จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย ผ่านประกาศฉบับใหม่ที่ออกมาช่วงปลายปี 2566 สำหรับสร้างมาตรการขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
โดยขยายพื้นที่ควบคุมเพิ่มมากขึ้น จากประกาศก่อนหน้าที่เน้นภายในโรงอาหารมหาวิทยาลัย มาสู่ร้านค้าต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยให้ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ศูนย์หนังสือ ร้านค้าสหกรณ์ ร้านกาแฟ ซุ้มอาหาร/เครื่องดื่ม รวมไปจนถึงร้านค้าภายในตลาดนัดด้วย
พร้อมทั้งกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ร้านค้าทุกประเภทในพื้นที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนที่อาจถูกยกเลิกสัญญากับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งทางเพจ CHULA Zero Waste แจ้งรายละเอียดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ร้านค้าปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้
– งดแจกถุงฟรี
กำหนดให้ร้านค้า ทุกร้านในจุฬาฯ ต้องไม่แจกถุงพลาสติกให้ลูกค้าฟรี แต่ให้ขายถุงพลาสติกที่มีความหนามากกว่า 36 ไมครอน ในราคาใบละไม่เกิน 2 บาท โดยถุงที่จะนำมาขายต้องผลิตมาจากพลาสติกรีไซเคิล หรือถุงกระดาษเท่านั้น (ยกเว้นเพื่อการบรรจุอาหารร้อนที่ไม่สามารถถือได้จริงๆ เช่น ก๋วยเตี๊ยว น้ำซุป )
นอกจากนี้ ยังห้ามใช้ถุงประเภท Bio-degradable หรือกลุ่มที่ระบุว่าสามารถย่อยสลายได้ด้วยแสงแดด เพราะมีการใส่สารเร่งปฏิกิริยา ทำให้พลาสติกบาง เปราะ และแตกตัวเร็ว ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็นไมโครพลาสติกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปกว่าเดิม พร้อมแนะนำผู้ไม่อยากเสียเงินค่าถุงให้พกถุงผ้าของตัวเองมาใช้
– ใช้แก้ว Zero Waste
ระบุให้ร้านค้ายกเลิกใช้แก้วพลาสติก Single Use หรือ แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และหันมาใช้แก้วที่สามารถนำมาล้างเพื่อใช้ซ้ำได้ สำหรับการให้บริการเพื่อรับประทานภายในร้าน หรือใช้แก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติก PBS (Polybutylene succinate) ที่ย่อยสลายได้ตามมาตรฐาน Home Compost (ย่อยสลายโดยการทำปุ๋ยหมัก) แต่จะคิดค่าบริการเพิ่มจากค่าน้ำอีก 3 บาท โดยแก้วที่เป็น Zero Waste จะมีโลโก้ Chula zero waste หรือสัญลักษณ์ 100% Compostable ถึงจะคิดราค่าแก้วได้
– ห้ามใช้บรรจุภัณฑ์โฟม พลาสติก และกล่องกระดาษเคลือบพลาสติก
โดยกำหนดให้ร้านค้าต้องเปลี่ยนมาใช้ภาชนะจากธรรมชาติ ที่ย่อยสลายได้ 100% เช่น ภาชนะจากชานอ้อย และให้คิดราคาเพิ่ม 3-5 บาท เมื่อมีการซื้ออาหารใส่กล่องกลับบ้าน พร้อมงดการแจกช้อนส้อมพลาสติก หรือเครื่องปรุงแบบซอง รวมทั้งหลอดพลาสติก หากผู้ซื้อไม่ได้ร้องขอ
ทั้งนี้ การยกระดับมาตรการดังกล่าว เพื่อต่อยอดการสร้างพฤติกรรมลดขยะและคัดแยกขยะของอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการริเริ่มผ่าน ‘โครงการจัดการขยะในโรงอาหาร’ ที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2560 พร้อมวางเป้าหมายลดปริมาณขยะลงกว่า 30% ภายใน 5 ปี (2560 -2564) ซึ่งการนำร่องจากโรงอาหารเพราะเป็นแหล่งกำเนิดขยะที่สำคัญของมหาวิทยาลัย โดยมีจำนวนรวมกันมากถึง 12 แห่ง และมีจำนวนร้านค้าอยู่ภายในกว่า 88 ร้านค้า โดยมีการสร้างขยะรวมกันมากถึง 3.27 ตันต่อวัน โดยส่วนใหญ่ 2.44 ตัน หรือ 74% เป็นขยะเศษอาหาร ตามมาด้วย 24% หรือ 0.7 ตัน เป็นขยะทั่วไป ที่เหลือ 2% เป็นขยะพลาสติกทั้งขวดพลาสติก และแก้วพลาสติกในอัตราที่เท่ากันราว 1% (กรณีศึกษา Food waste to Zero โรงอาหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร.นุตา ศุภคต อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)