คุณอาร์ม – ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด นักธุรกิจไทยหนึ่งเดียวในสภาที่ปรึกษาอนาคตแห่ง World Economic Forum ร่วมแชร์บทสรุปจากงาน The World Economic Forum Special Meeting on Global Collaboration, Growth and Energy for Development ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 28-29 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา
คุณอาร์ม – ปิยะชาติ แชร์ประสบการณ์จากเวทีความร่วมมือระดับโลกครั้งนี้ว่า ในวันที่ 28-29 เมษายนที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมการประชุมพิเศษของ World Economic Forum (WEF) ว่าด้วย ความร่วมมือระดับโลก การเติบโต และ พลังงานเพื่อการพัฒนา (Special Meeting on Global Collaboration, Growth and Energy for Development) ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในฐานะสมาชิกของ Global Future Council on the Future of Energy Transition ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่จัดตั้งขึ้นเพื่อนิยามประเด็นปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการปรับแนวทางในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ที่สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงาน การเข้าถึงพลังงาน และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
“พลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิต ดังนั้น หากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือการเติบโตไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม พลังงานย่อมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ และเพื่อให้การเติบโตนั้นเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน การร่วมมือกันจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง และ ณ ปัจจุบันนี้ คำถามสำคัญไม่ใช่เพียงแค่จะเกิดการร่วมมือกันเรื่องอะไรแล้ว แต่เป็น “จะร่วมมือกันอย่างไร” ผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมสรุปได้จากงานนี้ และอยากจะแบ่งปันความรู้ความเข้าใจอื่น ๆ ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญต่อผู้นำธุรกิจทุกคนในทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ “
เสาหลักแรกของการประชุม “การฟื้นฟูความร่วมมือระดับโลก” แม้ว่าสาระสำคัญของเรื่องนี้ดูเหมือนเป็นการทำให้ความร่วมมือนั้นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แต่ความร่วมมือในฐานะแนวคิดก็เป็นเพียงแนวคิดที่ถูกพูดถึงเป็นประจำ ดังนั้นสิ่งที่ “การฟื้นฟูความร่วมมือระดับโลก” ต้องมุ่งเน้นจึงเป็นเรื่องความร่วมมืออย่างเป็นทางการระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับภาคเอกชนมากกว่า
เนื่องจากความขัดแย้งทั้งในเรื่องของความแห้งแล้งในแอฟริกาที่เลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ และความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นระหว่างประเทศเหนือ-ใต้ (ประเทศร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนา) จึงมีการพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างความไว้วางใจระหว่างประเทศขึ้นใหม่ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships -PPPs) เพื่อรับมือกับปัญหา และสร้างกรอบการทำงานร่วมกัน
คณะผู้พิจารณาต่างๆ ภายใต้เสาหลักนี้กล่าวว่า การริเริ่มการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติข้ามพรมแดนและโครงการวิจัยร่วมเกี่ยวกับการผลิตอาหารที่ยั่งยืน อาจเป็นกุญแจสำคัญในการก้าวไปข้างหน้า โดยข้อสรุปของเนื้อหาเสาหลักนี้คือ นับจากนี้ความร่วมมือไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ควรจะทำ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ดังนั้น ผู้นำธุรกิจควรเตรียมความพร้อมในการระบุความเชี่ยวชาญของของตนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลหรือการพัฒนาระหว่างประเทศ และแสวงหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือในด้านนั้น ๆ
เสาหลักที่สอง “ข้อตกลงเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึง” ซึ่งรับรองว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มีการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการกับ “Geometric fragmentation” ซึ่งเป็นคำที่ World Economic Forum บัญญัติขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก (ความเสี่ยงในตลาดหุ้น ห่วงโซ่อุปทาน มูลค่าเงิน ฯลฯ) ซึ่งสูงถึง 69% ดังนั้น เราควรให้ความสนใจกับการทำงานร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายระดับชาติและบริษัทต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบครอบคลุมเพื่อต่อสู้กับความเสี่ยงดังกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญได้หารือเกี่ยวกับการลงทุนในการฝึกอบรมเพื่อเตรียมพร้อมเยาวชนที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานสำหรับอนาคตที่เป็นยุคดิจิทัล และความจำเป็นของโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมเพื่อปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบางในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น แผนการบรรเทาทุกข์สำหรับประชากรที่ได้รับผลกระทบ ใบรับรองทักษะที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ และความร่วมมือของภาครัฐสำหรับบริษัทที่สร้างงานในชุมชนที่ด้อยโอกาส จากทั้งหมดนี้ ผู้บริหารธุรกิจต้องคำนึงถึงผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ใช่แค่ผู้ถือหุ้น โดยนำแนวปฏิบัติที่ครอบคลุมและสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมความมั่งคั่งร่วมกัน เมื่อเราทำสิ่งเหล่านี้สำเร็จแล้ว ผมมั่นใจว่าบริษัทของคุณจะสามารถมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพและยั่งยืนมากขึ้นได้
เสาหลักที่สาม “การเร่งดำเนินการด้านพลังงานเพื่อการพัฒนา” มุ่งเน้นไปที่การเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานที่สะอาดและราคาจับต้องได้ World Economic Forum ได้นำเสนอ “Energy Triangle” แบบจำลองที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการนำพาไปสู่อนาคตแห่งพลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งด้วยแบบจำลองที่เรียบง่าย และระบบการจัดหาและส่งพลังงานที่ยั่งยืนอย่างเพียงพอ ความต้องการซื้อก็จะตามมาโดยธรรมชาติ แต่ทั้งนี้การจะนำไปปฏิบัติจริงต้องอาศัยความร่วมมือ จึงมีการพูดคุยเกี่ยวกับการระดมการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานทดแทน การส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในด้านการจัดเก็บและการส่งพลังงานที่นำโดยภาคเอกชน และสำหรับภาครัฐ ต้องรับประกันว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) สำหรับคนงานในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
“ผมเชื่อว่าผู้บริหารของทั้งอุตสาหกรรมพลังงานและภาคส่วนอื่น ๆ ควรให้ความสำคัญกับการปรับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นการลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงาน การพัฒนาเทคโนโลยีประหยัดพลังงานใหม่ ๆ หรือการมีส่วนร่วมในโครงการนำพลังงานสะอาดมาสู่ชุมชนที่ด้อยโอกาส”
โดยสรุปแล้ว การประชุมพิเศษของ World Economic Forum ในครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างรัฐ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความเข้าใจ ระหว่างบริษัทต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโต และระหว่างพลเมืองเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะได้รับผลประโยชน์อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหาร การประชุมนี้แสดงให้เห็นเส้นทางที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนธุรกิจของคุณไปสู่ทศวรรษหน้า
ดังนั้น อนาคตกำลังถูกกำหนดขึ้นในขณะนี้ และการตัดสินใจของคุณในวันนี้จะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นต่อๆ ไป เมื่อคุณเปิดรับความร่วมมือ โดยให้ความสำคัญกับการไม่แบ่งแยก และการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน คุณจะสามารถทำให้บริษัทของคุณประสบความสำเร็จในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ และเป็นส่วนหนึ่งในนำพาโลกไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนมากขึ้นสำหรับทุกคน คุณจะเห็นว่าการทำสิ่งที่ดีเพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนอย่างแท้จริงนั้นมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล เพราะเมื่อทุกคนเติบโต บริษัทก็เติบโตเช่นกัน
ที่จริงแล้วเป้าหมายของ World Economic Forum ในการส่งเสริมความร่วมมือกันก็สอดคล้องกับแนวคิด Sustainomy ของ BRANDi เหมือนกันนะครับ Sustainomy เป็นข้อเสนอสำหรับเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงและถาวร ซึ่งผมเชื่อว่าท้ายที่สุด สิ่งนี้จะเข้ามาแทนที่รูปแบบของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน (ผมขอย้ำอีกครั้งว่าระบบทุนนิยมไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นสิ่งที่อยู่มานานเกินไปจนทำให้เกิดปัญหามากกว่าจะแก้ปัญหา)
โดยสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Sustaininomy ได้ใน white paper ของ BRANDi สุดท้ายนี้ ขอบคุณเอกอัครราชทูตไทย ผู้นำธุรกิจ และพนักงานของสถานทูตไทย ณ กรุงริยาดทุกท่าน สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเช่นนี้ สำหรับคุณผู้อ่าน ผมขอขอบคุณจากใจจริงที่อ่านมาถึงจุดนี้ และหวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณลงมือและร่วมมือกันเพื่ออนาคตที่ดีกว่าไปด้วยกันครับ