสังคม ซึ่งอาจะเป็นความเสี่ยงใหม่ๆ ให้ภาคธุรกิจได้อยู่เสมอ
เช่นเดียวพัฒนาการด้านความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในตลาดทุนไทยมาตลอด 50 ปี ตั้งแต่ความตื่นตัวเรื่องธรรมาภิบาลในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นำมาสู่การให้ความสำคัญต่อประเด็น Corpoarte Governance และขยับมาสู่การทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) จนมาถึงปัจจุบันที่มีการขยายกรอบให้มากกว่าแค่เรื่องของธุรกิจ สู่การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ ESG (Environment, Social, Governance) ตามความกังวลต่อประเด็นเรื่อง Climate Chnage ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก และกลายเป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าอีกหนึ่งรูปแบบในการทำธุรกิจ
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้วางกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ ESG Strategy ผ่าน 4 แนวทาง ต่อไปนี้
– ESG In Action : ส่งเสริมการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนผ่าน Advisory Programs พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ เช่น Guidelines และ Manuals ต่างๆ
– ESG Investment : ส่งเสริมวัฒนธรรมการลงทุนอย่างยั่งยืนในตลาดทุน และพัฒนา ESG Products ที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุน
– ESG Tech and Infrastructure : พัฒนาระบบงานและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศ ESG เช่น ระบบ SET ESG Data Platform
– ESG Academy : ร่วมมือพันธมิตรเพื่อขยายความรู้และหลักสูตรด้าน ESG ในวงกว้าง พร้อมบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG สู่ตลาดทุน