ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งแก้ปัญหาคอขวดในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนของภาคธุรกิจ เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อคำนวณข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร (CFO) คาดได้ใช้ปีนี้ พร้อมจับมือ 7 มหาวิทยาลัย เร่งพัฒนาหลักสูตรเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเติมเต็ม Ecosystem
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างการพัฒนา Carbon Calculator หรือเครื่องคำนวณคาร์บอน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจไทยสามารถคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์ได้ด้วยตัวเอง เพื่อช่วยแก้ปัญหาสำคัญจนกลายเป็นคอขวดในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติของ Decarbonization เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ จากตัวเลขบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ราว 900 แห่ง มีบริษัทเพียง 200 กว่าแห่งที่สามารถจัดทำรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กรได้ และมีเพียง 55 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการ Verify หรือรับรองข้อมูลคาร์บอนจากบุคคลที่ 3 พร้อมทั้งสามารถประกาศเป้าหมาย Net zero ขององค์กรได้
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง 3 ปัญหาคอขวดในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะการที่องค์กรส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลว่าการธุรกิจของตัวเองมี Carbon Emissions เท่าไหร่ ขณะที่การวัดส่วนใหญ่ยังเป็นลักษณะ Self Report เนื่องจากต้นทุนในการวัด หรือการรับรองจากบุคคลที่ 3 ซึ่งค่อนข้างสูง รวมทั้งการขาดแคลนบุคลากรในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่สามารถ Verify ได้อย่างถูกต้อง
เป็นที่มาให้ SET เร่งสร้าง Carbon Calculator หรือ ‘เครื่องคำนวณคาร์บอน’ เพื่อเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Data Platform เพื่อให้ภาคธุรกิจต่างๆ นำไปใช้เป็นแนวทางเพื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจของตัวเอง และสามารถคิดคำนวณเป็นตัวเลขข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์ที่แต่ละองค์กรสร้างในเบื้องต้นได้ (CFO) รวมทั้งการนำไปใช้ภายในซัพพลายเชนเพื่อวัดคาร์บอนในแต่ละสโคปได้
ซึ่งขณะนี้ได้ร่าง TOR เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่จะเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจจะต้อง Customize ในระดับหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับทั้ง 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มทรัพยากร, กลุ่มธุรกิจการเงิน, กลุ่มบริการ, กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มเทคโนโลยี โดยคาดว่าจะสามารถแล้วเสร็จและนำมาใช้งานได้จริงภายในปีนี้
“การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่สามารถคำนวณ CFO ในเบื้องต้น และเป็นข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐาน จะช่วยลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจในการจ้างบริษัทมาช่วยวัดหรือคำนวณคาร์บอน ซึ่งค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท ขณะเดียวกันยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการเข้ามา Verify คาร์บอนเครดิตที่วัดหรือคำนวณได้ เนื่องจาก สามารถสอบทานได้ภายในครั้งเดียว โดยไม่ต้องเริมทำการวัดตั้งแต่เริ่มกระบวนการ จึงช่วยลดเวลาและอำนวยความสะดวกในการรับรองข้อมูลได้อีกทางหนึ่งด้วย”
นอกจากนี้ SET มีแผนช่วยขับเคลื่อนเพื่อปลดล็อก 3 ปัญหาคอขวดสำคัญ ทั้งในขั้นตอนของการเก็บข้อมูล การวัดและคำนวณข้อมูล รวมทั้งการรับรองข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง รวมทั้งการร่วมกับทางกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) พัฒนาโปรเจ็กต์นำร่องเพื่อเปิดโค้ชชิ่งธุรกิจต่างๆ เพื่อสามารถนำไปต่อยอดเพื่อวางระบบขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนให้กับธุรกิจของตัวเอง รวมทั้งการจับมือกับ 7 มหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรด้านการจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเข้ามารองรับภายใน Ecosystem มากขึ้นเป็นต้น
“การดำเนินการเพื่อให้ได้การรับรองคาร์บอนเครดิต แม้จะเป็นต้นทุนแต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวช่วยให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งธุรกิจไม่ควรมุ่งแค่การออฟเซ็ตคาร์บอนเครดิตเท่านั้น แต่ต้องมีการขับเคลื่อนเพื่อลดคาร์บอนด้วยตัวเอง เพราะจะดีต่อธุรกิจในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง จากการประหยัดพลังงานที่ทำได้ หรือโอกาสในการขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมไปถึงโอกาสในการร่วมทุนกับบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มองเพียงแค่ข้อมูลทางการเงิน แต่ยังมองถึงข้อมูล Carbon Emissions เมื่อเทียบกับเพอร์ฟอแมนซ์ที่ทำได้ด้วย ขณะที่การเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อช่วยลดปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น ทาง SET เชื่อว่า จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรายงาน CFO รวมทั้งได้รับการ Verify และมีความพร้อมในการขับเคลื่อนสู่ Net Zero มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”