โรงแรมไทย ปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ สูงกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียและของโลก ด้านผู้ประกอบการ 96.5% ไม่เข้าใจการวัดผลกระทบและการจัดทำรายงานความยั่งยืน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อ้างอิงรายงาน A Net Zero Road Map for Travel and Tourism ของ World Travel & Tourism Council (WTTC) ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ราว 8% ของการปลดปล่อย GHG ทั่วโลก โดยเป็นการปลดปล่อยมาจากภาคธุรกิจโรงแรมโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 1%

แต่ผู้ประกอบการโรงแรมทุกแห่งต่างให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืน และวางแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก

1. ความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Travel) เช่น การจัดงานประชุมสัมมนาทั้งจากองค์กรต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง พบว่า กว่า 78% ของกลุ่มตัวอย่าง​ในภูมิภาคยุโรป และ 61% ของกลุ่มตัวอย่างในอเมริกาเหนือ ต้องการให้โรงแรมที่บริษัทใช้สามารถรับรองผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากลหรือของแต่ละประเทศได้ (เช่น Green Key, GSTC และ Green Globe) โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจชั้นนำของโลก เช่น ​Siemens, Microsoft, Amazon และ Ernst & Young

2. การแข่งขันในตลาด จากการที่หลายแบรนด์เริ่มขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืนแล้ว เช่น การประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ของเชนขนาดใหญ่ รวมทั้งเริ่มเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับเปลี่ยนในมิติของฮาร์ดแวร์ เช่น การใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการใช้ไฟและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในมิติของซอฟต์แวร์ เช่น ​การติดตั้งระบบ​บริหารจัดการพลังงาน การติดเซนเชอร์บันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและน้ำ รวมถึงการใช้วัสดุ Recycle หรือ Upcycle ในการตกแต่งโรงแรม หรือการใช้วัตถุดิบต่างๆ จากภายในท้องถิ่น เพื่อลดการปลดปล่อย GHG Emission ที่เกิดจากการขนส่ง รวมทั้งการออกแบบโรงแรม และรูปแบบการบริหารจัดการตามแนวทาง Decarbonize เพื่อมุ่งสู่การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์​

3. การปรับสู่ Green Supply Chain ​พันธมิตรทางการค้าที่ต้องการคู่ค้าที่มีการปรับตัวสู่ความยั่งยืน อย่าง ออนไลน์ทราเวลเอเจ้นท์ (OTAs) รายใหญ่ ที่เริ่ม​ระบุสถานะของโรงแรมและที่พักที่ได้รับการรองรับว่ามีการจัดการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ

เช็คสถานะความพร้อมโรงแรมและที่พักในไทย

สถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของโรงแรมในไทย ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งมีจำนวนผู้ประกอบการไทยที่มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero ยัง​น้อยอยู่ และส่วนใหญ่ที่ดำเนินการเรื่องนี้จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก​

โดย​ข้อมูลของ Cornell Hotel Sustainability (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567) พบว่า ค่าเฉลี่ย GHG Emissions ต่อการพักของลูกค้า 1 ห้อง ของโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ 0.064 ตันคาร์บอน (tCO2e) ​สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงแรมในภูมิภาคเอเชียที่มี GHG Emissions 0.057 ตันคาร์บอน หรือเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 0.019 ตันคาร์บอน

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการไทยสนใจดำเนินการเรื่องความยั่งยืน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการวัดผล GHG Emissions และการจัดทำรายงานความยั่งยืน โดยเป็นเพียงเริ่มดำเนินการจากส่วนที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงและทำได้ทันที เนื่องจากธุรกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากโควิด

ซึ่งจากผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมราว 400 ราย ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า

–  ผู้ประกอบการกว่า 52.8% มีการปรับตัว อาทิ การเปลี่ยนเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงาน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ส่วนกลาง การเปลี่ยน
อุปกรณ์และติดตั้งระบบการประหยัดน้ำ การคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือทำเป็นปุ๋ย รวมทั้งลดการใช้ Single-use Plastic โดยส่วนใหญ่โรงแรมที่เริ่มปรับตัวจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ และโรงแรมที่บริหารโดยเชนจากต่างประเทศ

ผู้ประกอบการเกือบทั้งหมด (96.5%) ยังขาดความเข้าใจในการวัดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการจัดทำรายงานความยั่งยืน

ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการเกือบครึ่ง (43.8%) มีแผนที่จะยกระดับโรงแรมให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้ประกอบการที่
ยังไม่มีแผนหรือยังไม่แน่ใจมีสัดส่วนมากกว่าครึ่ง เนื่องจากมีความกังวลเรื่องเงินทุน ต้นทุนธุรกิจที่สูงขึ้น เนื่องจาก ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวดีจากผลกระทบของโควิด-19 รวมทั้งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของมาตรฐานการวัด

ดังนั้น เพื่อให้โรงแรมในไทยมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน ต้องมีการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อาทิ การจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และกำหนดกฏเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล การออกมาตรการทางภาษีชั่วคราว อย่างการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่มีการลงทุน หรือปรับปรุงโรงแรมที่ช่วยลด GHG Emission ขณะที่ภาครัฐควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพลังงานทางเลือก / พลังงานหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการใช้ในต้นทุนที่ถูกลง

Stay Connected
Latest News