eisa ชุมชนดีมีรอยยิ้ม และกลุ่มธุรกิจในเครือไทยเบฟ ร่วมกับ SIFE ลงพื้นที่กลุ่มแปรรูปอาหารบ้านบึงหล่ม ครั้งที่ 2

โครงการ Educational Instituted Support Activity (eisa), โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม, บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  โดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับชมรม Student in Free Enterprise (SIFE) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ลงพื้นที่บ้านบึงหล่ม หมู่ที่ 10 ตำบลถาวรวัฒนา อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร เป็นครั้งที่ 2

ในความร่วมมือพัฒนาช่องทางการตลาด การทำแบรนด์สินค้าแปรรูปภายใต้แบรนด์เดียวของชุมชน การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาสถานที่ทำพริกแกงให้มีความเหมาะสม การพัฒนาการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งทางคณะอาจารย์และนิสิตได้ดำเนินการวางแผนการทำงานโดยร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน  โดยในครั้งนี้เน้นไปที่ความร่วมมือ ในการออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์ การพัฒนาขนาดบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาช่องทางการตลาดและการขนส่ง มีรายละเอียดดังนี้

– การออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์ให้เป็นแบรนด์หรือสัญลักษณ์ของชุมชน ภายใต้สโลแกนที่ว่า “บึงหล่มร่วมใจ อุ่นไอจากป้า ส่งต่อคุณค่า และความหวังดี” เป็นการเผยถึงลักษณะภายในชุมชนที่มีความร่วมมือร่วมใจ สามัคคี ในการพัฒนาชุมชน ให้มีรายได้และเศรษฐกิจภายในชุมชนอย่างยั่นยืน อีกทั้งมีบรรยายหรือส่วนผสมของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพริกแกง ที่มีรายละเอียดครบถ้วน มีระบุช่องทางในการติดต่อสั่งซื้อผ่านออนไลน์ การเก็บรักษา วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมส่งเสริมชุมชน

– การพัฒนาขนาดบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากนิสิตของชมรม SIFE ได้มีการทำวิจัยทางการตลาดมาก่อนว่าได้แบ่งกลุ่มผู้บริโภคหรือลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่ใช้เครื่องแกงในการประกอบอาหารปริมาณมากและเป็นประจำทุกวัน เช่น กลุ่มภัตตาคาร ร้านอาหารตามสั่ง ครอบครัวขนาดใหญ่ และกลุ่มที่ใช้เครื่องแกงปริมาณน้อย เช่น ครอบครัวที่มีสมาชิกน้อย หรือคนโสด จึงได้พัฒนาแพคเกจออกมาหลายขนาด ทั้งขนาด 1000 กรัม  500 กรัม และ 100 กรัม เป็นต้น ตลอดจนการจัดหาวัสดุที่นำมาใช้บรรจุเครื่องแกงก็ต้องมีความทนทาน ไม่เสียหายง่ายในระหว่างการขนส่งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

– การพัฒนาช่องทางการตลาดและการขนส่ง ปัจจุบันกลุ่มแปรรูปอาหารบ้านบึงหล่ม ได้ทำการตลาดแบบ word of mouth คือจำหน่ายกันเองภายในครัวเรือนของสมาชิกที่รู้จัก และตลาดนัดประจำอำเภอในพื้นที่ ดังนั้นทางชมรม SIFE ภายใต้การนำของอาจารย์และนิสิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาแนะนำในการทำการตลาดออนไลน์ผ่านสื่อโซเชี่ยลช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งการ Live ขายของผ่านช่องทาง Facebook และการทำคลิปวีดีโอแนะนำผลิตภัณฑ์ขายผ่านช่องทาง Tiktok เป็นต้น ตลอดจนการขนส่งได้มีการแนะนำช่องทางในการขนส่งกับบริษัทขนส่งต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐาน มีการติดตามใบส่งสินค้า เลขที่ใบส่งสินค้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่ถูกต้องสินค้าไม่เสียหายหรือชำรุด

นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย คุณธงชัย ธรรมสุคติ ที่ปรึกษาด้านมวลชนสัมพันธ์ บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ​โรงงานเริ่มดำเนินการด้านมวลชนสัมพันธ์กับชุมชนตั้งแต่การรับซื้อผลผลิตคือต้นอ้อยจากชาวบ้านในชุมชนบริเวณรอบโรงงานเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาล โดยจะเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยที่ไม่ได้ผ่านการเผาแต่ใช้รถตัดอ้อย ซึ่งในกระบวนการนี้ มีทั้งให้สินเชื่อชาวบ้านในชุมชนสำหรับการซื้อรถตัดอ้อย หรือให้ชาวบ้านในชุมชนเช่ารถตัดอ้อยของโรงงานในราคาที่ถูก ด้วยลักษณะของโรงงานเราเป็นพื้นที่เปิด ดังนั้นเมื่อถึงฤดูกาลหีบอ้อยก็จะมีเรื่องของฝุ่น เรื่องอ้อยตกบริเวณถนน

ทางโรงงานจึงร่วมมือกับสมาคมไร่อ้อย และชุมชนบริเวณพื้นที่โดยรอบในการจัดการฝุ่นและทำความสะอาดพื้นที่ถนน โดยแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบร่วมกัน สำหรับในกระบวนการผลิตนอกจากการเอาอ้อยมาหีบ จะมีการนำกากอ้อย และใบอ้อย เศษขี้เถ้า หรือเศษวัสดุอื่นๆ ที่ได้จากการผลิต โดยส่วนนึงขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และอีกส่วนนึงนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน สำหรับส่วนที่เหลือคือบริจาคให้กับชุมชนบริเวณพื้นที่รอบโรงงานเพื่อนำใช้เป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยหรือปรับปรุงพื้นที่ทำการเกษตร นอกจากนี้แล้วโรงงานยังส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีอาชีพ โดยพนักงานในโรงงานของเราจะเป็นคนในพื้นที่ประมาณ 80% ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะมีความรู้สึกผูกพันและมีความเป็นเจ้าของร่วมด้วยกับโรงงาน  โรงงานมีแนวความคิด 3 หลัก ในการอยู่ร่วมกับชุมชนบริเวณพื้นที่รอบโรงงานร่วมอยู่ โดยโรงงานถือคติว่าโรงงานกับชุมชนอยู่กันแบบเป็นครอบครัวเดียวกัน ดังนี้

– หากมีงานบุญ งานประเพณีต่าง ๆ ในชุมชน ทางโรงงานก็เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป เช่นเข้าไปร่วมอำนวยความสะดวกในการจัดกิจจกรรม หรือการบริจาคน้ำ บริจาคเต้นท์

– ร่วมกันแก้ไข นอกจากจะเป็นครอบครัวเดียวกับชุมชนแล้ว หากชุมชนมีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำการเกษตร เช่นชาวบ้านมีปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้ในการเกษตร มีวัชพืชเข้าไปอุดตันทางเดินน้ำทำให้น้ำระบายไม่ได้เกิดปัญหาน้ำท่วม ทางโรงงานก็เข้าไปช่วยแก้ไขโดยการนำรถแบ็คโฮของโรงงานเข้าไปตักวัชพืชที่อุดตันทางเดินน้ำออก

– ร่วมกันพัฒนา คือการร่วมกันพัฒนาพื้นที่บริเวณชุมชน เช่นโรงเรียนต้องการปรับปรุงห้องน้ำหรือห้องประชุมของโรงเรียน ทางโรงงานก็เข้าร่วมโดยการจัดทำผ้าป่าโรงเรียน เป็นการระดมทุนระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง ชาวบ้านหรือผู้ประกอบการในชุมชน และโรงงานทำให้มีงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียน หรือหากชาวบ้านในชุมชนต้องการมีความรู้ในเรื่องพื้นฐานทางด้านงานช่าง หรือการประกอบอาชีพ ทางโรงงานก็จะส่งบุคลากร วิทยากร หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เข้าไปสอน

ด้านประธานกลุ่ม ผู้ใหญ่สมจิตร ชมดี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “รู้สึกขอบคุณทุกท่านที่ได้จัดโครงการดี ๆ แบบนี้มาพัฒนาชุมชนของเรา ซึ่งจากสิ่งที่ได้รับในครั้งนี้คือการได้พัฒนาในเรื่องการจัดทำบัญชีรายรับจ่ายของชุมชน การทำการตลาด การตั้งราคาผลิตภัณฑ์ การทำบรรจุภัณฑ์ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การขนส่ง การติดตามใบส่งสินค้า เลขที่ส่งสินค้า ทำให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่ถูกต้อง ขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นนำรายได้มาสู่ชุมชน ทั้งจากลูกค้าเก่าที่ซื้อตลอด และลูกค้าใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น“​ ผู้ใหญ่สมจิตร กล่าว

จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้โดย โครงการ Educational Instituted Support Activity (eisa), โครงการชุมชนดีมีรอยยิ้ม, บริษัท น้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จำกัด  โดยกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับชมนุม Student in Free Enterprise (SIFE) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการลงพื้นที่บ้านบึงหล่ม จังหวัดกำแพงเพชร ครั้งที่ 2 นี้ นับเป็นการต่อยอดในการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ของกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อันนำไปสู่เป้าหมาย “สร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข” ซึ่งเป็นพันธกิจของไทยเบฟ ที่ เชื่อมันว่า “การสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” เป็นการสร้างความยั่งยืนสู่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

Stay Connected
Latest News