การขยายตัวของเมือง จาการพัฒนาและจำนวนประชากรที่ย้ายเข้ามาอาศัยในเขตเมืองมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น และกระทบต่อพื้นที่สีเขียวภายในเมืองให้ลดน้อยลง ขณะที่ปัญหาสิ่งแเวล้อมภายในเมืองก็เพิ่มมากขึ้น ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยภายในเมือง
นำมาสู่แนวคิดของค่ายวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ขับเคลื่อนมายาวนานที่สุดในประเทศไทยอย่าง Power Green Camp ครั้งที่ 19 ’Urban Rewilding : ป่า-เมือง-ชีวิต’ โดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างความตระหนักและเชื่อมโยงการเรียนรู้ รวมท้ังเห็นความสำคัญของ ‘ป่าในเมือง’ ที่มีต่อวิถีชีวิตของคนในเมืองมากขึ้น เพื่อเชื่อมทุกชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ รวมทั้งมุ่งส่งสริมการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยกิจกรรมได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเหตุผลในการใช้แนวคิดเรื่อง ‘ป่าในเมือง‘ มาเป็นแกนหลักให้เยาวชนได้เรียนรู้ในปีนี้ เพื่อมุ่งสร้างเครือข่ายในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในเขตเมือง พร้อมเป็นแนวร่วมในการร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศภายในเมือง ประกอบกับวิกฤตสภาพอากาศในปีนี้ ทั้งอากาศร้อนจัด ปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาพื้นที่ป่าของประเทศที่น้อยลงเหลืออยู่ราว 30% ของพื้นที่ประเทศไทย โดยเฉพาะในหลายเมืองใหญ่ที่บางจังหวัดไม่มีพื้นที่ป่าหลงเหลืออยู่เลย
“เมื่อเทียบพื้นที่ป่าในกรุงเทพฯ ต่อจำนวนประชากรก็อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ราว 9 ตารางเมตรต่อคน แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าใน กทม. มีอยู่ราวๆ 3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น การนำแนวคิด ‘ป่าในเมือง’ มาเชื่อมโยงเข้ากับเยาวชน เพื่อให้ทราบถึงข้อมูล ปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งความจำเป็นในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในเขตเมือง พร้อมกรณีศึกษาแนวทางการบริหารจัดการในหลายเมืองใหญ่ของเอเชียก็ส่งเสริมเรื่องป่าในเมืองอย่างจริงจังเช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 19 กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อต้องการให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการมี ‘ป่าในเมือง’ ซึ่งไม่ใช่แค่การพัฒนาในมิติของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในสังคม ทั้งด้านสุขภาพทางกายรวมทั้งด้านจิตใจ เป็นสถานที่พักผ่อนและใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ประเทศไทยจำเป็นต้องตื่นตัวในประเด็นพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองให้มากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่พื้นที่ป่าไม้ลดลง แต่เมืองใหญ่บางประเทศยังสามารถบริหารจัดการดูแลพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เมืองได้อย่างมีคุณภาพ แม้จะมีจำนวนประชากรมาก ซึ่งค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 19 นี้ จะพาเยาวชนไปสัมผัสทั้งป่าในเมือง ที่สวนเบญจกิตติ พื้นที่ป่าใจกลางกรุง ซึ่งมีกลไกในการดูแลคุณภาพชีวิตคนในเมืองทั้งการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ช่วยบำบัดน้ำเสีย ช่วยฟอกอากาศ ลดความร้อนภายในเมือง และช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนได้ด้วย รวมทั้งการไปสัมผัสป่าชุมชนตามธรรมชาติ ที่บ้านไร่ลุงคริส จังหวัดสระบุรี เพื่อเรียนรู้ความแตกต่าง พร้อมนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลังจากจบกิจกรรม จะมีการสื่อสารองค์ความรู้ หรือปัญหาที่ตกผลึกจากโครงการนำเสนอต่อสาธารณะ เพื่อร่วมขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน”
ออกแบบกิจกรรม เรียนรู้ ป่า-เมือง-ชีวิต ตามหลัก 3Rs
ความพิเศษของโครงการเพาเวอร์กรีนคร้ังนี้ ยังเปิดกว้างรับเยาวชนจากทุกสาขาการเรียน จำนวน 50 คน 48 โรงเรียน 32 จังหวัด เนื่องจาก มองว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาร่วมกันของทุกคน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมืองอย่างเป็นระบบ ภายใต้การเรียนรู้แบบ 3Rs ได้แก่ Reconnect, Restore และ Redesign
– Reconnect : เชื่อมโยงชีวิตคนเมืองให้ใกล้ชิด “ป่า” โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้สำคัญ เช่น “การถอดรหัสพยากรณ์จากต้นไม้” สังเกต และเก็บข้อมูลพฤติกรรมของต้นไม้ เพื่อเข้าใจศาสตร์การพยากรณ์ฤดูกาลจากต้นไม้ในเบื้องต้น, “ฉันมันไม่ใช่แค่วายร้าย” ศึกษาวิถีชีวิตและพฤติกรรมของตัวเงินตัวทองในฐานะดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ และกิจกรรม “อาบป่า (Forest Bathing)” เปิดประสาทสัมผัสทั้งห้า (รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส) เพื่อผ่อนคลายร่างกาย และเชื่อมโยงจิตใจกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
– Restore : เรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมือง ผ่านกิจกรรม “การกักเก็บคาร์บอนและประโยชน์ของป่าในเมือง (Urban Forest)” ศึกษาแนวทางการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในเขตเมืองสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และวิธีการประเมินศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เรียนรู้ “บทบาทหน้าที่ของรุกขกร (Arborist) นักศัลยกรรมต้นไม้ ดูแลรักษาต้นไม้ ที่ช่วยปกป้องความหลากหลายชีวภาพป่าในเมือง และกิจกรรม “ฟื้นคืนไม้พื้นถิ่น” แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า โดยเน้นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ดั้งเดิม หรือไม้ประจำถิ่นให้คงอยู่ในระบบนิเวศ
– Redesign : ศึกษาการออกแบบเมืองสีเขียวอย่างเป็นระบบ ผ่านการบรรยาย “Benchakitti Forest Park สวนเบญจกิติ ป่าในเมืองสู่สถาปัตยกรรมระดับโลก” ความพิเศษของสวนเบญจกิติที่ได้รับการออกแบบอย่างเป็นระบบ โดยเน้นให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่สำหรับสร้างระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ และกิจกรรมคบเด็กสร้างเมือง กิจกรรมสร้างสรรค์จินตนาการจากอาสาสมัครพนักงานบ้านปู ที่เยาวชนได้นำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากค่ายฯ มาช่วยกันฝึกออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การขับเคลื่อนมาตลอด 19 ปี ของโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม Power Green Camp มุ่งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้เยาวชน ตลอดจนสร้างแกนนำและเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต ผ่านกิจกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการคิด พร้อมฝึกฝนทักษะผ่านการเรียนภาคทฤษฎี และฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนร่วมลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียนรู้เชิงปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เยาวชนเห็นสภาพพื้นที่จริง และสามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งตลอดการขับเคลื่อนโครงการสามารถบ่มเพาะเยาวชนหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แล้วมากกว่า 1,000 คน เพื่อเป็นแนวร่วมในการขยายเครือข่ายและกำลังสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน