มหิดลฯ ชี้สายงานที่ทุกองค์กรต้องมีในอนาคต “นักวิเคราะห์ความยั่งยืน” เร่งพัฒนาหลักสูตรเติมเต็มโลกยุค Low Carbon พร้อมจับมือ UNESCAP และมหาวิทยาลัยจีน ร่วใผลักดันสถาบันการศึกษาของไทยสู่สถาบันการศึกษาที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน
รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เพื่อการปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทโลก และทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่จากนี้จะไม่สามารถมุ่งสร้างแค่ผลกำไรได้เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมองถึงผลกระทบทั้งในมิติของสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เพื่อขับเคลื่อนสู่การพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืนตามกรอบ ESG ( Environment Social and Governance) พร้อมบรรลุ 17 เป้าหมายด้านความยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs Goal
ดังนั้น ในอนาคตทุกองค์กรจำเป็นต้องมีสายงาน “นักวิเคราะห์ความยั่งยืน” (Sustainable Analyst) ที่พร้อมทำงานร่วมกับสหสาขาวิชารองรับการเพิ่มศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการในอุตสาหกรรมและการส่งออก ตลอดจนปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่ง “คาร์บอนเครดิต” เพื่อการบรรลุภารกิจในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพิ่มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน องค์กรต่างๆ ประเทศชาติ และสิ่งแวดล้อมโลกที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ความยั่งยืน คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ดิน – น้ำ – อากาศ รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สิ่งแวดล้อมเกษตร สิ่งแวดล้อมชุมชน การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วนต่างๆ อาทิ การจัดการขยะ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และการร่วมรณรงค์ใช้พลังงานทดแทนวิกฤติขาดแคลนน้ำมันและเชื้อเพลิง ฯลฯ ไปจนถึงการเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันนโยบายเพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
“แนวทางดังกล่าวจะเป็นทิศทางสำคัญสู่การพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการทางวิชาการของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เตรียมสร้างฐานข้อมูลวิชาการทางด้าน Climate Change และ Net Zero Emission ให้เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สามารถสืบค้นจากชื่อผู้วิจัย งานวิจัย และนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมสู่การต่อยอดขยายผลที่ยั่งยืน เพื่อสอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่โลกกำลังเผชิญอยู่”
นอกจากนี้ ยังมีแผนร่วมสร้างหน่วยวิจัยร่วม (Joint Unit) กับองค์กร และมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อาทิ UnitedNations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (UNESCAP) และมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ – เจียวทง (SJTU – Shanghai Jiaotong University) สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมผลักดันสถาบันการศึกษาของไทยสู่สถาบันการศึกษาที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Campus) ซึ่งจะเป็นด่านสำคัญสู่การบรรลุภารกิจ Net Zero Emission ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามเป้าหมายของประเทศไทย
นับเป็นเวลา 50 ปีแล้วที่ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการเรียนการสอนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรต่อลมหายใจโลก นำโดย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และคณะอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลในสาขาที่เกี่ยวข้อง จนสามารถผลิต “นักวิเคราะห์ความยั่งยืน” (Sustainable Analyst) ป้อนเข้าสู่ระบบนิเวศธุรกิจ เพื่อมุ่งขับเคลื่อนสู่สังคม Low Carbon จนทำให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบ และได้รับการอ้างอิงสูงเป็นจำนวนมาก อาทิ การคิดค้นโมเดลในการคำนวณค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เพื่อลดมลภาวะ การติดตามและบริหารจัดการคาร์บอนฟุตพรินท์ให้กับองค์กรทั่วประเทศ เทคโนโลยีพลังงานสะอาด ตลอดจนขับเคลื่อนนโยบายสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรมแกนนำสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับชุมชน ประเทศชาติ และการสร้างเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในระดับโลก ฯลฯ เป็นต้น