‘รอยัล ภูเก็ต มารีน่า‘ (RPM : Royal Phuket Marina) ผู้ให้บริการท่าจอดเรือยอชท์ชั้นนำในภูเก็ต ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นท่าเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชีย รวมทั้งยังเป็นโครงการ Mixed-use เพียงแห่งเดียวของภูเก็ตที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนอีกด้วย
นอกจากนี้ RPM ยังเป็นท่าเรือแห่งเดียวของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลต่างๆ เช่น Gold Anchor Certification ระดับ 5 จาก สมาคมท่าเรือยอชท์ และรางวัล International Clean Marina Award จาก MIA ในฐานะผู้บุกเบิกแนวทางปฏิบัติการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังคงเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมเพื่อลด CO2 Emission เพื่อรักษา Biodiversity ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด ‘Sustainability is Our Key Priority‘
จากท่าจอดเรือยอทช์ สู่ Lifestyle Destination
ตลอดการขับเคลื่อนมากว่า 20 ปี RPM ได้ขยับเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้โครงการเป็นมากกว่า Marina หรือจากผู้ให้บริการจอดเรือยอชท์ มาสู่ Lifestyle Destination และแน่นอนว่าต้องเป็นไลฟ์สไตล์ในตลาดระดับ Luxury อย่างแน่นอน เพราะกลุ่มเป้าหมายโครงการก็คือ บรรดา Billionaire หรือกลุ่มมหาเศรษฐีเจ้าของเรือยอทช์จากทั่วโลก
RPM ตั้งอยู่ใน Prime Location ที่เปรียบเสมือนประตูสู่อ่าวพังงาและทะเลอันดามัน เชื่อมสู่เกาะต่างๆ ได้ถึง 32 เกาะ จึงถือเป็น Hub ของจังหวัด มีพื้นที่โครงการ 185 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปแล้วราว 35% ทั้งการให้บริการท่าจอดเรือยอทช์ราว 250 ลำ รวมทั้งการพัฒนาที่พักอาศัยระดับ 5 ดาว ทั้งอพาร์ทเมนต์ เพนท์เฮ้าส์ รวมทั้งวิลล่าและอความิเนียม (ที่พักพร้อมท่าจอดเรือส่วนตัว) เพื่อสร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ให้โครงการ ทำให้ปัจจุบัน RPM เป็นหนึ่งในฮับของท่าจอดเรือยอทช์ที่รองรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ชื่นชอบการเดินทางล่องเรือจากทั่วโลก
นอกเหนือจากเสน่ห์ในการอยู่อาศัยแล้ว RPM ยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ด้วยทำเลทองที่ตั้งใจกลางเกาะภูเก็ต จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับธุรกิจ พื้นที่เช่าสำหรับร้านอาหารหรือสำนักงาน และพื้นที่ในการจัดกิจกรรม อีเว้น ต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางของกลุ่มนักล่องเรือยอทช์ เพราะเป็นพื้นที่ในการจัดงาน International Boat Show ที่จะมาจัดในโครงการเป็นประจำทุกปี
คุณกูลู ลัลวานี ประธานบริษัท และผู้ก่อตั้งโครงการรอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) กล่าวถึงแผนการพัฒนาเพื่อยกระดับ RPM จากกภาพของการเป็นท่าจอดเรือมาสู่จุดหมายของ Luxyry Lifestyle จากทั่วโลก ด้วยการลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อเติมแม็กเน็ตในโครงการมากขึ้น ทั้งการสร้างโรงแรมหรู 5 ดาว ขนาด 300 ห้อง เซอร์วิสอพาร์ทหรู พร้อมบริการระดับ 5 ดาว รวมทั้งขยายพูลวิลล่า 42 หลัง ซึ่งมาพร้อมออพชั่นท่าจอดเรือยอทช์แบบเอ็กคลูซีฟ เพื่อเพิ่ม Capacity ในการรองรับการเติบโตในอนาคต โดยขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประกาศโครงการได้ราวเดือนตุลาคมปีนี้ และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี
นอกจากนี้ ยังมีแผนรีโนเวทพื้นที่เพื่อเพิ่ม Facility ให้รองรับการเป็น Lifestyle Destination มากขึ้น ด้วยการเพิ่มเอ้าท์เล็ตภายในโครงการจาก 2-3 ร้าน ให้มีเพิ่มขึ้นเป็น 29-30 ร้าน เน้นกลุ่ม F&B โดยเฉพาะร้านดังระดับมิชลินสตาร์ หรือร้านชื่อดังจากต่างประเทศ เพื่อสร้างบรรยากาศเป็น Board Walk ในโครงการ และกลายเป็นอีกหนึ่งจุด New Check Point ของภูเก็ต รวมทั้งเพิ่มบริการ Evening Boat Trip เพื่อเพิ่มกิจกรรมในช่วงเย็นและกลางคืน เช่น ทริปชมพระอาทิตย์ตกดิน และกิจกรรม Night Life ต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาในโครงการได้มากขึ้น จากปัจจุบันมีผู้เข้ามาในโครงการราว 1,800 คนต่อวัน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับแหล่งท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคอย่างบาหลีได้มากขึ้น
“ศักยภาพของภูเก็ตมาจากหลายจุดแข็ง ทั้งการเป็น Global Destination โดยรองรับนักท่องเที่ยวเฉลี่ยในแต่ละปีที่กว่า 10 ล้านคน จากการเดินทางเข้ามาทั้งทางรถ เรือ และเครื่องบิน โดยมีไฟลท์บินจากท่าอากาศยานภูเก็ตทั้งขาออกและขาเข้ามากกว่า 300 เที่ยวต่อวัน ขณะที่นักท่องเที่ยวประมาณ 50% ของพื้นที่ทั่วโลก สามารถเดินทางมาด้วยเครื่องบินได้ภายในไม่เกิน 6 ชั่วโมง และกำลังซื้อระดับสูงของนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 6 พันบาทต่อวัน ภูเก็ตจึงเป็นหมุดหมายยอดนิยมแห่งหนึ่งของโลกทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว รวทั้งนักธุรกิจที่มองหาโอกาสในการลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ หรือกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการมาเกษียณในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสของ RPM ในฐานะทางเลือกที่ตอบโจทย์ ซึ่งไม่เพียงสร้างการเติบโตของธุรกิจ แต่ยังส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ตรวมทั้งของประเทศไทยอีกด้วย”
Sustainability is Key ในตลาดลักช์ชัวรี่
อีกหนึ่งจุดแข็งที่ทาง RPM นำมาใช้สร้างความแตกต่างและ Unique ให้โครงการคือ การขับเคลื่อนโครงการตามแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้เป็นโครงการที่มีความผสมผสานและตอบโจทย์ได้ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่ชื่นชอบทะเล การเดินทาง และผจญภัย ภายใต้ไลฟ์สไตล์ที่มีความหรูหรา แต่ยังสามารถบาลานซ์เรื่องของความยั่งยืนไว้ได้อย่างสมดุล
คุณกูลู ลัลวานี แชร์อินไซต์นักท่องเที่ยวในตลาดระดับบนให้ฟังว่า เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมของบรรดาธุรกิจต่างๆ อย่างมาก และยอมที่จะลดความสะดวกสบายบางอย่างลง หากเป็นสิ่งที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจาก Thailand Tourism Forum 2023 ที่ระบุว่า 95% ของนักท่องเที่ยวเลือกสถานที่ที่มีแนวทางการดำเนินงานพร้อมหลักการปฏิบัติงานเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นหนึ่งในปัจจัยอันดับที่ 4 ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว และ 40% ของนักท่องเที่ยวชาวเอเชียใช้แนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเลือก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญในการดูแลระบบนิเวศทางทะเล ที่ถือเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนสำคัญของโลก และมีความสำคัญต่อทุกชีวิตบนโลก การสร้างความยั่งยืนในท้องทะเลจึงเป็นการสร้างความยั่งยืนของมนุษยชาติด้วยเช่นกัน
ขณะที่การขับเคลื่อนของ RPM ในฐานะผู้บุกเบิกการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างความยั่งยืนในธุรกิจท่าจอดเรือ โดยมีเป้าหมายในการเป็น ‘Cleaner & Greener Marina’ โดยมุ่งขับเคลื่อนตามโรดแมป Carbon Neutrality ภายในปี 2025 เพื่อมุ่งสู่ Net Zero เป็นเป้าหมายต่อไป
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนตามโรดแมป ได้ทำการประเมิน Carbon Emission เพื่อใช้เป็นฐานคำนวณเพื่อลดการปลดปล่อยให้เป็นศูนย์ ทั้งการวางแผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธภาพ การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ การขับเคลื่อน Waste Management ในองค์กร รวมทั้งดำเนินการชดเชยคาร์บอนในส่วนที่เกิน ทำให้ RPM สามารถเป็น ท่าจอดเรือแห่งแรกของเอเชียที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งในปัจจุบันทางโครงการมีการปลดปล่อยคาร์บอนที่ 640 ตันต่อปี และสามารถผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ได้ราว 40% ซึ่งในอนาคตเตรียมลงทุนติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สามารถใช้พลังงานสะอาดได้ทั้ง 100%
นอกจากการขับเคลื่อนภายในแล้ว RPM ยังมุ่งสร้างความร่วมมือภายใน Stakeholder ทั้งผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เช่น การรณรงค์ลดการใช้พลาสติก Single-use เพื่อลดความเสี่ยงในการสร้างขยะทะเล โดยรณรงค์การใช้กระบอกน้ำแทนขวดพลาสติก พร้อมเร่งติดตั้งตู้เติมน้ำภายในรอบโครงการ รวมทั้งส่งเสริมการแยกขยะจากถังขยะแต่ละประเภท ซึ่งในปีนี้จะทำงานร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเพื่อส่งเสริมการแยกขยะอย่างจริงจังและเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มาช่วยดูแลจัดการขยะในทะเล เช่น เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ Sea-bin หรือร่วมมือกับมูลนิธิ Ocean for All เพื่อสนับสนุนการจัดการขยะพลาสติกในทะเล การศึกษาร่วมกับทางผู้ประกอบการในการนำเรือไฟฟ้ามาให้บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับสภาพอากาศ ด้วยการติดตั้งเครื่องเพื่อมอนิเตอร์และประเมินสภาพอากาศภายในโครงการ พร้อมทั้งขยายผลการขับเคลื่อนไปสู่เกาะต่างๆ โดยรอบ ทั้งในมิติการดูแลสิ่งแวดล้อม และการดูแลคุณภาพชีวิตชุมชนต่างๆ ที่อยู่ภายในเกาะ เป็นต้น
“น่าเสียดายที่ ประเทศไทย เป็นหมุดหมายสำคัญด้านการท่องเที่ยวของโลก ถึงระดับ Top3 ขณะที่การพัฒนาด้านความยั่งยืนกลับอยู่ในระดับรั้งท้ายถึงอันดับที่ 85 ของโลก หนึ่งในความตั้งใจของเราคือ การมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่ม Top Tier ได้ในทิศทางเดียวกับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่ โดยเราจะมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน การพัฒนานวัตกรรม หรือเพิ่มกิจกรรมที่ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางธรรมชาติ เพื่อยกระดับการจากการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนที่สามารถบรรลุได้แล้ว ไปสู่เป้าหมายใหม่ในการสร้าง Sustainability Living เพื่อส่งเสริมการดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสามารถเป็น Global Best Practice เพื่อเป็นหนึ่งตัวอย่างที่สามารถสื่อสารถึงการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนไปสู่ทั่วโลกได้อีกทางหนึ่ง”