WorkVenture เปิดอินไซต์ทาเลนท์ไทย ‘เงินสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด’ ยุคนี้ต้องฟูลออพชั่นทั้ง ‘งาน เงิน คน องค์กร’ ส่งผลให้การทำ Employer Branding หรือ ‘แบรนด์นายจ้าง’ เติบโตมากขึ้น พร้อมพบข้อมูลว่าองค์กรใช้งบเพื่อสื่อสารเรื่องของแบรนด์นายจ้างในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นแตะ 1 พันล้านเลยทีเดียว
คุณจีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ Head of Employer Branding/ ที่ปรึกษาอาวุโสทางด้านการสร้างแบรนด์นายจ้าง (Employer Branding) จาก WorkVenture เปิดเผยว่า อินไซต์คนทำงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในยุค Post-covid เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก จากที่ก่อนหน้า อาจพิจารณาเรื่องของ ‘เงิน’ เป็นปัจจัยหลักที่มาเป็นอันดับแรก ทั้งเงินที่ได้รับในปัจจุบัน และ Future Earning หรือรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งการดูภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือขององค์กรเป็นส่วนประกอบ
แต่ยุคหลังโควิด แม้เรื่องเงินจะยังคงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญอยู่ในอันดับแรกๆ ทั้งการเลือกทำงานหรือเลือกอยู่ต่อ แต่ลดดีกรีความสำคัญลง และไม่สามารถใช้ดึงดูดกลุ่มคนให้มาทำงานกับองค์กรได้มากนัก โดยเฉพาะกลุ่มทาเลนท์ที่ตลาดต้องการที่จะมองปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ทั้งการใช้ชีวิตในองค์กร สังคมในองค์กร ลักษณะของงานที่ต้องทำ เจ้านายเป็นอย่างไร งานที่ทำช่วยพัฒนาตัวเองแค่ไหน มีประโยชน์แค่ไหน โอกาสเติบโตเป็นอย่างไร สุขภาพเป็นอย่างไร งานที่ทำมีความหมายและมีคุณค่าอยางไร หรือเมื่อทำงานแล้วจะมีความสุขหรือไม่
“อินไซต์เหล่านี้สะท้อนว่า องค์กรไทยต้องปรับตัว เพราะแม้ทุกคนที่มาทำงานจะต้องการเงินเพื่อเลี้ยงชีพ แต่สุดท้ายแล้ว การใช้ชีวิตยังคงต้องการสิ่งอื่นๆ มากกว่าแค่เรื่องของเงิน โดย 4 ประเด็นสำคัญที่คนทำงานยุคนี้ให้ความสำคัญ และมีส่วนทั้งทำให้คนยังอยู่ในองค์กรหรือตัดสินใจลาออก ซึ่งครอบคลุมทั้งงาน เงิน คน องค์กร ซึ่งสิ่งที่องค์กรสามารถขับเคลื่อนเพื่อสามารถรักษาคนเก่ง คนดีเอาไว้ โดยไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่ม คือ การทำ Employer Branding หรือแบรนด์องค์กรในฐานะนายจ้าง เพื่อให้ตอบโจทย์คนทำงาน เช่น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร ถูกจริตคนทำงาน เน้นการดูแล ให้เกียรติ ทำงานเป็นทีมเวิร์ค เพื่อรักษาให้คนอยู่กับองค์กรในระยะยาว เพราะหากต้องแก้ด้วยเงิน หรือสวัสดิการ นอกจากจะทำให้องค์กรมีต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไม่สามารถรรับประกันได้ว่าจะสามารถรักษาคนไว้ในระยะยาวได้หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความเป็นตัวของตัวเองและมีวิธีคิด มุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เลือกที่จะไม่อยู่ในองค์กรที่บรรยากาศ Toxic หรือไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของตัวเอง รวมทั้งการแข่งขันในตลาดแรงงานที่สูง และพร้อมเปิดโอกาสให้คนมีความสามารถ จึงอาจตัดสินใจไม่ไปต่อกับองค์กรที่ไม่ได้เป็นแบบที่ตัวเองต้องการ”
ผลสำรวจสะท้อนปัจจัยที่คนรุ่นใหม่ใช้ตัดสินใจ เพื่อเลือกทำงานใหม่ โดย WorkVenture
Employer Branding Vs Corporate Branding
ในมิติของการสร้างแบรนด์องค์กร ก่อนหน้าเราอาจคุ้นเคยกับคำว่า Corporate Branding แต่การทำ Employer Branding ก็ถือเป็นการทำแบรนด์องค์กรอย่างหนึ่ง แต่เป็นการทำแบรนด์ในฐานะนายจ้าง หรืออาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ‘แบรนด์นายจ้าง‘ ซึ่งเป็นมิติที่สะท้อน Employment Experience หรือประสบการณ์ของคนทำงาน ที่สะท้อนภาพการใช้ชีวิตในองค์กรได้มากกว่า ต่างจากการทำ Corporate Branding ที่มักจะสะท้อนผ่านมิติขององค์กร เช่น ชื่อเสียง ความยิ่งใหญ่ ความมั่นคง การเป็นองค์กรของคนเก่ง เป็นการบอกเล่าถึงองค์กรในฐานะคนทำธุรกิจ ซึ่งอาจจะดีต่อตัวองค์กร คู่ค้า ซัพพลายเออร์ ผู้ถือหุ้น แต่อาจะไม่ใช่สิ่งที่คนต้องการเข้าไปทำงานอยากรู้ และไม่แน่ใจว่า ตัวตนและทักษะที่มีอยู่จะสอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรเป็นหรือไม่
ขณะที่การทำแบรนด์องค์กรในฐานะนายจ้าง หรือ Employer Branding จะเน้นการสื่อสารไปถึงคนทำงานโดยตรง เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบหรือลักษณะการทำงาน โอกาสในการก้าวหน้าหรือเติบโต และประเมินได้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อมาทำงานที่องค์กร ขณะที่องค์กรก็จะสามารถดึงดูดคนที่เหมาะสมและตอบโจทย์สิ่งที่องค์กรต้องการ ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาในการสรรหาบุคลากรเท่านั้น แต่ในระยะยาว สิ่งนี้จะเป็นตัวตัดสินความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขันของบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย
“ปัจจุบันหลายองค์กรให้ความสำคัญในการทำแบรนด์นายจ้างเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็ก เพื่อสื่อสารตรงถึงกลุ่มทาเลนท์ที่ต้องการ โดยเห็น 3 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้มากขึ้นช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งการที่ผู้นำองค์กรเห็นความสำคัญและเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง หรือการทุ่มงบประมาณสำหรับทำ Employer Branding โดยเฉพาะ จากที่ก่อนหน้าอาจจะเป็นงบรวมอยู่ในก้อนของงานด้าน Corportae โดยประเมินว่าเม็ดเงินในเรื่องนี้อาจเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 1 พันล้านบาท ขณะที่องค์กรเองก็หันมาสื่อสารเรื่องภายในของตัวเองอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น เพื่อสะท้อนองค์กรแบบ ‘สวยตรงปก ไม่จกตา’ ช่วยการตัดสินใจของคนทำงานและทำให้องค์กรได้คนในแบบที่ต้องการ ดังนั้น องค์กรที่ทำ Employer Branding ได้อย่างแข็งแกร่ง จึงต้องรู้จุดแข็งของตัวเอง เพื่อนำมาต่อยอดเป็นจุดขายและสามารถดึงดูดทาเลนท์ที่องค์กรต้องการ จึงเป็นทั้งเครื่งอมือที่ช่วยการคัดกรอง ‘คนที่ใช่’ ให้กับองค์กรได้ในเบื้องต้น รวมทั้งยังช่วยให้สามารถรักษาคนเก่ง และคนดีให้อยู่กับองค์กรได้ในระยะยาวอีกด้วย”