หนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารของไทย ด้วยจำนวนสาขาทั่วประเทศรวมกันมากกว่า 1,600 สาขา จาก 21 แบรนด์ภายใต้การดูแลของ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี (CRG)
พร้อมศักยภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องกว่า 13% ด้วยรายได้ 14,600 ล้านบาท แม้จะอยู่ท่ามกลางความท้าทายและอ่อนไหวของสถานการณ์รอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังผันผวนทั้งของโลกและภายในประเทศไทย ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในต่างประเทศ รวมทั้งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุน
ขณะที่ภายในปีนี้ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหารก็ยังคงต้องเผชิญกับหลากหลายความท้าทายรอบด้าน โดย คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์จี กล่าวว่า แม้ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้จะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง 5-7% หรือมีมูลค่าที่ราว 4.8 แสนล้านบาท แต่จะนำมาซึ่งการแช่งขันที่รุนแรง ทั้งจากจำนวนแบรนด์ใหม่ๆ และผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละปีจะมีแบรนด์ใหม่ราวกว่า 1 แสนแบรนด์ โดยที่ราวครึ่งหนึ่งจะปิดตัวลงภายในปีแรก และ 65% จะปิดตัวลงภายใน 3 ปี สะท้อนให้เห็นการแข่งขันที่รุนแรง
“ปัจจัยเสี่ยงจากปีที่ผ่านมาทั้งด้านเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งความไม่แน่นอนและผันผวนต่างๆ จะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ประกอบกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งค่าแรง ค่าวัตถุดิบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานงาน ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในตลาดจำเป็นต้องรักษา Performance เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติของการพัฒนาแบรนด์ การขยายสาขา การควบคุมต้นทุน รวมทั้งรักษา Benefit ให้กับ Stakholder ในทุกมิติ เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”
สำหรับซีอาร์จี วางยุทธศาสตร์ ‘Empowering EXCELLENCE, Embracing SUSTAINABILlTY’ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกราว 14% หรือประมาณ 2 เท่า ของการเติบโตของภาพรวมตลาด ภายใต้งบลงทุน 1,000 -1,200 ล้านบาท พร้อมผลักดันรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็น 16,600 ล้านบาท พร้อมทั้งวางโรดแมปช่วง 5 ปีจากนี้ ด้วยเม็ดเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้จะผลักดันให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้กว่า 2 เท่าตัว หรือราว 30,000 ล้านบาท เพื่อสร้างฐานธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนได้ในทุกมิติ ภายใต้การขับเคลื่อนผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก ต่อไปนี้
1. GROW สร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นจากการขยายธุรกิจทั้งแนวกว้างและแนวลึก ด้วยการเร่งขยายสาขาใหม่ในกลุ่ม Top Brands ซึ่งเป็นแบรนด์ที่สามารถสร้างยอดขายได้ในระดับสูง เช่น เคเอฟซี อานตี้แอนส์ โอโตยะ ส้มตำนัว สลัดแฟคทอรี่ และชินคันเซ็น เป็นต้น โดยตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 100 สาขา ขณะที่แบรนด์อื่นๆ ในเครือจะเน้นการเพิ่ม AUV (Average Unit Value) หรือการเพิ่ม Same Store Growth เพื่อทำให้สาขาเดิมที่มีอยู่สร้างศักยภาพได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาสินค้ารสชาติใหม่ หรือบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น หรือการนำกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ มาช่วยดึงดูดหรือกระตุ้นการขายได้เพิ่มมากขึ้น
2. DRIVE การขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตได้มากขึ้นจาก 3C ACtion ได้แก่ Cost, Capex และ Cash Flow ทั้งการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการลงทุนที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด และให้ความสำคัญกับการรักษาให้มีกระแสเงินสดเพื่อรักษาความคล่องตัวในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยมีแผนทรานส์ฟอร์มสู่การเป็น Smart Restaurant ที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มมาช่วยบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ ท้ังการให้บริการภายในร้าน ระบบบริหารจัดการธุรกิจและซัพพลายเชน การบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ลูกค้า (Business Intelligence) เพื่อสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจได้ทั้งระบบ
3. BUILD สร้างความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอผ่านการพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบการพัฒนาแบรนด์เอง แฟรนไชส์ และ Joint Venture เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ธุรกิจ ขณะที่ทางซีอาร์จีมีความแข็งแรงในการช่วยขยายสเกลในการเติบโตทั้งองค์ความรู้ในการทำแฟรนไชส์ การมีทีมบุคลากรช่วยพัฒนา การส่งเสริมด้วยการตลาดและประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ธุรกิจเติบโตได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีหลายแบรนด์ที่เติบโตได้แบบก้าวกระโดด เช่น สลัดแฟคทอรี่ ที่ร่วมมือกันเมื่อปี 2019 จนปัจจุบันมีสาขาเกือบ 40 แห่ง เติบโตขึ้นได้ถึง 200% โดยปีนี้มีแผนขยายสาขาใหม่ร่วมกับกลุ่ม Owner 25 สาขา
4. EXPEDITE การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนทุกมิติ ผ่านแนวทาง 3 แกน ที่สะท้อนผ่านความเป็น C-R-G ประกอบด้วย
C: Care for People & Partner ด้วยการดูแลบุคลากร และพันธมิตรด้านธุรกิจ โดยปัจจุบันมีพนักงานทั้งฟูลไทม์ และพาร์ทไทม์ มากกว่า 16,000 คน ที่มีความหลากหลายทั้งเพศ อายุ เชื้อชาติ ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ เพื่อตอกย้ำการส่งเสริมความเท่าเทียม และสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร (Engagement) เพื่อสามารถส่งมอบบริการที่ดีไปสู่ผู้บริโภค รวมทั้งขับเคลื่อนตามแนวทางธรรมาภิบาล (Good Governance)
R: Reduce Greenhouse Gases การให้ความสำคัญในมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้พลังงานทดแทน พร้อมผลักดันให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับบริษัทในเครืออย่างบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ในฐานะ Green Partnership ร่วมขับเคลื่อนทั้งในมิติของ Energy และ Waste Management โดยการคัดแยกขยะอาหารผ่านโครงการไม่เทรวม ซึ่งสามารถแยกขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากถึง 46.63 ตัน ลดขยะฝังกลบได้ถึง 38% ซึ่งจะเดินหน้าต่อในปี 2567 นี้ ทั้ง 2 องค์กรจะจับมือกันต่อเนื่องไปสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน ภายใต้โครงการ CRG Food Waste : Journey to Zero
G: Green Waste & Environment ในฐานะที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร จึงให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อลดขยะอาหาร รวมทั้งการส่งต่ออาหารส่วนเกิน หรือ Surplus Food ให้กับผู้ที่ต้องการผ่านการขับเคลื่อนร่วมกับ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (ประเทศไทย) หรือ SOS Thailand ผ่าน CRG Surplus Food โครงการส่งมอบอาหารคุณภาพดีส่วนเกินจากการจำหน่าย เพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารที่มีความต้องการ โดยนำร่องด้วยแบรนด์มิสเตอร์โดนัท ที่เริ่มข้บเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2019 และยังคงดำเนินโครงการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถส่งมอบมื้ออาหารส่วนเกินจากการขายกว่า 283,000 มื้อ ไปยังผู้ยากไร้ กลุ่มเปราะบาง จากชุมชน หรือหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
“ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนโครงการ CRG Food Waste : Journey to Zero บริษัทสามารถควบคุมปริมาณขยะอาหารให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% และในปีที่ผ่านมาการบริจาคอาหารส่วนเกินจากการจำหน่าย และการคัดแยกขยะอาหาร ยังช่วยลดปริมาณขยะอาหารก่อนนำไปฝังกลบได้ทั้งสิ้น 74,180 กิโลกรัม หรือเท่ากับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 187,680 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าโดยในปีนี้จะยังคงขับเคลื่อนความร่วมมือต่อเนื่อง พร้อมขยายผลเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น การจัดทำคู่มือเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานหน้าร้านและช่วยให้คัดแยกขยะอาหารได้ง่ายและถูกต้องมากขึ้น รวมทั้งการจัดการและส่งมอบอาหารส่วนเกินได้ตามมาตรฐานของการจัดการด้านสุขภาพอนามัยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” คุณณํฐ กล่าวทิ้งท้าย