บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “บริษัท”) ตอกย้ำองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลก ที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนเพื่อ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” (Enabling Sustainable Growth) พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า
ล่าสุดโรงงานในกลุ่มไทยเบฟจำนวน 18 แห่ง ได้รับมอบประกาศนียบัตรผ่านการทวนสอบตามมาตราฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม (มอก.9999) จากสถาบันรับรองมาตราฐานไอเอสโอ (Management System Certification Institute: MASCI) เพื่อส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก โดยมี นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตราฐานไอเอสโอ และ นายฐานิต ปิยะศิริศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันรับรองมาตราฐานไอเอสโอ ร่วมด้วย นายปราโมทย์ หรรษมนตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการผลิตสุรา ผู้จัดการโรงงาน พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหารจากโรงงาน 18 แห่งของไทยเบฟ เข้าร่วมในพิธีมอบประกาศนียบัตรดังกล่าว ณ โรงงานสุราบางยี่ขันจังหวัดปทุมธานี
เกี่ยวกับรายละเอียดการได้รับ มอก.9999 ในครั้งนี้ นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ กล่าวว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มอบใบประกาศนียบัตรมาตรฐาน มอก.9999: มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ในวันนี้การที่โรงงานกลุ่มไทยเบฟ ได้รับใบประกาศนียบัตรมาตรฐาน มอก.9999: มาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม จากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ
แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารและบุคลากรขององค์กรในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพ ความรู้ ความสามารถของทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน หรือประเทศชาติ ให้สามารถรับมือได้กับทุกการเปลี่ยนแปลงในสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน และเป็นส่วนสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควบคู่ไปกับเจตนาในด้านความรับผิดชอบต่อพนักงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม และหวังว่าการได้รับการรับรองนี้จะพัฒนาไปสู่ความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน ต่อไป
สถาบันฯ มีความภาคภูมิใจที่การบริการของสถาบันฯ ในด้านการทวนสอบมีส่วนสนับสนุนให้การดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรฐาน และที่สำคัญผมในนามของสถาบันฯ ขอแสดงความชื่นชมยินดีต่อคณะผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานที่มีความมุ่งมั่นร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ทุ่มเท จนบรรลุผลในวันนี้ และขอให้ท่านรักษาระบบจัดการที่ท่านได้รับการรับรองนี้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดไป
ทางด้าน นายปราโมทย์ หรรษมนตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เผยว่า “ ไทยเบฟตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร และดำเนินธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ความยั่งยืนของไทยเบฟที่ต้องการ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” (Enabling Sustainable Growth) ด้วยการกำหนดเป้าหมายและการวัดผลที่ชัดเจนในแต่ละด้านเพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างครบถ้วน โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจในฐานะผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การดำเนินงานของโรงงานทั้ง 18 แห่ง และโรงงานต่าง ๆ ในกลุ่มไทยเบฟ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่ม ที่ตระหนักถึงความสำคัญของระบบบริหารคุณภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย ความปลอดภัยในการทำงาน และการจัดการด้านพลังงาน โดยผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร (ISO 22000) มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) และระบบการจัดการด้านพลังงาน (ISO 50001) จึงกำหนดนโยบายให้ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหาร การจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้
1. ผลิตและพัฒนาสินค้า รวมทั้งการบริการ ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นที่พึงพอใจของลูกค้า การอนุรักษ์พลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึง
อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน พร้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และบริบทขององค์กร
2. ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารคุณภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การจัดการสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และการจัดการด้านพลังงานของทางราชการ และผู้มีส่วนได้เสียอย่างเคร่งครัด
3. ประเมินความเสี่ยงและโอกาสทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คุณภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การจัดการสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และการจัดการด้านพลังงาน ในการผลิตและพัฒนาสินค้ารวมทั้งบริการ โดยกำหนดมาตรการ กำจัดอันตรายและลดความเสี่ยง ให้เกิดความมั่นใจในการป้องกัน ควบคุมดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงโอกาสในการปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน
4. พนักงานและผู้ปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมขององค์กรทุกคน ร่วมกันพัฒนาสินค้า ปรับปรุงการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ปกป้องสิ่งแวดล้อม
อาชีวอนามัย ความปลอดภัยในการทำงาน และพลังงาน อย่างต่อเนื่อง
5. นำนโยบายมาเป็นกรอบในการกำหนดและทบทวนวัตถุประสงค์ ด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารคุณภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การจัดการสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และการจัดการด้านพลังงาน
6. สร้างจิตสำนึกให้พนักงานมีความตระหนัก และรับผิดชอบ ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต่อคุณภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รักษาสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและ
ความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงาน โดยจัดให้มีการฝึกอบรมแก่พนักงานและถ่ายทอดให้กับบุคคลที่ทำงานให้กับองค์กร
7. สนับสนุนการออกแบบ จัดซื้อ จัดหาเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต และบริการอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อการปรับปรุงสมรรถนะด้านคุณภาพ ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การจัดการสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และการจัดการด้านพลังงาน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
8. สื่อสารนโยบายให้ทราบ เข้าใจ และนำไปใช้ภายในองค์กร พร้อมประกาศนโยบายต่อสาธารณะ
ทั้งหมดนี้ คือความมุ่งมั่น ที่จะดำเนินการตามนโยบายพร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของคู่มือคุณภาพ ระเบียบ และวิธีปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของกลุ่มโรงงาน
“ น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใช้ในการผลิตสินค้าดี มีมาตรฐานมีความปลอดภัย ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน และการอนุรักษ์พลังงาน”
รายชื่อโรงงาน 18 แห่ง ที่ได้รับ มอก.9999
1. บริษัท แสงโสม จํากัด จังหวัดนครปฐม (แห่งที่ 1)
2. บริษัท เฟื่องฟูอนันต์ จํากัด จังหวัดปราจีนบุรี
3. บริษัท ธนภักดี จํากัด จังหวัดเชียงใหม่
4. บริษัท มงคลสมัย จํากัด จังหวัดอุตรดิตถ์
5. บริษัท กาญจนสิงขร จํากัด จังหวัดกาญจนบุรี
6. บริษัท แสงโสม จํากัด จังหวัดกาญจนบุรี (แห่งที่ 2)
7. บริษัท สุราบางยี่ขัน จํากัด จังหวัดปทุมธานี
8. บริษัท อธิมาตร จํากัด จังหวัดบุรีรัมย์
9. บริษัท เอส.เอส.การสุรา จํากัด จังหวัดอุบลราชธานี
10. บริษัท แก่นขวัญ จํากัด จังหวัดขอนแก่น
11. บริษัท เทพอรุโณทัย จํากัด จังหวัดหนองคาย
12. บริษัท สุรากระทิงแดง (1988) จํากัด จังหวัดสมุทรสาคร
13. บริษัท สีมาธุรกิจ จํากัด จังหวัดนครสวรรค์
14. บริษัท ยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ แอนด์ ดิสทิลเลอรี่ จํากัด จังหวัดนครปฐม
15. บริษัท ประมวลผล จํากัด จังหวัดนครปฐม
16. บริษัท หลักชัยค้าสุรา จํากัด จังหวัดราชบุรี
17. บริษัท นทีชัย จํากัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี
18. บริษัท สุรากระทิงแดง (1988) จํากัด จังหวัดกําแพงเพชร