ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายในการต่อสู้กับปัญหาไฟป่าที่คุกคามระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทางภาคเหนือที่กำลังเผชิญกับความท้าทายของไฟป่า และปัญหาฝุ่น PM 2.5 จนติดอันดับเป็นพื้นที่อันตรายอันดับแรกๆ ของโลก จากการประเมินข้อมูลคุณภาพอากาศตามมาตรฐาน AQI (Air Quality Index)
ข้อมูลจากกรมป่าไม้ ให้ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ในปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 101 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 31.47% ของประเทศ แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ของไทยต้องเผชิญภัยคุกคามอย่างรุนแรง โดยปี 2566 ประเทศไทยต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไปกว่า 317,000 ไร่ หรือคิดเป็น 0.31 ของผืนป่าทั้งหมด ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปัญหาไฟป่า และการบุกรุกทำลายป่า
ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อชุมชน และก่อให้เกิดหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้ คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งรางวัลนำจับผู้ลักลอบเผาป่า โดยตั้งรางวัลให้ 10,000 บาท สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสการจับกุม และนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี
ทั้งนี้ สาเหตุหลักของปัญหาทั้งไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นจาก PM2.5 ล้วนเกิดขึ้นจากฝีมือของคน โดยเฉพาะการใช้วิถีชีวิตเดิมๆ ที่มักจะเผาเศษซากพืชหลังการเก็บเกี่ยว การแผ้วถางพื้นที่สำหรับเพาะปลูก และการหาผลิตภัณฑ์จากป่า ซึ่งตอกย้ำถึงความขัดแย้งระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมและมีสิทธิในการตัดสินใจร่วมดูแลป่าไม้ โดยการจัดการในรูปแบบป่าชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์ ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน ซึ่งชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูจัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน
ดังนั้น ‘ป่าชุมชน’ จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลและจัดการกับปัญหาไฟป่าได้อย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชมทั้งสิ้น 11,985 โครงการ หรือมีเนื้อที่รวม 6.56 ล้านไร่
การจัดการปัญหาไฟป่าอย่างได้ผล คือการให้สิทธิชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมการจัดการผืนป่า ซึ่งอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชน สร้างระบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนและเสมอภาค เมื่อชุมชนได้รับความไว้วางใจให้มีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการจัดการกับป่าไม้ พวกเขาจะเลือกใช้แนวปฏิบัติอย่างระมัดระวังถึงผลกระทบต่อป่าไม้
และจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยป้องกันไฟป่า และรักษาระบบนิเวศให้ป่าไม้ ภูมิปัญญา และความรู้ดั้งเดิมของชาวบ้านในชุมชน กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือและแนวร่วมสำคัญในการป้องกันไฟป่า และช่วยบรรเทาผลกระทบเมื่อเกิดเหตุขึ้นได้อย่างทันท่วงที
กรณีศึกษา WALHI กับการจัดการป่าไม้โดยชุมชนในอินโดนีเซีย
การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชนในการจัดการกับป่าไม้ หรือ ‘ป่าชุมชน’ เป็นแนวทางเดียวกับที่ วาลฮี (WALHI: Wahana Lingkungan Hidup Indonesia) องค์กรพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในอินโดนีเซีย ผู้บุกเบิกแนวทาง ‘วิไลยะ เกอโลลา รากยัท‘ (WKR: Wilayah Kelola Rakyat) หรือรูปแบบความร่วมมือเพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
WKR เป็นกระบวนการจัดการที่ผสมผสานระหว่างการกำกับดูแล การผลิต การจัดจำหน่าย และการบริโภค ของชุมชน เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดการนี้จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ
วาลฮีประกอบด้วยสมาชิก 487 องค์กร จากองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ พร้อมสมาชิก 203 ราย ที่กระจายอยู่ใน 28 เมืองของอินโดนีเซีย และ นับตั้งแต่ปี 2523 วาลฮีได้ขับเคลื่อนการปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในอินโดนีเซีย มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการยอมรับสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน ซึ่งสะท้อนถึงความรับผิดชอบของรัฐในการปกป้องทรัพยากรที่จำเป็น
แม้การขับเคลื่อนจะเต็มไปด้วยความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ทั้งการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความท้าทายจากอิทธิพลของระบบทุนนิยม การเมือง อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจโลก เพื่อรักษาไว้และส่งเสริมความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ผาสนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เข้มแข็งของสมาชิก
ทั้งนี้ วาลฮีได้นำแนวทาง WKR หรือการจัดการป่าชุมชนของอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือชุมชนดายัค เมราตุส (Dayak Meratus) หนึ่งในชุมชนพื้นเมืองบนเกาะบอร์เนียว ที่ยังคงมีวิถีการพึ่งแนวทางการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบดั้งเดิมที่ยังคงมีการบุกรุกและเผาทำลายพื้นที่ป่า โดยได้เข้าไปส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบหมุนเวียน พร้อมป้องกันการเข้าไปแผ้วถาง หรือเผาในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศเปราะบาง พร้อมทั้งการให้ความรู้ในเรื่องของการฟื้นฟูดิน การพักดินหลังจากการเก็บเกี่ยว ด้วยการสลับพื้นที่ในการทำแปลงเพาะปลูก ภายใต้ความร่วมมือและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างองค์กรพัฒนาและคนในชุมชน
ขณะเดียวกัน ยังได้เข้าไปส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้การปลูกพืชแบบผสมผสาน ด้วยการปลูกพืชหลากหลายชนิดในแปลงเดียวกัน เพื่อช่วยเพิ่มความสมดุลให้ระบบนิเวศควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบที่ผ่านมา
ทั้งนี้ วาลฮีมีเป้าหมายที่จะเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนเหล่านี้ให้ทั่วอินโดนีเซีย โดยสร้างจุดแข็งขึ้นในแต่ละพื้นที่และวางแนวทางปฏิบัติให้กับสมาชิกในชุมชน เพื่อสามารถสร้างรายได้จากผลผลิตที่หลากหลาย และลดการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อพื้นที่ป่าให้น้อยลง
ความสำเร็จจากการขับเคลื่อนของวาลฮี ตามแนวทาง WKR ได้ช่วยเหลือชุมชน 161,019 ครัวเรือน ใน 28 จังหวัดของอินโดนีเซีย ที่เปลี่ยนแปลงมาสู่แนวทางปฏิบัติตามกรอบของความยั่งยืนและเป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจจะมีความเข้มงวดในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการตัดไม้ ทำเหมือง หรือการเพาะปลูก แต่แนวทาง WKR ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ช่วยปกป้องป่าไม้จากการบุกรุกของภาคอุตสาหกรรมอย่างได้ผล ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการให้กับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งในหลายพื้นที่มักจะมีปัญหาในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน
การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนและการดูแลป่าไม้โดยชุมชนตามโมเดล WKR ของวาลฮี จึงถือเป็นต้นแบบการดำเนินการที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในประเทศไทย รวมถึงทุกประเทศที่กำลังต่อสู้กับปัญหาและความท้าทายจากปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ด้วยการนำโมเดลเหล่านี้มาปรับใช้อย่างสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนท้องถิ่นมีความแข็งแรง พร้อมทั้งสามารถรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ได้ ตามแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด