กลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะองค์กรกลุ่มค้าปลีกที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นภาคค้าปลีกรายแรกของประเทศไทย ที่มีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจังผ่านโครงการ Say No to Plastic Bag ด้วยการไม่แจกถุงพลาสติกภายในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าภายในเครือมาตั้งแต่ปี 2551
รวมถึงการมุ่งมั่นให้ธุรกิจเข้าไปมีบทบาทช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจทั้งของกลุ่มเซ็นทรัลเอง รวมทั้งบริษัทในเครือแต่ละแห่ง เพื่อสามารถส่งต่อการช่วยเหลือและดูแลได้ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงชุมชนและสังคมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050
หากแบ่งรูปแบบการขับเคลื่อนในมิติการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบกว้างๆ ทางกลุ่มเซ็นทรัลจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนจากในมิติของต้นน้ำ โดยเข้าไปดูแลความอุดมสมบูรณ์ และส่งเสริมความหลากหลายให้กับระบบนิเวศในบริเวณที่เป็นแหล่งต้นน้ำ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแนวร่วมเข้ามาช่วยดูแลสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่ ควบคู่กับการเข้าไปมีส่วนช่วยยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านทักษะการทำเกษตรอย่างยั่งยืน หรือส่งเสริมอาชีพที่สอดคล้องกับจุดเด่นหรืออัตลักษณ์ในชุมชน เพื่อต่อยอดสู่การสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งและยั่งยืน ด้วยการนำมาจำหน่ายผ่านช่องทางทั้งของพันธมิตรและร้านค้าภายในเครือข่ายที่มีอยู่หลากหลาย
ขณะที่บริษัทในเครือ ทั้งในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อย่าง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN กลุ่มธุรกิจค้าปลีกอย่าง บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC และในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการอย่าง บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ Centara จะมุ่งเน้นขับเคลื่อนในส่วนของกลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งผ่าน Operation ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสามารถลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการรณรงค์ผ่านลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการทั้งในรูปแบบการ Educated, การจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม เพื่อบ่มเพาะและปรับเปลี่ยนลูกค้าให้มีพฤติกรรมที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวถึงบทบาทการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของทางกลุ่มจะดำเนินผ่านโครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ’ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนผ่านปัญหาสำคัญอย่างเรื่องของสภาพอากาศ (Climate Change) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญในอนาคตของทั้งโลก รวมทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและบริษัทในเครือ
“การดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของเซ็นทรัล ทำ เน้นแก้ 2 ปัญหาสำคัญคือ การฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม รวมทั้งป้องกันและหยุดยั้งการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยมีโครงการที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอย่างโครงการ Love The Earth ซึ่งมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุม 5 หมื่นไร่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่การทำการเกษตรแบบยั่งยืน ที่ปัจจุบันมีราวๆ แค่ 1% ของพื้นที่การทำเกษตรทั้งหมด ให้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ตามเป้าหมายของทั้งประเทศ ทั้งในรูปแบบการเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ หรือการแนะนำการปลูกพืชเชิงเดี่ยวของเกษตรมาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ หรือเพิ่มการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่มีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย รวมทั้งเชื่อมโยงมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้คนในพื้นที่ จากการเข้าไปต่อยอดด้านการตลาด หรือการพัฒนาสินค้าภายในท้องถิ่น หรือการแปรรูปให้ตรงกับสิ่งที่ตลาดต้องการ ทำให้ช่วยเชื่อมโยงทั้งการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในบริเวณต้นน้ำ รวมถึงช่วยสร้างความแข็งแรงให้ชุมชนและผู้คนในพื้นที่ตามมาด้วยในที่สุด”
ขณะที่การขับเคลื่อนของบริษัทในเครือ จะเข้ามาเสริมในส่วนของกลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการ การสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดใช้ทรัพยากรทั้งในกระบวนการผลิตหรือใน Operation ต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามศูนย์การค้าหรืออาคารต่างๆ ภายในเครือ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ระขนส่งไฟฟ้า สำหรับการกระจายสินค้าต่างๆ ภายในเครือ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
โดยปัจจุบัน กลุ่มค้าปลีกอย่าง เซ็นทรัล รีเทล ขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านกลยุทธ์ ReNEW ผ่าน 4 แนวทาง ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Reduce GHG Emission) ผ่านการใช้รถไฟฟ้า 22 คันในการขนส่งหรือติดตั้งอุปกรณ์ทำความเย็นแบบอนุรักษ์พลังงานในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว 777 แห่งทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในธุรกิจแล้ว 12% การสร้างสังคมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Navigate Environmental Responsibility) ทั้งการขับเคลื่อนภายในผ่านพนักงานในองค์กรรวมทั้งการขับเคลื่อนร่วมกับคู่ค้าทางธุรกิจ ส่งเสริมสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-freindly Materials) โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งการใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้แล้ว 28% และ การบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ (Waste Management Solutions) ผ่านการทำงานร่วมกับกลุ่ม Green Partnership เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลดขยะภายในกระบวนการทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ
สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อย่าง เซ็นทรัลพัฒนา ให้ความสำคัญกับการสร้าง Sustainable Ecosystem ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางในการใช้ชีวิตของผู้คน ผ่านการพัฒนา Better People และ Better Planet เพื่อสร้างพื้นที่การใช้ชีวิตที่ยั่งยืนพร้อมส่งมอบ Positive Impact ให้กับผู้เข้ามาใช้บริการในแต่ละวันไม่ต่ำกว่าหลักล้านคน ผ่านทุก Touchpoint ที่ได้เข้าไปมีเกี่ยวข้อง ทั้งคู่ค้า พันธมิตร รวมทั้งลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์ และในทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโครงการตามแนวทาง Zero Waste หรือการออกแบบอาคาร หรือติดตั้งอุปกรณ์เพื่อสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้แล้วกว่า 80% ของโครงการศูนย์การค้าทั้งหมด ผลิตไฟได้มากกว่า 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นถึง 188% จากปี 2019 โดยตั้งเป้าติดตั้งเพิ่มให้ครบทุกโครงการภายในปีหน้า พร้อมเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดให้มากที่สุด จากปัจจุบันมี EV Charging แล้วกว่า 400 ช่องจอด ในศูนย์การค้า 40 แห่ง 19 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงการขับเคลื่อน Green Partnership ร่วมกับร้านค้าภายในอาคาร ในการช่วยลดและคัดแยกขยะ ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบลงได้ถึง 60 ตัน รวมทั้งลดการใช้พลังงานลงได้ 719 เมกะวัตต์ ซึ่งจะยกระดับเพิ่มมากขึ้นในปีนี้
ส่วนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการอย่าง เครือเซ็นทารา ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างมาก จึงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนในมิติของการดูแลและเพิ่มความหลากหลายทางธรรมชาติ ซึ่งจากผลวิจัยพบว่าประเทศไทยมีการใช้ทรัพยากรที่มีไปแล้วมากกว่า 85% หากไม่เร่งฟื้นฟูจะส่งผลให้เกิดความล่มสลายได้ในอนาคต ขณะที่การขับเคลื่อนของเซ็นทาราจะคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการพยายามรักษาสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศภายในพื้นที่เอาไว้ เพื่อรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งปัจจุบันโรงแรมมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวทั้งหมด 37% ของพื้นที่โครงการทั้งหมด และได้ขับเคลื่อน Green Area เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น การสร้างต้นแบบฟาร์มออแกนิกส์ภายในพื้นที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง หรือการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังรอบโรงแรมในมัลดีฟส์ ซึ่งได้ปลูกไปแล้วรวมกว่า 1 พันกิ่ง รวมทั้งร่วมปลูกต้นไม้ 1009 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในโรงแรมและพื้นที่สาธารณะรอบโรงแรมทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มาเข้าพัก เพื่อสร้างทัศนคติในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และประหยัดการใช้พลังงานซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้มาเข้าพัก นอกจากนี้ เซ็นทารายังถือเป็นกลุ่มโรงแรมแรกของไทย ที่ได้รับการรับรองมตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน GSTC (Global Sustainable Tourism Council) โดยปัจจุบันมีโรงแรม 24 แห่ง ที่ได้รับรองมาตรฐานนี้แล้ว ซึ่งตามเป้าหมายจะทำให้โรงแรมทุกแห่งในเครือได้รับมาตรฐานทั้ง 100% ภายในปี 2025