ความมุ่งมั่นสำคัญของ AIS หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) คือการก้าวสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ที่สามารถขยายโครงข่าย Digital Infrastructure ให้ตอบโจทย์ได้มากกว่าแค่มิติด้านการสื่อสาร แต่ยังเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (Drive Digital Economy) ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไทยได้ในทุกด้าน (Promote Digital Inclusion) รวมทั้งมีส่วนดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมกัน (Act on Climate)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ยังคงมีพื้นที่อีกหลายแห่งจัดอยู่ในถิ่นทุรกันดารและด้อยโอกาส ซึ่งบริการสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือบริการด้านโทรคมนาคมยังเข้าไปไม่ถึง สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำแก่ผู้คนในพื้นที่ ทั้งโอกาสด้านการศึกษา สุขภาพ รวมทั้งข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ ทำให้กระทบต่อรายได้ คุณภาพชีวิต รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่มาถึงปัญหาสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมโดยรอบอีกด้วย
‘รัฐ – เอกชน’ ผนึกจุดแข็ง ต่อจิ๊กซอว์แห่งโอกาส
นำมาสู่ความร่วมมือของสองผู้นำภาคเอกชนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF องค์กรชั้นนำด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืนระดับภูมิภาค และ AIS ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิทัลชั้นนำของไทย รวมทั้งอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาพื้นที่สูงมากว่า 30 ปี เพื่อผนึกจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของทั้ง 3 องค์กร มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมเพิ่มโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ
ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ ‘Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย’ เพื่อร่วมกันขยายการเข้าถึงไฟฟ้าและสัญญาณโทรคมนาคมจากพลังงานสะอาด ที่ไม่เพียงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งโอกาสที่ดีขึ้นในด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และทางเลือกที่มากขึ้นในการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน พร้อมทั้งยังมีส่วนช่วยลดมลพิษและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลงได้ด้วย
คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS, คุณธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ GULF และ คุณชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สวพส. เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการผนึกจุดแข็งของทั้ง 3 องค์กร เพื่อร่วมกันสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ห่างไกล และยังไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานได้โดยสะดวกเหมือนพื้นที่อื่นๆ ผ่านการเข้าไปติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ และเสาสัญญาณเครือข่ายพลังงานสะอาด เพื่อเชื่อมต่อโลกแห่งโอกาสและองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น
ภายใต้ฐานข้อมูลจากการทำงานอย่างใกล้ชิดในแต่ละพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องของ สวพส. จึงทราบถึงความต้องการและความเดือดร้อนที่ผู้คนในชุมชนต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้ภาคเอกชนอย่าง GULF และ AIS นำมาใช้ประเมินเบื้องต้นก่อนเข้าไปช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งลดอุปสรรคในการดำเนินโครงการช่วงเริ่มต้นลงได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่และหาข้อมูลเบื้องต้นต่างๆ รวมทั้งการประสานงานและทำความเข้าใจ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างคณะทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่
โดยโครงการเริ่มนำร่องแล้วใน 2 พื้นที่ ของจังหวัดตาก คือ ชุมชนบ้านดอกไม้สด และ ชุมชนบ้านมอโก้โพคี ซึ่งเป็นพื้นที่ดอยสูงของชาวปะกาเกอะญอ และต่างเป็นพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนไฟฟ้าและระบบสาธารณสุข รวมทั้งมีปัญหาในการเข้าถึงระบบการศึกษา เพราะการเดินทางทั้งในยามเจ็บป่วย หรือการส่งเด็กๆ ไปโรงเรียนล้วนสร้างความยากลำบากเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กส่วนใหญ่ในทั้งสองชุมชนขาดโอกาสทางการศึกษา และหากคนในพื้นที่ไม่เจ็บป่วยรุนแรงก็เลือกที่จะดูแลสุขภาพกันเองที่บ้าน รวมไปถึงการติดต่อสื่อสารกับคนนอกพื้นที่ก็ขาดความสะดวกและไม่ทันการณ์ เพราะต้องออกไปนอกพื้นที่ที่มีการติดตั้งโทรศัพท์ หรือใช้วิธีฝากจดหมายต่อๆ กันไป
นอกจากนี้ อาชีพหลักของชาวบ้านทั้งสองพื้นที่ยังเป็นการทำเกษตร ด้วยการปลูกพืชไร่หมุนเวียน โดยเฉพาะข้าวโพด ซึ่งมักจะมีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง รวมถึงการเผาหลังเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดมลพิษ และปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ และยังเป็นสาเหตุของ Climate Change ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและเกิดโลกร้อนด้วย
การขับเคลื่อนโครงการ Green Energy Green Network for THAIs ครั้งนี้ จึงไม่ใช่แค่การเข้าไปติดตั้งไฟฟ้าหรือเสาสัญญาณเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้นด้วยระบบการศึกษาทางไกล โอกาสมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากระบบสาธารณสุขทางไกล รวมทั้งโอกาสทางอาชีพที่เปิดกว้าง จากการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านอาชีพใหม่ๆ รวมทั้งช่วยด้านการตลาดและช่องทางจำหน่าย ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยลดพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยให้ลดลง รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าได้มากขึ้น โดยใช้พื้นที่เท่าเดิมหรือน้อยลง จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการคืนพื้นที่ป่า ด้วยแนวคิด ‘เสาแลกป่า’ ซึ่งในช่วงนำร่องนี้ สามารถทำข้อตกลงในการคืนพื้นที่ป่าจากชาวบ้านได้แล้วราว 1 พันไร่ และคาดว่าจะเพิ่มพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้นตามการขยายพื้นที่ของโครงการในอนาคต
เร่งประเมินผลเชิงบวก ก่อนขยายผลทั่วประเทศ
ความร่วมมือจาก 3 องค์กรครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกขึ้นในพื้นที่ด้อยโอกาสทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนโครงการต่อเนื่องในระยะยาวช่วง 5 ปีนับจากนี้ ขณะที่จำนวนพื้นที่ด้อยโอกาสในประเทศไทย ตามข้อมูลของ สวพส. พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 2 พันแห่งทั่วประเทศ
และเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการช่วยเชื่อมโยงการเข้าถึงโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้ลดน้อยลงได้ตามเป้าหมายที่แท้จริง โครงการ Green Energy Green Network for THAIs จะทำการประเมินผลตามหลัก SIA (Social Impact Assessment) เพื่อวัดผลกระทบโครงการอย่างรอบด้านและจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของไฟฟ้า หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ติดตั้ง หรือการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทย ทั้งมิติในการ เข้าถึงการศึกษา หรือมีความรู้ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ สุขภาพดีขึ้นหรือเจ็บป่วยน้อยลงหรือไม่ รวมทั้งอาชีพที่หลากหลายและรายได้ที่สูงขึ้น รวมถึงผลกระทบด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม การเกิดมลพิษต่างๆ ที่ลดน้อยลงในพื้นที่ เป็นต้น
พร้อมทั้งจะนำผลการประเมินที่ได้มาเป็นแนวทางการพิจารณาเพื่อขยายผลสู่การดำเนินโครงการในพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มเติมให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยตามแผนจะขยายเพิ่มเติมในอีก 3-4 จังหวัด ทั้งภาคเหนืออย่าง ตาก ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย รวมทั้งภาคใต้เช่น พังงา เป็นต้น ซึ่งการเลือกขยายพื้นที่เพิ่มเติมจะพิจารณาในหลายๆ ปัจจัย ทั้งความรุนแรงของปัญหา รวมทั้งความพร้อมและความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งการวางเป้าหมายนอกจากการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาสในพื้นที่แล้ว ยังต้องการเพิ่มความเข้มแข็งให้ชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน เช่น การมีองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้รับการยอมรับ หรือสามารถขยายตลาดไปอยู่ในห่วงโซ่ของแบรนด์ระดับประเทศอย่าง คาเฟ่อมเซอน โอ้กะจู๋ หรือพืชผักเกษตรอินทรีย์ของโครงการหลวง เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องและเปิดกว้างเพิ่มขึ้นในอนาคต
โครงการ ‘Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย’ จึงถือเป็นหนึ่งต้นแบบการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจไทย ในการผนึกความร่วมมือระหว่างพันธมิตรเพื่อนำศักยภาพและจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาร่วมกันสร้างประโยชน์ในการดูแลด้านสิทธิมนุษยชน แก้ปัญหาทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการเติบโตร่วมกันของผู้คน ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน