การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ( WEF : World Economic Forum) ณ เมืองดาวอส เมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา ได้สรุปอย่างเห็นพ้องกันว่า การเติบโตของ GDP อย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าประสงค์ใหญ่ขึ้น
ประเทศต่างๆ จีงควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับ ‘คุณภาพ’ ของการได้มาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ ‘คุณภาพ’ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะสร้างให้เกิดข้ึนต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนภายในระบบเศรษฐกิจนั้นๆ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุไว้ในบทวิเคราะห์ เรื่อง ก้าวต่อไปของโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้โลกที่ไม่แน่นอน พร้อมชวนต้ังคำถามว่า การพัฒนาเศรษฐกิจแบบมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงปริมาณที่วัดจาก GDP มาโดยตลอดนั้น ยังเป็นทิศทางที่ถูกหรือไม่? เมื่อบริบทโลกกำลังเปลี่ยนไป จากทิศทางการเติบโตที่ลดต่ำลง ความไม่แน่นอนสูงขึ้น และมีความเสี่ยงรอบด้านมากขึ้น
สะท้อนได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งแข่งขันกันจากตัวเลข GDP เป็นปัจจัยในเชิง ‘ปริมาณ’ ที่ไม่สามารถสะท้อนปัจจัยแวดล้อมอื่นของสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนได้ครบถ้วน ส่งผลให้มีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในด้านอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาทุนมนุษย์ และความเท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น
สอดคล้องกับข้อเสนอของ WEF ที่วางกรอบการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (Future of growth framework) ผ่านการใช้เครื่องมือใหม่ในการประเมินคุณภาพของการพัฒนา และการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว (Long-term quality of growth) ที่จะนำมาสู่แนวทางปฏิบัตของแต่ละประเทศ ควบคู่ไปกับแนวทางเดิมอย่าง การวัดในเชิงปริมาณผ่าน GDP ซึ่งเป็นมิติในระยะสั้น (Shortterm quantity of growth) เพื่อสามารถประเมินคุณภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลมากขึ้น พร้อมช่วยลดความเสี่ยงที่มีอยู่รอบด้าน
ทั้งนี้ 4 เสาหลัก ที่ทาง WEF เสนอให้ใช้เป็นเครื่องมือใหม่ สำหรับการประเมินและชี้วัดการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน และเป็นเป้าหมายสำหรับการนำไปใช้กำหนดกรอบการขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว ประกอบด้วย
1. นวัตกรรม (Innovativeness) ระบบเศรษฐกิจที่สามารถซึมซับ และพัฒนาต่อยอดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่
2. ความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusiveness) การเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโอกาสและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จากการพัฒนา
3. ความยั่งยืน (Sustainability) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเติบโตไปกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
4. ความสามารถในการปรับตัว (ล้มยากและลุกเร็ว) (Resilience) ระบบเศรษฐกิจที่สามารถรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดใหม่ ๆ และกลับสู่แนวโน้มเดิมได้ ภายในเวลาไม่นาน
Health Check การเติบโตเชิงคุณภาพของโลกและประเทศไทย
จากเครื่องมือในการประเมินและชี้วัดการเติบโตเชิงคุณภาพที่ทาง WEF ได้กำหนดกรอบไว้แล้ว พร้อมทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินการเติบโตในเชิงคุณภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผ่าน 4 เสาหลัก ทั้ง Innovativeness, Inclusiveness, Sustainability และ Resilience พบว่า ภาพรวมของโลกมีคะแนนใน 4 เสาหลักอยู่ในช่วง 45 – 55 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 โดย Innovativeness มีคะแนนน้อยสุดที่ 45.2 คะแนน ขณะที่ Inclusiveness ได้คะแนนมากสุด 55.9 คะแนน
ส่วนกลุ่มประเทศรายได้สูงได้คะแนนในแต่ละเสาหลักสูงกว่าประเทศรายได้ปานกลาง ยกเว้นมิติด้าน Sustainability ที่มีคะแนน 45.8 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีคะแนน 46.8 รวมทั้งใกล้เคียงกับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 44 ส่วนคะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 40.8
หากเจาะลึกการพัฒนาของไทยพบว่า มิติด้าน Sustainability มีคะแนนต่ำที่สุดคือ 40.8 เช่นเดียวกับภาพรวมโลก ตามด้วยคะแนนด้าน Innovativeness (47.9 คะแนน) Resilience (51.5 คะแนน) โดยคะแนนของไทยโดยรวมอยู่ในระดับใกล้เคียงกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง ยกเว้นด้าน Sustainability ที่คะแนนของไทยค่อนข้างต่ำกว่าอยู่มาก รวมทั้งต่ำกว่าคะแนนของกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงค่อนข้างมากในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านความเหลื่อมล้ำ (Inclusiveness) ที่แตกต่างกันมากถึง 13.2 คะแนน
ตามด้วยความแตกต่างด้านนวัตกรรม (Innovativeness ) แตกต่างกัน 11.5 คะแนน และความยืดหยุ่นปรับตัว (Resilience ) แตกต่างกัน 10.4 คะแนน โดยคะแนนด้าน Sustainability แตกต่างกัน 5 คะแนน
ผลที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ไทยมีปัญหาคุณภาพการเติบโตในระยะยาวมากที่สุด ใน 2 เสาหลัก คือ Inclusiveness จาการรกระจุกตัวในกลุ่มคนมีฐานะ ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยยังต้องเผชิญปัญหารายได้น้อยไม่เพียงพอต่อรายจ่าย และมีปัญหาหนี้สูง เพราะการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาไม่สามารถกระจายประโยชน์ได้ทั่วถึง ส่วนด้าน Sustainability สะท้อนการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และนวัตกรรมเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุน
ทั้งนี้ SCB EIC จึงประเมินว่า การยกระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพสอดคล้องกับโมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ จะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการยกระดับระบบนิเวศ (Ecosystem) ผ่านมาตรการต่อไปนี้
1. การยกระดับระบบนิเวศทางการเงิน (Financial ecosystem) และระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Technology ecosystem) ซึ่งต้องเร่งขับเคลื่อนเป็นลำดับแรก สามารถทำได้ด้วยการนำเสนอเครื่องมือและบริการทางเงินที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างรายได้และกระจายประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจให้ทั่วถึง ผ่านการให้เงินทุนสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ประกอบกับการเพิ่มแรงจูงใจในการแข่งขันและลดกฎระเบียบภาครัฐที่ซ้ำซ้อนจะเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ของภาคเอกชน
2. การยกระดับระบบนิเวศทางทรัพยากรมนุษย์ (Talent ecosystem) เป็นลำดับต่อมา เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและภาคการผลิตไทย รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการผลิตไทยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สอดรับกับกระแสความยั่งยืน และสามารถเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ได้ทันบริบทโลกที่เปลี่ยนไป
ภาคธุรกิจไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพ จึงควรเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจโจทย์ที่เปลี่ยนไปได้ เพื่อสามารถอยู่รอดและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนต่อไปท่ามกลางบริบทโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้