คนไทยสร้างขยะอาหาร (Food Waste) เฉลี่ย 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ตามรายงาน Food Waste Index 2024 ซึ่งเป็นการรายงานครั้งที่ 2 ของ UNEP (UN Environment Programme) โดยเพิ่มขึ้นจาก 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในการประเมินครั้งล่าสุด
ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ทั้งนี้ ขยะอาหาร เป็นสิ่งที่ทั่วโลกเร่งสร้างความร่วมมือเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะอาหาร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8-10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ กำหนดเป้าหมายให้ทุกประเทศต้องลดปริมาณอาหารขยะลงให้ได้ 50% ภายในปี 2030 ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีเป้าหมายต้องลดปริมาณขยะอาหารประมาณ 3 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ยคนละ 43 กิโลกรัม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคเอกชนควรเร่งปรับตัว ผ่านการหาโซลูชันเพื่อลดปริมาณอาหารขยะให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) การผลิตปุ๋ยหมัก การต่อยอดสร้างสินค้าใหม่จากขยะอาหาร รวมถึงการขอรับรองคาร์บอนเครดิตหรือใบรับรองเครดิต การผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) จากวัสดุชีวมวล เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และเป็นโอกาสของภาคธุรกิจ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
สำหรับรายงานดัชนีขยะอาหาร (Food Waste Index 2024) ระบุว่า ข้อมูลจากปี 2022 ครัวเรือนทั่วโลกสร้างขยะอาหารรวมกันมากกว่า 1 พันล้านมื้อต่อวัน ขณะที่ผู้คน 783 คนทั่วโลกยังต้องเผชิญความหิวโหย หรือกว่า 1 ใน 3 ที่มีความไม่มั่นคงทางอาหาร
โดยในปี 2022 มีขยะอาหารเกิดขึ้น 1.05 พันล้านตัน (รวมถึงส่วนที่กินไม่ได้) คิดเป็น 132 กิโลกรัมต่อคน หรือราว 1 ใน 5 ปริมาณอาหารทั้งหมดสำหรับการบริโภค ซึ่ง 60% เกิดขึ้นจากภาคครัวเรือน 28% เกิดจากธุรกิจด้าน Food Service และ 12% จากกลุ่มธุรกิจค้าปลีก
นอกจากนี้ ปริมาณขยะอาหาร ยังส่งผลต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจกราว 8-10% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก หรือเกือบ 5 เท่า ของธุรกิจการบิน รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) อย่างมีนัยสำคัญ จากการเข้าไปทดแทนพื้นที่เกษตรกรรมของทั้งโลกราว 1 ใน 3 หรือกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลกประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
เห็นได้ว่า ปัญหา Food Waste และ Food Loss สร้างต้นทุนมหาศาลให้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนติดตาม และประสานงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยปัจจุบันมีเพียง 4 ประเทศในกลุ่ม G20 (ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา) และสหภาพยุโรปเท่านั้น ที่จัดการขยะอาหารลงในระดับที่เหมาะสม เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ภายในปี 2030 ได้ แต่ปัญหาขยะอาหารไม่ได้เปิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น โดยปริมาณเฉลี่ยของการเกิดขยะอาหารทั้งจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง กลาง และต่ำ มีการสร้างขยะอาหารเฉลี่ย 7 กิโลกรัมต่อคน ขณะที่ประเทศในแถบอากาศร้อนจะมีโอกาสเกิด Food Waste ได้สูงมากกว่า ขณะที่ประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางจำนวนมากยังขาดระบบที่เพียงพอในการติดตามความคืบหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดขยะอาหารลง 50% ภายในปี 2030
สำหรับ ขยะอาหาร (Food Waste) หมายถึง อาหารที่เหลือทิ้งและถูกนำออกไปจากห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ เช่น อาหารที่รับประทานไม่หมด อาหารหมดอายุ เศษผักตกแต่งจาน ซึ่งรวมถึง การไม่นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดย Food Waste จะไม่รวมอาหารที่หลุดออกจากห่วงโซ่การผลิตเพราะไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่ในขั้นตอนของการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ผลผลิต การแปรรูป รวมถึงระหว่างการขนส่งไปยังเป้าหมายปลายทาง ซึ่งในส่วนนี้จะถูกเรียกว่า การสูญเสียอาหาร หรือ Food Loss