บจ. ไทย ​​กว่าครี่งพร้อมเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก เพิ่ม​ขึ้น 30% พร้อมลด Emission โดยรวมลง​ได้ 6%

ข้อมูลจาก ESG Data Platform ระบุ บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ​​เปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก (GHG) เพิ่มมากขึ้น 30%  (ปี 2023 เทียบ 2022) พร้อมปล่อย GHG ลดลง 6%  สอดคล้องกับปริมาณการใช้ไฟ​สุทธิที่ลดลง แม้ภาพรวมการใช้ไฟเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยพบว่า ​บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ในปี 2023 ทั้งหมด 884 บริษัท มีบริษัทที่รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) 445 บริษัท (คิดเป็น 50.3% ของบริษัททั้งหมด) เพิ่มขึ้นจาก 342 ในปี 2022 หรือ​เพิ่มขึ้น 30% ขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยผู้ทวนสอบเพิ่มขึ้น 47% จาก 182 บริษัท ในปี 2022 เพิ่มเป็น 267 บริษัท ในช่วงสิ้นปี 2023

ขณะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รายงานผ่านระบบ ESG Data Platform จากปี 2023 อยู่ที่ 634 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ลดลงจากที่รายงานมาในปี 2022 ที่ 675 ล้านตัน CO2e หรือ​ลดลง 6.1% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อย GHG สูง ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มบริการ ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณการปล่อย GHG ยังสัมพันธ์กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย โดย บจ. ที่เปิดเผยข้อมูลการใช้ไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2021 ถึง 2023 แต่ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวมในปี 2023 กลับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับปริมาณการปล่อย GHG ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการ​ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายระดับประเทศ  ที่ต้องการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 ตามที่ประกาศไว้ใน COP 26 พร้อมวางโรดแม็พจนถึงปี 2030 ที่ต้องลด GHG Emission โดยรวมลงอีก 115.6 ล้านตัน CO2e จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

​​​

ทั้งนี้ การลดการปล่อยคาร์บอนของภาคธุรกิจ ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการลงทุนที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการดำเนินงาน และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท

ดังนั้น บริษัทควรตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังช่วยให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เข้มงวด และดึงดูดนักลงทุนที่มองหาการลงทุนที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

อย่างไรก็ดี บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ที่มีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นคิดเป็น 24% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ​และมีส่วนต่างระหว่าง เป้าหมายการปล่อยและปริมาณการปล่อย GHG จริงในปี 2023 อยู่ที่ 2.1 เท่า

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมมีจำนวนบริษัทที่มีการตั้งเป้าควบคุมการปล่อย GHG มากที่สุดได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี คิดเป็น 41% ของจำนวนบริษัทในกลุ่ม และหากพิจารณาส่วนต่างระหว่างเป้าหมายและปริมาณการปล่อย GHG ในปี 2023 ของกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ที่ 0.9% เท่านั้น

​ส่วน​กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อย GHG สูงอย่างเช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มบริการ มีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นค่อนข้างท้าทาย แสดงให้เห็นว่าบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวตระหนักถึงความสำคัญ และจำเป็นต้องเร่งจัดทำแผนงานการติดตามความคืบหน้าที่ชัดเจนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

Stay Connected
Latest News