เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถรักษาการเติบโตและความเป็นผู้นำในตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง จากการปรับตัวมาโฟกัสตลาด Business แทนตลาด Consumers ที่อ่อนไหวและผันผวนง่าย ทำให้ผลประกอบการล่าสุดของ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่าจะสามารถรักษาการเติบโตได้ที่ 8% สวนทางกับภาพรวมตลาดไอทีที่หดตัวลงกว่า 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
คุณยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังบริษัทปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมาโฟกัสตลาดธุรกิจและกลุ่มลูกค้าองค์กร หรือ B2B มากว่า 5 ปี ทำให้บริษัทสามารถรักษาการเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งและมีการเติบโตได้ในทุกตลาด เนื่องจากสามารถลดผลกระทบจากความผันผวนทั้งจากกำลังซื้อ และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด End Users หรือ B2C ลงได้ โดยเฉพาะการมีจุดแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ ทั้งฟังก์ชันการใช้งาน ที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัด และคุ้มค่า รวมทั้งการส่งมอบมิติในเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ตลาดในกลุ่มลูกค้าองค์กรให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อทำให้ห่วงโซ่ธุรกิจของตัวเองลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงได้มากขึ้น
“ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจตามกรอบของความยั่งยืน โดยจะมองหาพาร์ทเนอร์หรือเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อนเป้าหมายในการลดคาร์บอนภายในธุรกิจ หรือในซัพพลายเชนของตัวเอง แม้อาจจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม ซึ่งการที่เอปสันมีฐานลูกค้าสำคัญในกลุ่ม B2B และมีจุดแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เรื่องของการลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอน หรือการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องไปกับการตอบโจทย์ความยั่งยืนในธุรกิจ จึงถือเป็นอีกหนึ่งแต้มต่อที่จะช่วยให้สามารถขยายตลาดลูกค้าในกลุ่มองค์กรได้เพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วยเช่นเดียวกัน”
โดยในปัจจุบันเอปสัน ประเทศไทย มีลูกค้าในกลุ่มองค์กรอยู่ที่ราว 40% และมีแผนจะขยายสัดส่วน B2B ให้มากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวน และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาด B2C รวมทั้งสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารักษาระดับการเติบโตในปีนี้ไว้ที่ 8% แม้จะยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจในประเทศ และของโลกที่ยังชะลอตัว หรือความกังวลต่อปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่จะส่งผลกระทบมาถึงซัพพลายเชนของธุรกิจ แต่เชื่อมั่นว่าปัจจัยบวกในประเทศ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณของปี 2567 จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้
ทั้งนี้ เอปสัน ประเทศไทย จะใช้กลยุทธ์ 5S เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดพร้อมทั้งสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการทำตลาด ที่สามารถสร้างการเติบโตได้แบบ S-curve และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนแนวคิดด้านความยั่งยืนซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญในการทำธุรกิจในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียด ต่อไปนี้
1. S-curve strategy : การเพิ่มไลน์อัพสินค้าและนวัตกรรมใหม่เข้ามาทำตลาด เพื่อสร้างการเติบโตแบบ S curve ให้ธุรกิจ ทั้งเพื่อการขยายฐานไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ และเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดได้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาสินค้าเพียงกลุ่มเดียว หรือการเข้าสู่วงจรที่อาจจะกลายเป็นช่วงขาลงของผลิตภัณฑ์บางกลุ่ม
โดยปีนี้บริษัทจะเปิดตัวหัวพิมพ์ ‘Heat-Free Technology’ ทั้งในกลุ่ม EcoTank และ WorkForce อย่างละ 2 รุ่น เพื่อแข่งขันในตลาดเครื่องพิมพ์เลเซอร์ขาวดำ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มองหาเครื่องพิมพ์ที่คุ้มค่า ต้นทุนต่ำแต่มีประสิทธภาพสูง สำหรับสำนักงาน บริษัท สถาบันศึกษา โรงพยาบาล เป็นต้น โดยจุดเด่นของ Heat-Free Technology จะลดการใช้พลังงาน และปล่อย CO2 น้อยลง 85% รวมทั้งลดการเปลี่ยนอะไหล่ลงได้กว่า 59% เมื่อเทียบกับเครื่องเลเซอร์ขนาดใหญ่
โดยสินค้าใหม่ทั้ง 4 รุ่น ประกอบด้วย เครื่องพิมพ์อิงค์แท็งค์ Epson EcoTank M2050 รุ่นมัลติฟังก์ชั่น และ Epson EcoTank M1050 ซิงเกิลฟังก์ชั่น และในกลุ่ม WorkForce ทั้ง 2 รุ่น ได้แก่ Epson WorkForce Pro WF-M5899 เครื่องมัลติฟังก์ชั่น และ Epson WorkForce Pro WF-M5399 เครื่องซิงเกิลฟังก์ชั่น ที่ผสานคุณค่าด้านความยั่งยืนเข้ากับประสิทธิภาพการพิมพ์ได้อย่างลงตัว
2. Sales model : การพัฒนารูปแบบการขายที่หลากหลาย ตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการทั้งในเรื่องของงบประมาณ ประเภทของงานพิมพ์และปริมาณการใช้ในแต่ละเดือน ซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยได้พัฒนาโซลูชั่น EasyCare ที่ลูกค้าสามารถควบคุมต้นทุนการพิมพ์ของตัวเองได้ ไม่ต้องสต๊อกหมึก เพราะเอปสันจะส่งหมึกให้โดยคำนวณค่าใช้จ่ายจากจำนวนพิมพ์รายแผ่น เป็นต้น หรือการมีโซลูชั่นการขายสำหรับธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้อย่างครอบคลุม
3. Service excellence : การให้ความสำคัญเรื่องบริการหลังการขาย ทั้งการพัฒนาทีม Pre-sales สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำโซลูชันที่เหมาะกับแต่ละธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวมถึงการเพิ่มศูนย์บริการเพื่อรองรับการให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันมีศูนย์ให้บริการ 182 แห่งทั่วประเทศ และมีกว่า 140 แห่ง ที่สามารถให้บริการแบบ On site ได้
4. Solution Center : การพัฒนาพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร ซึ่งจะอยู่ที่สำนักงานใหม่ ชั้น 22 อาคารปัน (PUNN Smart Workspace) ด้วยงบลงทุน 30 ล้านบาท เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงและสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มของเอปสัน และใช้จัดอบรมเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ตรงให้ผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ สะท้อนการทำงานยุคใหม่ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น รวมไปถึงตอบโจทย์การขับเคลื่อน Low Carbon Society ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของลูกค้าได้ด้วย โดยเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มีนาคม 2567 นี้
5. Sustainable value : การสร้างคุณค่าด้านความยั่งยืน ซึ่งถือเป็น DNA ของบริษัทแม่อย่าง ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ที่ได้ดำเนินธุรกิจบนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระยะยาว ‘Environmental Vision 2050’ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 รวมทั้งเลิกการนำพลังงานฟอสซิลมาใช้ภายในธุรกิจ ซึ่งในเดือน ธันวาคม 2566 ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ถือเป็นบริษัทแรกของญี่ปุ่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่สามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนแบบ (Renewable) 100% ตามกำหนดเวลาที่ให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2564 ด้วยการจัดหา Renewable มารองรับการใช้ไฟฟ้าจากทุกโรงงานและสำนักงานของเอปสันทั่วโลก ที่มีปริมาณการใช้ 876 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ทำให้เอปสัน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ราวปีละ 4 แสนตัน พร้อมมุ่งหน้าผลักดันสู่การเป็น Negative Carbon Company ในที่สุด
“เอปสันจะมุ่งผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงานของตัวเองมากขึ้น หรือสนับสนุนการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ผ่านโครงการความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานจากกระบวนการผลิตและขั้นตอนต่างๆ รวมไปถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เพื่อมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การขับเคลื่อนโครงการร่วมกับ WWF ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทย นอกจากมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่เพิ่ม Positive Impact อย่างหัวพิมพ์ Heat-Free Technology หรือหมึก UltraChrome ยังขับเคลื่อนแคมเปญ ‘33 x Trees’ เพื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 33 และร่วมรักษาผืนป่าของไทย โดยชูประเด็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สูญเสียไปจากไฟป่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การดูงานของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ที่ จ.นครราชสีมา หรือจัดพิธีบวชป่าลับแล ที่ จ. ราชบุรี และกิจกรรม ‘คาราวานสังฆทานต้นไม้’ ที่ จ.ลำปาง ที่ได้ถวายต้นกล้าสัก 333 ต้นเป็นพุทธบูชาให้แก่วัด เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่วัดและชุมชนต่อไป”