ในฐานะผู้นำตลาดนมพาสเจอร์ไรส์ของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 60% รวมทั้งยังขยายตลาดเพิ่มเติมไปอีก 7 ประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว ซีพี -เมจิ ยังเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดนมพาสเจอร์ไรส์ของสิงคโปร์ และฮ่องกง อีกด้วย
ขณะที่การเติบโตทางธุรกิจ ในปี 2566 ที่ผ่านมา ซีพี-เมจิ มียอดขายประมาณ 12,200 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้ากว่า 12% และคาดว่าจะโตเพิ่มขึ้นได้อีกราว 5% ในปีนี้ หรือทำยอดขายได้ 12,700 -13,000 ล้านบาท ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซีพี-เมจิ เติบโตได้แล้ว 17.7% เทียบกับตลาดที่เติบโต 11.8% ซึ่งเป็นการเติบโตได้มากกว่าตลาดและช่วยเพิ่มแชร์ให้สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากความแข็งแกร่งในการรักษาผู้นำทางธุรกิจ ด้วยคุณภาพและการพัฒนานวัตกรรมสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภคอยู่เสมอ ซีพี-เมจิ ยังให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ขององค์กรเรื่องการ “เพิ่มคุณค่าชีวิต” (CP-Meiji Enriching Life) ผ่านการพัฒนาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวตลอดทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
วางกรอบ ESG ขับเคลื่อนโรดแม็พ 2030
คุณสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวถึงการวางกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง ‘เพิ่มคุณค่าชีวิต’ หรือ ‘Enriching Life’ มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และครอบคลุมตามกรอบ ESG (Environment, Social, Governance) โดยได้ประกาศแผนงาน นโยบาย รวมท้ังเป้าหมายที่ต้องบรรลุในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ตามโรดแม็พ 2030 ในแต่ละมิติดังต่อไปนี้
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)
มุ่งขับเคลื่อนผ่านแกนสำคัญ ทั้งการับมือต่อปัญหา Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ในปี 2050 เช่นเดียวทิศทางของกลุ่มซีพีเอฟ พร้อมเป้าหมายระหว่างทางโดยเฉพาะการบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2030 และมิติอื่นๆ เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30%, ลดการใช้น้ำ 25%, ลดการเกิดขยะฝังกลบ 25% จากกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และ operation รวมทั้งการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้การลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรราว 300 -400 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าให้บรรจุภัณฑ์ทั้ง 100% สามารถกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable) โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ได้ริเริ่มโครงการ ‘ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น’ เพื่อรณรงค์แยกขยะพลาสติกขวดขุ่น เพื่อรวบรวมและนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นถังขยะ ส่งมอบให้ชุมชนและอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสระบุรี โดยปีนี้จะต่อยอดโครงการจากกลุ่มผู้บริโภค มาสู่กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจกาแฟ
พร้อมทั้งขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และการดูแลระบบนิเวศ ผ่านโครงการปลูกป่า 1,ooo ไร่ ภายใต้ MOU กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช วางแผนปลูกต้นไม้สองแสนต้น ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีและใกล้เคียงซึ่งถือเป็นชุมชนโดยรอบโรงงาน โดยปัจจุบันปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 52,000 ต้น บนพื้นที่ 260 ไร่ และมีเป้าหมายในการปลูกให้ได้รวม 74,000 ต้น บนพื้นที่ 370 ไร่ในปี 2567
ด้านสังคม (Social)
ขับเคลื่อนผ่านเรื่องของคน โดยเฉพาะ การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้บริโภค ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และปลอดภัย โดยตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์ 70% ได้รับรองมาตรฐาน Healthier Choice Certificate และตรวจสอบย้อนกลับได้ 100% รวมท้ังพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งอยู่บนพื้นฐานการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงระดับศูนย์รับน้ำนมดิบในกรณีมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น
ขณะที่ การดูแลคุณภาพชีวิตชุมชนรอบโรงงานใน จ.สระบุรี ได้มีการจัดตั้งโครงการต่างๆ ทั้งการพัฒนาทักษะเด็กๆ อย่าง “Innovative Education” ที่มุ่งส่งเสริมด้านการศึกษา และ “ Fit to the Height” สำหรับการดูแลด้านโภชนาการ รวมทั้งการจัดทำศูนย์เรียนรู้ Robotics & Coding พร้อมมอบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียน ตลอดจนจัดแคมป์อบรมหุ่นยนต์ให้กับครูและนักเรียน สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษา 4.0 ของกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมโภชนาการผ่านหลัก 3 อ. อาหาร ออกกำลัง และอารมณ์ โดยจัดแผนโภชนาการและการออกกำลังที่เหมาะสม สนับสนุนผลิตภัณฑ์นมหลากหลายเพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยมีการติดตามพัฒนาการ ผ่านการเก็บข้อมูลดัชนีมวลกายของนักเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงสร้างโรงผลิตน้ำดื่มสะอาดได้มาตรฐาน อย. และมอบให้เป็นสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
ด้านเศรษฐกิจและธรรมาภิบาล (Governance)
เพื่อมุ่งสร้างคุณค่าและการเติบโตร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว กลุ่มพันธมิตรภายในซัพพลายเชน ตลอดจนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ
โดยในส่วนเกษตรกรมีเป้าหมายบริหารจัดการน้ำนมดิบและสวัสดิภาพสัตว์ โดยตั้งเป้าให้ 100% ของฟาร์มโคนมผู้ส่งน้ำนมดิบต้องผ่านมาตรฐานคุณภาพระดับ Gold Standard รวมทั้งมุ่งส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยจัดการอบรมและให้ความรู้เชิงวิชาการ ผนวกกับการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรุ่นใหม่ รวมทั้งการทำ Roadmap การจัดการฟาร์ม เพื่อให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพและปริมาณตามมาตรฐาน ภายใต้ MOU กับทีมนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ จะมุ่งเข้าไปส่งเสริมเสริมและพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะธุรกิจกาแฟ ด้วยการยกระดับความรู้ความสามารถของบุคลากรหรือ บาริสต้า ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น CP-Meiji Speed Latte Art Championship การแข่งขันกาแฟด้านลวดลายและรสชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย, CP-Meiji Barista Camp ค่ายพัฒนาบาริสต้าแบบเข้มข้น โดยกรรมการและแชมป์โลกทั้งด้านบาริสต้าและด้านลาเต้อาร์ต เพื่อมุ่งสู่การเป็นมืออาชีพระดับสากล รวมไปถึงการสร้าง Team Avenger หรือทีมบาริสต้าตัวแทนประเทศไทยเพื่อลงแข่งและสร้างชื่อเสียงในเวทีแข่งขันระดับนานาชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเป็นพันธมิตรอันดับ 1 ของบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจที่ต้องใช้นมเป็นส่วนประกอบ
“ตลอด 35 ปี ที่ผ่านมา ซีพี-เมจิ รักษาความแข็งแกร่งในตลาดมาได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างการเติบโตได้กว่าเท่าตัว จากยอดขายราว 5 พันล้านบาทต่อปี จนขยับมาแตะเป็นหลักหมื่นล้านได้ในปัจจุบัน มาจากการวางกลยุทธ์ที่มองการสร้างประโยชน์จากการทำธุรกิจมากกว่าแค่กลุ่มผู้ถือหุ้น แต่มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับท้ัง Stakeholders เพื่อทำให้ทุกคนแข็งแรง เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งในระบบนิเวศอ่อนแอก็จะกระทบมาถึงความมั่นคงของธุรกิจด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง การส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มบาริสต้า รวมไปถึงการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค และชุมชนโดยรอบ”
นอกจากนี้ ในฐานะที่อุตสาหกรรมนมพร้อมดื่ม มีธุรกิจต้นน้ำอยู่ในกลุ่มปศุสัตว์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งกลุ่มหลักที่สร้างก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก ซีพี-เมจิ และถือเป็นผู้ประกอบการหลักในอุตสาหกรรมจึงมีความพยายามการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งขององค์กร มาใช้ในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว โดยให้ความสำคัญในการศึกษาพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาอาหารสัตว์ เพื่อให้วัวกินแล้วลดการผายลม หรือเรอ เพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือบางประเทศสามารถพัฒนาได้แล้ว ซึ่งทางซีพี- เมจิ รวมทั้งกลุ่มซีพีเอฟ ก็ให้ความสนใจ ในการศึกษาวิจัย เพื่อต่อยอด เพื่อนำมาปรับใช้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวชาวไทย ซึ่งอยู่ในซัพพลายเชน และถือเป็นสโคปที่ 3 ของบริษัท ในการคำนวณ GHG Emission
แต่การนำมาใช้งาน ไม่สามารถมองแค่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะยังต้องคำนึงถึงเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ประกอบด้วย ทั้งรสชาติอาหาร ปริมาณสารอาหาร ควบคู่ไปกับฟังก์ชั่นที่ต้องการ รวมทั้งราคาของอาหารสัตว์ที่จะกลายเป็นภาระและต้นทุนให้กับทางเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทรวมทั้งบริษัทแม่และบริษัทในเครือให้ความสำคัญในการศึกษา รวมทั้งติดตามรายงานผลวิจัยจากทั่วโลกเพื่อมาเป็นข้อมูลประกอบในการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และเชื่อว่าในอนาคตจะมีพัฒนาการในเรื่องดังกล่าวนี้ให้ได้เห็นอย่างแน่นอน