ฉงชิ่ง (Chongqing) เป็นอีกหนึ่งเมืองเศรษฐกิจสำคัญทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีเนื้อที่ราว 82,400 ตารางกิโลเมตร เกือบเท่ากับภาคกลางของประเทศไทย และมีจำนวนประชากรรวมกันกว่า 32 ล้านคน
ทั้งนี้ เมื่อราว 10 ปีก่อน เมืองเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่แห่งนี้ เคยประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรม การเผาไหม้ถ่านหินและเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายช่วยแก้ไขปัญหา เช่น สงครามปกป้องท้องฟ้าสีคราม (Blue sky defense battle) นโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาด รวมทั้งนโยบายขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน โดยวางเป้าหมายเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060
นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนการจัดการในมิติอื่นๆ ภายในเมือง เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่าน ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด ซึ่งคุณเบญจมาส โชติทอง และ คุณวิลาวรรณ น้อยภา นักวิชาการจาก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้ศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองของอีกหนึ่งมหานครของโลกอย่างฉงชิ่ง พร้อมสรุปข้อมูลการจัดการตามแนวทาง ‘Green Chongqing’ ไว้ดังต่อไปนี้
1. การดูแลภูมิทัศน์รอบเมือง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยการปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ตลอดสองข้างทางของถนน นับตั้งแต่สนามบินเจียงเป่ย (Jiangbei) และการมอบหมายให้มีการดูแลบริหารจัดการเป็นอย่างดี
2. การสร้างเครือข่ายทางสังคม โดยการเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Social organizations ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาภาคเอกชน หรือกลุ่ม NGO ต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเฝ้าระวังมลพิษ และทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนมากขึ้น พร้อมทั้งกระตุ้นเยาวชนและสังคมให้เรียนรู้และปกป้องธรรมชาติ เช่น กรณีศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ การอนุรักษ์นกอินทรีย์
3. ขยายชุมชนเกษตรอินทรีย์ โดยนำองค์ความรู้สมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้านให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น รวมทั้งการเข้ามาส่งเสริมของทางภาครัฐ เช่น โมเดลพัฒนาเมืองดาชู (Dashu Town)
4. แยกประเภทรถยนต์ด้วยสีป้ายทะเบียน การแยกป้ายทะเบียนรถยนต์เป็น 2 สี อย่างชัดเจน คือ ป้ายทะเบียนสีน้ำเงิน ที่เป็นรถเครื่องยนต์สันดาปแบบดั้งเดิม และป้ายทะเบียนสีเขียว สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electricity vehicle) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนวิ่งอยู่ภายในเมืองประมาณ 20% และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
5. โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี EV Charger การเร่งพัฒนาระบบชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV พร้อมลงทุนขยายสถานี และจุดชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV ซึ่งเริ่มมีจำนวนครอบคลุมมากขึ้นในเขตเมือง และจะเร่งขยายเพิ่มเติมในพื้นที่ชนบทที่ยังมีอยู่อย่างจำกัดให้มากขึ้น
6. สถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับรถแท็กซี่ EV โดยใช้เวลาในการเปลี่ยนแบตก้อนใหม่ไม่ถึง 1 นาที เพิ่มความสะดวกและช่วยลดเวลาในการชาร์จไฟฟ้าระหว่างการวิ่งให้บริการ ซึ่งมีแผนขยายจุดให้บริการให้ครอบคลุมเพิ่มเติมในอนาคต
7. การสนับสนุนธุรกิจสตาร์อัพใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านธุรกิจพลังงานสะอาด และการเข้ามาสนับสนุนจากภาครัฐบาล เพื่อช่วยเร่งการเติบโตของธุรกิจที่มีส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน และเพิ่มความแข็งแรงให้ธุรกิจที่อยู่ในระบบนิเวศ ซึ่งบางบริษัท แม้เพิ่งก่อตั้งได้ 4-5 ปี แต่สามารถขยายการดำเนินงานได้อย่างก้าวกระโดด
8. การขยายระบบนิเวศธุรกิจพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการให้บริการแบบครบวงจร (Total Solutions) ของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ (Solar Power Solutions) ตั้งแต่การขออนุญาตติดตั้ง การติดตั้ง ระบบการติดตามแบบเรียลไทม์ บริการทำความสะอาดซ่อมบำรุงแผงโซลาร์ ฯลฯ โดยยังต้องเสริมด้านการจัดการซากอุปกรณ์หลังการใช้งานเพิ่มเติมให้มากขึ้น
9. พัฒนาระบบเก็บพลังงาน (Energy storage) โดยต้องตอบโจทย์การใช้งานได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งรองรับการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม ระดับครัวเรือน รวมไปถึงรองรับไลฟ์สไตล์ในยุค Mobility เช่น สามารถอำนวยความสะดวกการใช้งานนอกสถานที่ เช่น การแคมปิ้ง
10. ส่งเสริมการพัฒนาในเชิงวิชาการ ทั้งความร่วมมือเพื่อการทำงานวิจัย ด้านพลังงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชน เช่นที่ Chongqing University มีงานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานสะอาด การรีไซเคิลวัสดุ พลังงานจากขยะ
ปัจจุบ้น ฉงชิ่งมีความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านพลังงานสะอาด เป็นเพราะนโยบายและมาตรการส่งเสริมจากรัฐบาล ช่วยเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้แก่ภาคเอกชน แต่ย่างไรก็ตาม แม้การพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของจีนจะรุดหน้าเพิ่มมากขึ้น จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานสะอาดออกไปทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันจีนยังใช้แหล่งพลังงานส่วนใหญ่จากถ่านหินกว่า 50% และน้ำมันดิบเกือบ 20% เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เนื่องจากยังคงมีปริมาณการใช้พลังงานจำนวนมาก และแนวโน้มที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แหล่งพลังงานฟอสซิลก็ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ในปัจจุบันนี้