“ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขับเคลื่อนความยั่งยืนในธุรกิจจำเป็นต้องใช้เงิน แต่เราสามารถเริ่มก่อนได้แม้จะยังไม่มีเงิน เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่ได้เริ่มเดิน และไม่ได้เรียนรู้ว่าจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร”
คำกล่าวของ คุณมณีสุดา ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ S&P ธุรกิจที่ได้รับการประเมิน ‘SET ESG Rating’ ประจำปี 2566 ในระดับ A รวมทั้งยังติดลิสต์หุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งรางวัลการันตีในฐานะธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในมิติของธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากหลากหลายเวทีทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
เป้าหมายบรรลุ 7 มิติความยั่งยืน
การขับเคลื่อนความยั่งยืนของ S&P มีความน่าสนใจ ด้วยรูปแบบ Learning by Doing สามารถเป็นทั้งแรงบันดาลใจ รวมทั้งเป็นกรณีศึกษาให้อีกหลายธุรกิจที่ต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางบริบทใหม่ของโลกธุรกิจที่จากนี้จะไม่สามารถโฟกัสแค่เพียงการสร้างกำไรเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป
คุณมณีสุดา กล่าวว่า ตลอด 50 ปี S&P มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจผ่านการสร้างสมดุลให้กับทั้ง 3P คือ Profit, People และ Planet เพื่อพัฒนาให้ทุกภาคส่วนที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน ผ่านการบริหารในแต่ละมิติของ Supply Chain ให้สร้าง Positive Impact ได้อย่างครอบคลุม พร้อมวางเป้าหมายตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG Goals โดยเลือกมิติที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อนำมาวางเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสิ้น 7 เป้าหมาย ประกอบด้วย
1. เป้าหมายที่ 2 Zero Hunger: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
2. เป้าหมายที่ 3 Good Health and Well-Being: สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย
3. เป้าหมายที่ 4 Quality Education: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
4. เป้าหมายที่ 8 Decent Work and Economic Growth: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
5. เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
6. เป้าหมายที่ 13 Climate Action: ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
7. เป้าหมายที่ 17 Partnerships for the Goals: ร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
S&P ยังได้ตั้ง ‘สำนักพัฒนาความยั่งยืน’ ในปี 2561 เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน และเตรียมความพร้อมรับมือกับบริบทใหม่ของโลกธุรกิจ เพราะเชื่อว่าเมกะเทรนด์ในเรื่องความยั่งยืนจะเข้ามา Set Standard และมีบทบาท หรือกลายเป็นกฏเกณฑ์ใหม่ๆ ของการขับเคลื่อนธุรกิจจากนี้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นหน่ึงในธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่ประกาศเป้าหมายขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน สอดคล้องไปกับทิศทางของประเทศที่กำลังขับเคลื่อนสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่านไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท
“ข้อจำกัดสำคัญในช่วงเริ่มต้นการขับเคลื่อน คือ การอยู่ระหว่างสถานการณ์วิกฤตโควิด ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกิจอย่างมาก แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน จำเป็นต้องมีการลงทุนและต้องใช้เงินในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับมีการลงทุนก้อนใหญ่กว่า 500 ล้านบาทสำหรับสร้าง Smart Distribution เพื่อเพิ่มศักยภาพและบริหารจัดการด้านขนส่งทั้งระบบในช่วงนั้นเช่นกัน เราจึงเลือกเริ่มต้นจากสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ก่อนโดยยังไม่ต้องใช้เงินแต่สามารถตอกย้ำภาพ Green Restaurant เช่น การปรับพฤติกรรมพนักงานออฟฟิศและหน้าร้าน ทั้งการประหยัดพลังงาน การแยกขยะเพื่อรีไซเคิลเป็นยูนิฟอร์ม การลดการใช้พลาสติกทั้งในไลน์ผลิตและหน้าร้าน ลดปริมาณขยะอาหาร รวมทั้งทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อเป็นกระบอกเสียงไปสู่ลูกค้าและสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืนไปด้วยกัน”
ขับเคลื่อนอิมแพ็ค ตลอด Supply Chain
ด้วยความมุ่งมั่นและจริงจังในการขับเคลื่อน ทำให้ S&P เป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน รวมท้ังต้นทุนที่ลดลงจากการขับเคลื่อนในช่วงเริ่มต้น ทำให้บอร์ดเริ่มไฟเขียวในการลงทุนเพื่อขยายผลการขับเคลื่อนด้าน Green Manufacturing เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ตามเป้าหมาย ทำให้ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ของเอสแอนด์พี 94% ผลิตด้วยพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยกระดับมาตรฐานสู่การเป็นองค์กรที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเหมาะสม หรือ CFO (Carbon Footprint Organization) รวมทั้งการรับรองในรายสินค้าผ่านมาตรฐาน CFP (Carbon Footprint Product) และในบางรายการ เช่น เค้กกล้วยหอม ที่สามารถเพิ่มมาตรฐาน CFR (Carbon Footprint Reduction) ด้วยการลดคาร์บอนได้เพิ่มขึ้นจากมาตรฐานเดิม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งโซลาร์รูฟเพิ่มเติมทั้งในโรงงานเบอเกอรี่ที่บางพลีและลำพูน โรงงานอาหารที่ลาดกระบัง และใน Smart Distribution เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนได้ราว 20% พร้อมนำระบบ E-Ordering เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ซึ่งมีส่วนช่วยลด Food Waste ของปี 2566 ลงได้เกือบ 100 ล้านบาท จาก 240 ล้านบาท เหลือเพียง 168 ล้าน และสามารถส่งมอบมื้ออาหารให้ชุมชนต่างๆ ได้กว่า 48 ตัน รวมกันมากกว่า 2 แสนมื้อ พร้อมทั้งได้นำรถ EV คันแรกมาใช้ในการขนส่งสำหรับพื้นที่ใน กทม. และปริมณฑล ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยปีนี้มีแผนนำมาใช้เพิ่มเติมอีกราว 4 คัน เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนในซัพพลายเชนลงได้มากขึ้น
“ด้านการจัดซื้อวัตถุดิบ จะมุ่งเน้นนโยบาย Responsible Sourcing เพื่อมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในภาคของ Food เช่น ส้ม ฝรั่ง ทุเรียน เผือก ผักออแกนิกส์ต่างๆ และ Non-food ทั้งกระจูด กระเป๋า ตระกร้า เพื่อนำมาผลิตเป็นเบเกอรี่หรือเมนูอาหาร รวมทั้งสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์จัดกระเช้าช่วงเทศกลายต่างๆ เพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งทุกครั้งที่ลงพื้นที่จะได้มากกว่าแค่การไปซื้อสินค้า แต่ยังได้รับรู้เรื่องราวเชิวบวกที่ S&P มีส่วนเข้าไปช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ความอบอุ่นที่มากขึ้นของหลายๆ ครอบครัวได้ด้วย”
การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ทำให้ S&P สามารถตอกย้ำคุณค่าของแบรนด์ในฐานะผู้ส่งมอบอาหารคุณภาพเพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีให้กับผู้คน รวมทั้งสามารถบรรลุทั้ง 7 เป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็น SDG2 , SDG3 และ SDG 12 เพราะการอยู่ในธุรกิจอาหารที่มุ่งพัฒนาอาหารคุณภาพ และตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ตามคำมั่นสัญญาของบริษัท “Healthier Family, Happier World” เพื่อให้ผู้บริโภค คู่ค้า พันธมิตรได้มาซึ่งสุขภาพดีและมีความสุข รวมถึงแนวทางจัดการอาหารส่วนเกินร่วมกับพันธมิตรเพื่อส่งมอบให้ชุมชนหรือผู้ที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง
SDG 4 , SDG 8 :จากการขับเคลื่อน Responsible Source ที่ช่วยกระจายรายได้ผ่านการรับซื้อสินค้าโดยตรงจากพื้นที่ต่างๆ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต พร้อมสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชนต่างๆ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และนำมาซึ่งโอกาสในการได้รับการศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นในอนาคต
SDG 13 : การขับเคลื่อนเพื่อลดผลกระทบ Climate Change ทั้งการปรับเปลี่ยนระบบผลิตทั้งสินค้าและบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการขนส่งให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการใช้พลังงานทดแทน และวัสดุรักษ์โลก รวมท้ังนโยบายบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน ตั้งแต่การใช้ข้อมูลในการสั่งอย่างแม่นยำเพื่อให้เหลือทิ้งน้อยที่สุดมาตั้งแต่ต้นทาง ส่วนปลายทางก็จะนำไปบริจาคให้ผู้ที่ต้องการเพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบ
SDG 17 : การขายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งคู่ค้า พันธมิตร รวมทั้งผู้บริโภค เช่น การตั้งจุดทิ้งขยะรีไซเคิล เพื่อนำขยะพลาสติกไปแปลงเป็นยูนิฟอร์ม หรือการจัดการขยะอาหารร่วมกัน หรือการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการด้านสังคมต่างๆ เป็นต้น
S&P สามารถขับเคลื่อน Positive Impact ให้เกิดขึ้นภายในซัพพลายเชนธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสามารถตอบโจทย์ครบท้ัง 3P ได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของผลกำไรที่เติบโตได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 7 เท่า แม้ว่ายอดขายจะยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนโควิดได้ รวมทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤตบริษัทยังแบกรับภาระขาดทุนเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งบริษัทมาในรอบ 49 ปี ซึ่งความสำเร็จต่างๆ เหล่านี้มี ‘บุคลากร‘ ในองค์กรเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่ได้รวมพลังใจเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกันได้ในที่สุด