​ศูนย์วิจัยกสิกร ตอบข้อสงสัย คาร์บอนเครดิตคืออะไร มีกี่ประเภท ทำกำไรได้หรือไม่ และถ้าอยากลงทุนต้องทำอย่างไร?

คาร์บอนเครดิต คือ การนำกลไกตลาดมาใช้เป็นแนวทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Pricing) ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ผู้ทำการปล่อยต้องจ่ายให้กับสังคมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หากองค์กรใดมีการดำเนินการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ต่ำกว่ากรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปกติ หรือมีการดำเนินการที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้จากกรณีการดูดซับปกติ ปริมาณที่ปล่อยได้ลดลงหรือปริมาณที่ดูดซับได้เพิ่มขึ้นนี้ จะเรียกว่า คาร์บอนเครดิต     

โดย 1 คาร์บอนเครดิต จะเท่ากับการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยหน่วยดังกล่าวเทียบเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกมี 7 ชนิด และมีศักยภาพในการเก็บกักความร้อนในชั้นบรรยากาศไม่เท่ากัน จึงต้องแปลงมาเป็นหน่วยมาตรฐานเดียวกันคือเทียบกับ CO2

Kasikornthai Econ Analysis

รูปแบบและประเภทของคาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิตอาจจำแนกอย่างกว้างได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการทำโครงการที่มีการลดหรือเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Reduction/Avoidance Projects) เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงกว่ากรณีปกติ

2. คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการทำโครงการที่ดูดกลับก๊าซเรือนกระจกมากักเก็บไว้ (Carbon Removal Projects) เช่น การปลูก ดูแลรักษา หรือฟื้นฟูป่าไม้, BioEnergy with Carbon Capture and Storage (BECCS), Direct Air Carbon Capture (DAC), Direct Ocean Capture (DOC) เป็นต้น

ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิต
ระยะสั้น

– เร่งให้เกิดการพัฒนาโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

– สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต

– เป็นตัวช่วยให้ภาคธุรกิจหรือองค์กรที่มีข้อจำกัดด้านการลงทุนหรือการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยสามารถใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้ (Carbon Neutral) ใช้คาร์บอนเครดิตตามเงื่อนไขการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของคู่ค้า และกฎ ระเบียบ

ระยะกลาง ถึงระยะยาว

– ตอบโจทย์เป้าหมาย Net zero จากการใช้คาร์บอนเครดิตประเภท Removal (ป่าไม้/เทคโนโลยี CCUS) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถดำเนินการลดเองได้

สามารถทำกำไรจากคาร์บอนเครดิตได้หรือไม่?

คาร์บอนเครดิตจะเป็นส่วนช่วยสร้างรายได้เสริมแต่อาจสร้างผลกำไรได้ยาก ณ ตอนนี้ เนื่องจากต้นทุนการประเมิน ตรวจสอบ และรับรอง มีต้นทุนสูง แต่ผลประโยชน์จะอยู่ในรูปของผลพลอยได้ที่เกิดจากการพัฒนาโครงการ จากการประหยัดในการใช้พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่ใช้พลังงานน้อยลง ควบคู่ไปกับรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการดำเนินโครงการ

อย่างไรก็ดี คาร์บอนเครดิตบางประเภทอาจสร้างมูลค่าได้มากกว่าโครงการประเภทอื่น เช่น คาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ ซึ่งถูกมองว่าช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่เดิมในบรรยากาศได้โดยตรง ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม

อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมอื่น ๆ ซึ่งมีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน (Co-Benefit) จึงอาจมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนใจ ซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวในรูปแบบกึ่ง CSR และให้ราคาที่สูงจนอาจสร้างกำไรได้มากกว่าปกติ เช่น โครงการประเภทเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต มีดังนี้

– ต้นทุนค่าดำเนินการตรวจประเมินก่อนดำเนินโครงการ และต้นทุนทวนสอบความใช้ได้ และการวัดผลในทุกครั้งที่ต้องการขอรับรองคาร์บอนเครดิตแก่ผู้ประเมินภายนอก ที่นอกเหนือจากต้นทุนการดำเนินการ และค่าบำรุงรักษา ทำให้ประเด็นด้านการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ดำเนินโครงการต้องพิจารณา

– ราคาคาร์บอนเครดิตไม่มีราคาตายตัว แตกต่างกันไปตามประเภทของโครงการและอุปทาน โดยแม้ว่าในช่วงเวลาที่ได้รับคาร์บอนเครดิตมา จะมีคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทอื่นออกสู่ตลาดจำนวนมาก หรือตลาดยังมีอุปทานจากโครงการเดิมสะสมอยู่ อาจไม่ทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตถูกลง หากประเภทของโครงการคาร์บอนเครดิตสร้างมูลค่าเพิ่มด้านอื่นที่นอกเหนือจากการลดหรือเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจจะได้รับราคาสูงขึ้นได้

– เทคโนโลยีการผลิตที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะได้รับ เนื่องจากคาร์บอนเครดิตจะได้รับก็ต่อเมื่อดำเนินโครงการที่สะอาด ซึ่งในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป สิ่งที่เคยถูกมองว่าสะอาดในอดีต อาจเป็นสิ่งปกติในอนาคต หากไปดำเนินการในอนาคตอาจได้คาร์บอนเครดิตไม่เท่าเดิม

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ในการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างค่าเสียโอกาสจากกระแสเงินสดที่อาจได้มาอย่างต่อเนื่องหากนำพื้นที่หรือเงินทุนไปดำเนินโครงการอื่น กับดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งอาจจะได้กระแสเงินสดกลับมาเป็นรอบๆ รวมถึงผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงิน จากการทำโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทนี้ ซึ่งหากพิจารณาประเด็นทั้งหมดแล้ว พบว่ามีความคุ้มค่าและตอบโจทย์ธุรกิจได้ ภาคธุรกิจคงต้องเร่งดำเนินการ

ข้อมูล​: จักรี พิศาลพฤกษ์ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส Kasikornthai Econ Analysis

Stay Connected
Latest News