ภารกิจการปั้นเมืองทองธานีให้เป็น ‘สมาร์ทซิตี้ ขณะนี้อยู่ในช่วงชักชวนสตาร์ทอัพ บริษัทนวัตกรรม เอสเอ็มอี ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในมิติต่างๆ เข้ามาช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้เมืองทองธานี เดินหน้าสู่เป้าหมายของการสร้างเมืองที่ยั่งยืน
การพัฒนานับจากนี้ จึงจะมีทั้งโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสิ่งที่ทำได้ และลงมือทำแล้ว
คุณพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโครงการเมืองทองธานี กล่าวว่า “แนวคิดการสร้างเมืองที่ยั่งยืนของเรา ไม่ซับซ้อน แต่ต้องทำได้จริง เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ทำได้ทันที”
หนึ่งในภาพที่ชัดเจน คือ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี หนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของ เมืองทองธานี
แต่ละปี อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีงานที่จัดขึ้นบนพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,000 งานต่อปี
มีโอกาสต้อนรับผู้คนจากทั่วโลก ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 10-15 ล้านคนต่อปี
“หากมองย้อนกลับไปในฐานะหนึ่งในผู้เล่นของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย เราถือเป็นข้อต่อสำคัญในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต แต่อีกมุม ต้องยอมรับว่า ธุรกิจของเราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างขยะให้แก่โลกใบนี้ ซึ่งปริมาณขยะที่สร้างขึ้นในแต่ละปี ผันแปรตามจำนวนอีเวนต์และผู้เข้ามาใช้บริการ เราตระหนักดีว่า เมื่อธุรกิจหลักของเราสร้างขยะ โจทย์ใหญ่ที่เราต้องขับเคลื่อนตามมาด้วยคือ เป้าหมายในการลดปริมาณขยะ และสามารถนำขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมนี้เข้าสู่กระบวนการนำกลับมาทำใหม่ให้เกิดประโยชน์ (Recycle) และนำกลับมาผลิตเป็นของใช้ใหม่ (Upcycle) ให้ได้มากที่สุด“
แต่โจทย์ที่ยากกว่า ก็คือจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร
“เราลองผิด ลองถูก จนเกิดเป็นโครงการต่างๆ มากมาย มีทั้งโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ และโครงการที่ทำแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีและดำเนินการต่อถึงปัจจุบัน อาทิ โครงการ ลด เลี่ยง เลิก รณรงค์ลดการใช้พลาสติก ซึ่งเริ่มจากตัวเองก่อน”
การเริ่มจากตัวเอง เช่น ฝ่ายจัดซื้อ ต้องจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ในร้านอาหารในเครือและธุรกิจจัดเลี้ยง
หลังจากนั้น ก็ได้ขยายความร่วมมือสู่พาร์ทเนอร์ต่างๆ ภายในศูนย์ฯ อย่างร้านค้า ร้านอาหาร ด้วยการรณรงค์ให้หันมาลดการใช้พลาสติก พร้อมเปลี่ยนมาใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ย่อยสลายได้ เปลี่ยนใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ไม่แจกหลอดดูดน้ำในร้านอาหาร ซึ่งช่วงแรกมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเพียง 66% ของร้านค้าทั้งหมด จากนั้นก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น ถึงปัจจุบันอาจจะไม่เต็ม100% ของร้านค้าทั้งหมด แต่เป็นไปในทิศทางที่ดี
โครงการคัดแยกขยะ ส่งเสริมการคัดแยกของเสียจากผู้ใช้บริการ โดยปรับเปลี่ยนถังขยะจากถังเดี่ยวเป็นถังขยะแยกประเภท และมีการจัดเก็บ คัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อกำจัดขยะแต่ละประเภทอย่างถูกวิธีและนำไปใช้ประโยชน์สูงสุด โดยในปี 2566 มีปริมาณขยะที่คัดแยกได้จากการจัดแสดงงาน เช่น ขวดพลาสติก กระดาษลัง ปี๊บสังกะสี ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม ซึ่งสามารถนำขยะไปรีไซเคิลได้มากกว่า 80,000 กิโลกรัม
ส่วนขยะที่เป็นเศษวัตถุดิบจากการปรุงและเศษอาหารจากการทานเหลือจำนวนมาก จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละงาน ก็ปรับเปลี่ยนสร้างคุณค่า ภายใต้โครงการ “ขยะเป็นศูนย์” (Zero Waste) ด้วยการนำเศษอาหารแปรรูปเป็นปุ๋ยด้วยเครื่อง Food Waste Composer ซึ่งปุ๋ยที่ได้ก็จะนำไปใช้บำรุงดินในแปลงผักออร์แกนิกและแปลงเพาะปลูกไม้ดอกไม้ประดับรอบเมืองทองธานี ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนขยะจากอาหาร ที่นำมาผ่านกระบวนการผลิตปุ๋ยได้มากกว่า 4,000 กิโลกรัม
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเชิญชวนลูกค้า ทั้งผู้จัดงาน ออแกไนเซอร์ ที่จัดงานที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เลือกแนวทางการจัดงานแบบยั่งยืน หรือ ลดการใช้อุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น ซึ่ง อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมรองรับการจัดงานแบบยั่งยืนทุกประเภท เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะ ลดปริมาณการปล่อย และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นทาง
เราเชื่อว่า ท้ายที่สุด หลักการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ อาจไม่มีสูตรสำเร็จ หรือสูตรตายตัว แต่เป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรต้องหาวิธีที่เหมาะสม หาสูตรที่ใช่กับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งเราก็ยังไม่หยุดตามหาเช่นกัน