กรมควบคุมโรค คาดปี 2567 ประเทศไทยจะมียอดผู้ป่วยไข้เลือดออกพุ่งสูงขึ้น มากถึง 3 เท่าของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี หรือประมาณ 276,945 คน พร้อมยอดผู้เสียชีวิตที่อาจสูงถึง 280 รายอีกด้วย
โดยโรคไข้เลือดออกที่ระบาดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่มีผลต่อการระบาดของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ด้วยเหตุนี้ เมื่อปี 2565 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมด้วยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และพันธมิตรทางด้านสาธารณสุขจากภาครัฐและเอกชนรวม 11 องค์กร จัดตั้งพันธมิตรเครือข่ายความร่วมมือว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย (Dengue-zero MOU) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกและลดอัตราการเสียชีวิตให้เป็นศูนย์ ล่าสุด ได้จัดประชุมเพื่อทบทวนกรอบยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์หลักในระยะเวลา 5 ปี พร้อมรายงานการดำเนินงานในโครงการต่าง ๆ ของปี 2566 และเสนอแผนงานในปี 2567 ต่อไป
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี ประธานความร่วมมือ Dengue-zero กล่าวว่า “สำหรับปี พ.ศ. 2567 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า ภาพรวมของไข้เลือดออกในปี พ.ศ. 2566 กับ พ.ศ. 2567 จะไม่แตกต่างกันมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2567 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นถึง 276,945 ราย และเป็นหนึ่งในสามโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รองมาจากโควิด-19และโรคไข้หวัดใหญ่ อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่ส่งผลให้อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝนและความชื้นเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่น ๆ”
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดตลอดปี และพบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหะ เป็นแล้วเป็นซ้ำอีกได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีมีถึง 4 สายพันธุ์ ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดผื่นที่ผิวหนัง อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึมหรือกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ
“ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสเดงกี เพราะฉะนั้นทุกคนต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นทายากันยุงและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและนอกบ้าน และถ้าหากมีอาการป่วยไข้ ให้ดูแลตัวเองตามอาการ แต่ต้องระวังการทานยาลดไข้ไม่ให้เกินขนาดที่เหมาะสม นอกจากนี้การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออกได้โดยการฉีดวัคซีนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคได้หากติดเชื้อเดงกี อยากให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงอันตรายจากโรคไข้เลือดออก เพราะรายต่อไปอาจจะเป็นคุณหรือคนใกล้ตัวของคุณ” นายแพทย์อมรกล่าวเสริม
เพราะโรคไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน ผ่านความร่วมมือ Dengue-zero หรือ Dengue-zero MOU นำโดยภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชน 11 องค์กร ประกอบด้วย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปีนี้นับว่าก้าวสู่ปีที่ 3 ของการทำงาน โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นวาระที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2567 จัดขึ้นเพื่อแถลงถึงความคืบหน้าและความสำเร็จในการปฏิบัติตามกรอบยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์หลักในระยะเวลา 5 ปี ในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกแก่ชุมชนทั่วประเทศ และสร้างเครือข่ายป้องกันการเกิดโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะลดอัตราการเกิดโรคและพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือ Dengue-zero มุ่งเน้นในการทำงานอย่างเข้มข้นกับองค์กรด้านสาธารณสุขในระดับประเทศและท้องถิ่น บุคลากรทางการแพทย์ ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงสูง โดยตลอดปี 2566 เราได้นำเสนอแคมเปญสื่อสารอย่างต่อเนื่อง อาทิ แคมเปญ #รีวิวจากอิงมา ผู้เป็นตัวแทนของเหยื่อไข้เลือดออกกว่า 1.2 ล้านคนในไทย งานส่งต่อความหวังจากอิงมา ชวนคนไทย ปักหมุด หยุดไข้เลือดออก และการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อ โฆษณา และบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อเป็นสร้างการเรียนรู้และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกแก่ประชาชน อีกทั้งได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในการปรับปรุงระบบ EPINET สำหรับการจัดเก็บข้อมูลในระบบสารสนเทศทางระบาดวิทยา การพัฒนาเว็บไซต์ www.knowdengueth.com ที่เป็นแหล่งรวมความรู้และการป้องกันโรคไข้เลือดออก การจัดสัมมนาเพื่อต่อยอดองค์ความรู้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และในปี 2567 พันธมิตรความร่วมมือ Dengue-zero จะยังคงสานต่อโครงการต่างๆ เช่น แคมเปญการสื่อสารเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกในมิติใหม่เพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการขยายการเข้าถึงของงานประชุมเชิงวิชาการให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และการทำงานกับชุมชนและโรงเรียนทั่วประเทศ
ถึงแม้ว่าโรคไข้เลือดออกจะยังคงระบาดอย่างหนัก แต่พันธมิตรความร่วมมือ Dengue-zero จะไม่หยุดนิ่งที่จะต่อสู้กับการระบาดนี้ เพื่อให้ทุกคนมีความมั่นคงด้านสุขภาพ นอกจากการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันโรคไข้เลือดออกแล้ว อีกหนึ่งทางเลือกในการลดการระบาดและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคคือการฉีดวัคซีน โดยสามารถปรึกษาแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้ท่านเพื่อขอรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกได้