ความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food security เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกสนใจ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ SDGs Goal ของสหประชาชาติ เพื่อขจัดความหิวโหย และมุ่งสู่ Zero hunger
จากรายงานพบว่า ประชากรทั่วโลกราว 1 ใน 4 หรือกว่า 258 ล้านคน ใน 58 ประเทศ หรือ 22.7% คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหาร ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร จะมีปัญหาสูญเสียอาหารระหว่างกระบวนการผลิตและปัญหาขยะอาหาร (Food loss และ Food waste) โดยอาหารที่ผลิตขึ้นมา 1 ใน 3 จะถูกทิ้งกลายเป็นขยะอาหาร หรือมีปริมาณกว่า 2.5 พันล้านตันต่อปี
ปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากส่งผลต่อปริมาณอาหารที่หายไปจากระบบแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากขยะอาหารเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
เป็นที่มาของการจัดตั้ง ‘ธนาคารอาหารของประเทศไทย’ (Thailand’s Food Bank) เพื่อสร้างโมเดลการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) ช่วยลดปริมาณขยะอาหารและ Carbon Emission สาเหตุของปัญหาสภาพอากาศและโลกร้อน และยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาลอีกด้วย ภายใต้ความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนหลายส่วน ทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มูลนิธิ SOS ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณนำร่องเพื่อเริ่มต้นขับเคลื่อนโครงการจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สร้าง Food Security Ecosystem
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีประชากรกลุ่มเปราะบางซึ่งมีแนวโน้มประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารอยู่ราว 3.8 ล้านคน ซึ่งทาง สวทช. ในฐานะผู้ดูแลการขับเคลื่อนนโยบาย BCG ในกลุ่มอาหาร จึงเข้ามาจับมือกับทุกภาคส่วนใน Ecosystem เพื่อร่วมสร้างต้นแบบบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ของประเทศไทย ผ่านการต้ัง ‘ธนาคารอาหารของประเทศไทย’ เพื่อสร้างโมเดลในการขยายผลการบริหารจัดการได้ทั่วประเทศในอนาคต รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกิน เพื่อช่วยลดปริมาณขยะอาหาร เพื่อขับเคลื่อนทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่ไปกับการลดการปลดปล่อยพ๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหาสภาพอากาศของประเทศไปพร้อมกัน
ด้าน คุณปัทมาพร ประทุมรัตน์ นักวิจัยนโยบาย และหัวหน้าโครงการ Thailand’s Food Bank สวทช. กล่าวว่า ทาง สวทช. จะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของ SOS เพื่อขับเคลื่อนโมเดลด้าน Operation ให้กระจายไปพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้มากขึ้น ซึ่งเบื้องต้น จะขยายเพิ่มเติมจากเครือข่าย SOS ที่มีฐานปฏิบัติงานใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต หัวหิน และเชียงใหม่ โดยตั้งเป้าเพิ่มพืนที่อีก 10 จังหวัด ภายในปี 2569 โดยนำร่องในจังหวัดนครสวรรค์ ผ่านการทำงานร่วมกับ Local Food Rescue และขยายโมเดลการจัดการไปสู่พื้นที่ภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่น ขณะเดียวกันจะสนับสนุนการวางแนวปฏิบัติด้านอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) เพื่อรักษามาตรฐานของอาหารให้มีความปลอดภัยจนถึงมือผู้รับบริจาค รวมไปถึงการพัฒนาชุดตรวจเพื่อทดสอบความปลอดภัยของอาหารที่ต้องนำไปบริจาค รวมถึงการสนับสนุนให้มีผู้เข้ามาสนับสนุนโครงการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อศึกษาเงื่อนไขและแนวทางในการขอสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีให้ผู้บริจาคอาหารส่วนเกินเช่นเดียวกับการบริจาคทางสาธารณกุศลต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อน
“สิ่งที่ต้อง Educated เพิ่มเติมคือ การทำความเข้าใจกับคำว่า Food Surplus ให้ถูกต้องว่ายังคงเป็นอาหารที่มีคุณภาพ และสามารถส่งต่อได้ แทนการนำอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมาแล้วไปทิ้งหรือทำลายอย่างสูญเปล่า หรือบางครั้งอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการ ขณะเดียวกัน ยังช่วลดปัญหาสภาพอากาศ ซึ่งการจัดตั้ง Thailand’s Food Bank เป็นหนึ่งในโซลูชั่นส์ที่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้อย่างลงตัว และความร่วมมือของทุกฝ่ายในครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้ Ecosystem แข็งแกร่งและมีความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการสร้างมาตรฐานในกาวางระบบการจัดการข้อมูล รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารที่จะนำไปบริจาค ตั้งแต่ขั้นตอนการรับอาหาร การเก็บรักษาอาหาร การขนส่ง การแจกจ่ายอาหาร หลักปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เช่น การแช่แข็งอาหารส่วนเกินและติดฉลากใหม่ การระบุวันที่และระยะเวลาที่แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและการควบคุมอันตราย เช่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ หลักปฏิบัติในการเตรียมอาหาร เช่น การทำละลายอาหารแช่แข็ง การทำให้สุก การทำให้เย็น การอุ่นร้อน การรักษาความปลอดภัยอาหารระหว่างขนส่ง ตลดจนจะต่อยอดด้านการบริหารข้อมูลด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม Matching เพื่อพัฒนาระบบกลางเพื่อจัดการระหว่างผู้ที่ต้องการอาหาร และปริมาณอาหารที่มีอยู่ในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
SOS เร่งเสริมแกร่ง Food , Funding , Volunteers
ด้าน คุณทวี อิ่มพูลทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิ SOS มุ่งมั่นที่จะลดปัญหาขยะอาหารและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการกอบกู้อาหารส่วนเกินจากผู้ผลิตอาหารในเครือข่ายของหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งเป็นผู้บริจาคอาหาร และนำอาหารเหล่านี้ส่งต่อให้กับเครือข่ายผู้รับบริจาคอาหาร ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ซึ่งกระบวนการกู้ภัยอาหารและการส่งต่ออาหาร ได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนเอกชนผู้ผลิตอาหารในการร่วมกันดำเนินงานกู้ภัยอาหารจากบริจาคอาหาร ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรับบริจาคอาหารที่ร่วมกับผู้นำชุมชน ปัจจุบันมูลนิธิได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.3 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็น 35 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ มากกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำอาหารไปฝังกลบถึง 21,166 ตัน
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรมแล้วกับโครงการ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้มีการนำแพลตฟอร์มแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติของ สวทช. มาใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์ม Cloud Food Bank (CFB) แพลตฟอร์มองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ
“ความร่วมมือกันเพื่อจัดตั้ง Thailand’s Food Bank ครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยผลักดันทัศนคติที่ดีมากขึ้นต่อการบริจาคอาหารในประเทศไทย ทั้งจากกลุ่มผู้รับ และกลุ่มผู้ให้ ขณะที่ปริมาณอาหารส่วนเกินจะถูกจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งการขยายแนวร่วมไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จากการผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่ายที่เข้ามาร่วมมือกัน เพื่อขยายผลและสื่อสารสู่สังคมในวงกว้าง ให้เกิดความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกินและกระบวนการบริจาคอาหาร ส่งเสริมให้มีการดำเนินงานเพื่อลดการเกิดขยะอาหารและสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไปด้วยกัน”
ทั้งนี้ทาง SOS ยังต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนใน 3 รูปแบบสำคัญ ประกอบด้วย
1. การสนับสนุนอาหาร (Food) เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารสำหรับแจกจ่ายให้กลุ่มเปราะบางได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันยังมีกลุ่มผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือผู้ผลิตอาหารที่ยังมีอาหารส่วนเกินในระบบ ที่สามารถเข้ามาร่วมมือกับทางโครงการได้อีกจำนวนมาก
2. การสนับสนุนด้านงบประมาณ (Funding) เนื่องจากในการกระจายอาหารสู่ผู้รับบริจาคมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการความช่วยเหลือที่มีเพิ่มเข้ามามากขึ้น ขณะที่รถห้องเย็นในการนำไปบริจาค ยังมีจำกัด รวมทั้งมีแผนสร้างแวร์เฮ้าส์เพื่อเป็นจุดกระจายสินค้า ซึ่งต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม
3. กลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครหรือจิตอาสา (Voluteers) เพื่อมาเป็นตัวกลางในการช่วยงานด้าน Operation ในการจัดการ Surplus Food ไปสู่ผู้ที่ต้องการ โดยปัจจุบันทางมูลนิธิมีทีมงานใน กทม. 20 คน และทั่วประเทศรวม 30 คน ซึ่งยังถือว่าขาดแคลน แต่ยังมีความช่วยเหลือจากทางชุมชนบางแห่งที่เคยได้รับการสนับสนุนที่มีรถและทีมงานมาช่วยด้านโอเปเรชั่น รวมทั้งบริษัทเอกชนบางรายที่นำอาหารที่ต้องการบริจาคมาให้กับทางมูลนิธิเอง ทำให้ช่วยลดต้นทุนและกำลังคนในการจัดการลงได้จำนวนหนึ่ง
สำหรับโครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะประชาสัมพันธ์การดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการอาหารส่วนเกิน ให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน และเชิญชวนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมสร้างสังคมไร้ขยะอาหาร โดยนำร่องที่ชุมชนย่านลาดพร้าว เพื่อให้เห็นต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหาร เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย
ภายในงาน ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินในลักษณะธนาคารอาหาร ทั้งในมุมประสบการณ์กอบกู้อาหารส่วนเกินและการส่งต่ออาหาร โดยมูลนิธิ SOS มุมประสบการณ์บริจาคอาหารและแรงบันดาลใจในการเป็นผู้บริจาคอาหารส่วนเกิน โดยผู้แทนผู้บริจาคอาหาร ได้แก่ คุณวลัยรัตน์ อภินัยนาถ GM of Corporate Planning บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด (Maxvalu Supermarket) เชฟอรรถพล ถังทอง (Chef X) Executive Chef จากโรงแรม Bangkok Marriott Hotel The Surawongse คุณแจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager มูลนิธิเคเอฟซี และคุณทวิช ทัฬหะกาญจนากุล ผู้อำนวยการโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CPFGS ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของซีพีเอฟ รวมถึงการแชร์ประสบการณ์ในกระบวนการรับบริจาคอาหาร โดยตัวแทนผู้นำชุมชน นำโดยคุณวิกานดา สังวรราชทรัพย์ ประธานเครือข่ายผู้นำชุมชนเขตลาดพร้าว และคุณวิไล แซ่โอ๊ว ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และแนวทางดำเนินงาน BKK Food Bank ของ กทม. โดยคุณณัฎฐ์วิฉัตรา หวิงปัด สำนักงานการพัฒนาชุมชน สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร