ที่ผ่านมา โลกขับเคลื่อนการเติบโตโดยเน้นมิติของการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) โดยลืมให้ความสำคัญกับการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) รวมทั้งโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่มองในมิติของ Profit เป็นหลัก ทำให้ลืมคิดถึงการหาจุดสมดุลทั้งในมิติของ People และ Planet ควบคู่ไปด้วย
ส่งผลให้การพัฒนาที่ผ่านมาจึงเกิดภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ รวมทั้งรูปแบบการเติบโตที่ไม่สมดุล เพราะมีคนเพียงส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์ รวมทั้งเป็นการเติบโตที่ต้องเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ นำมาสู่ปัญหาด้านสภาพอากาศ มลภาวะ รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำต่างๆ
คุณปิยะชาติ อิศรภักดี CEO BRANDi and Companies หรือ แบรนดิ กล่าวว่า โลกในปัจจุบันมีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะความเสี่ยงในหลากหลายมิติไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 ปัญหาสภาพอากาศและมลภาวะ ความไม่แน่นอนทางทรัพยากรธรรมชาติ ความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือปัญหาเชิงโครงสร้างประชากร
ดังนั้น การรับมือต่อความเสี่ยงรอบด้านทั้งระดับประเทศรวมทั้งภาคธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องมีความพร้อมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ไม่ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างไรก็ตาม โดยจำเป็นต้องสร้าง Future-ready Economy ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่รับมือต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นควบคู่มากับทุกๆ ความเสี่ยงเสมอ
“ทุกครั้งที่เกิดความเสี่ยงจะเกิดโอกาส เกิดตลาดใหม่ๆ เสมอ เช่น ปัญหาสภาพอากาศ จะสร้างตลาด Decarbonization ทำให้มูลค่าของความสามารในการลดคาร์บอนเพิ่มขึ้น และสร้างเป็นธุรกิจใหม่ จึงอยู่ที่วิธีการรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกันของแต่ละคนแต่ละประเทศ รวมทั้งความพร้อมในการปรับตัวเพื่อให้ตอบโจทย์สำหรับความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจนำมาสู่การเติบโตได้แบบ New S-curve อีกคร้ัง”
แบรนดิ จึงได้แนะนำ 3 แนวทางขับเคลื่อน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถสร้าง Future-ready เพื่อเตรียมความพร้อมทรานส์ฟอร์มโครงสร้างธุรกิจสู่การเติบโตที่ยั่งยืน โดยสามารถประยุกต์ได้ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับอุตสาหกรรม รวมทั้งในระดับประเทศ ประกอบด้วย
1. การเปลี่ยนจาก Capture Trend เป็นการ Capture Value
เพื่อปรับจุดยืนของแบรนด์หรือธุรกิจในพื้นที่ (Re-positioning) จากที่เคยเติบโตเพราะความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับเทรนด์หรือกระแสต่างๆ มาเป็นการหาคุณค่าที่มีอยู่ภายใน เพื่อนำมาเป็นจุดแข็งหรือจุดขาย ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าการจับเทรนด์ ที่เมื่อมีคนเข้ามาในตลาดมากขึ้น ก็จะเกิดการแปรผันตามดีมานด์ซัพพลาย ทำให้มูลค่าของสิ่งที่เคยสร้างการเติบโตค่อยๆ ลดลงและหมดไปในที่สุด
2. เปลี่ยนจาก Profitability Incentive เป็น Impact Incentive
เป็นการปรับโครงสร้างรูปแบบทางการตลาด (Re-modeling) จากที่เคยมุ่งเพื่อสร้างผลกำไรมาเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวก โดยต้องหาโมเดลเพื่อเปลี่ยนจากการใช้กำไรนำ มาเป็นใช้ความสามารถในการสร้างผลกระทบเชิงบวก (Positive Impact) เป็นตัวนำ และต้องขับเคลื่อนร่วมกันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมทั้งกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่ต้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจต้องมีผู้เริ่มให้การสนับสนุน เพื่อสร้างกลไกให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้ามาในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะผู้บุกเบิกอาจจะต้องแบกรับภาระด้านต้นทุนที่สูงกว่าคนอื่นๆ แต่ต้องเร่งสร้างให้มีโมเดลที่ถูกต้อง และสามารถเดินไปได้อย่างต่อเนื่อง
3. เปลี่ยนจาก Natural Resource-dependent Growth เป็น Human Capital-dependent Growth
เป็นแนวทางในการปรับทั้งระบบของเศรษฐกิจโดยรวม (Re-engineering) จากที่เคยเติบโจจากการพึ่งพาทรัพยากร มาเป็นการเติบโตโดยพึ่งพาทุนมนุษย์ เนื่องจากการเติบโตส่วนใหญ่ที่ผ่านมาของประเทศเป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร แม้แต่ธุรกิจหลักอย่างท่องเที่ยวก็อาศัยความสวยงามจากธรรมชาติ ชายหาด ทะเล ซึ่งถือเป็นการเติบโตแบบเชิงรับ ดังนั้น พอจะวางยุทธศาสตร์เชิงรุก จึงไม่สามารถหากลยุทธ์หลักเพื่อใช้ขับเคลื่อนได้ จึงจำเป็นต้องหันมาสร้างทุนมนุษย์ เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพมาเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตเชิงรุกให้กับประเทศ และจะเป็นจุดตั้งต้นในการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ต่อไปในอนาคตด้วย
“ประเทศหรือธุรกิจที่มี Future-ready จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการเปลี่ยนผ่านจากการเติบโตบนความเปราะบาง หรือความไม่แน่นอน มาเป็นการสร้างรากฐานสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสร้างการเติบโตที่สร้างความสมดุลจาก Tripple Bottom Line หรือ 3P ทั้ง Profit People และ Planet เพราะไม่มีความยั่งยืนใดเกิดขึ้นได้โดยไม่มีเศรษฐกิจที่ดี แต่การขับเคลื่อนที่ยั่งยืนจะต้องทำมากกว่าแค่การหาเงิน แต่จะมองถึงวิธีในการขับเคลื่อนเงินให้สามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้จากต้นเหตุ และนำมาสู่กลไกในการสร้างการเติบโตใหม่ๆ ที่เคยใช้กำไรเป็นตัวนำ มาเป็นการสร้างการเติบโตทุกๆ มิติควบคู่ไปพร้อมกัน”
ทั้งนี้ แบรนดิได้เร่งสื่อสารแนวคิดผ่านบทบาทในฐานะที่ปรึกษาให้ธุรกิจชั้นนำระดับประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และการเติบโตอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการเติบโตตามกรอบของ UN SDG Goals โดยได้ร่วมขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มองค์กรชั้นนำผ่าน 23 อุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน การเงิน หรือการศึกษา เพื่อให้เปลี่ยนกลไกในการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการเติบโตเพียงอย่างเดียวไปสู่การให้ความสำคัญกับสังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการสร้างเติบโตของตัวเอง รวมทั้งการพัฒนา SDG Cafe เพื่อนำเสนอโมเดลในการขับเคลื่อนธุรกิจบนพื้นฐานของการสร้าง Positive Impact ได้ตลอดทั้ง Value Chain ผ่านการนำเสนอ 3 เมนู ที่สะท้อนถึงความเป็นตัวแทนของการพัฒนาในแต่ละมิติทั้ง 3p คือ Profit People และPlanet โดยทุกเมนูได้ใช้วัตถุดิบที่มาจากภูมิปัญญาในระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นกรณีศึกษาภายใน Hope Quater ที่ทางแบรนดิตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับ Community เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน เพื่อเป็น The Next Growth ของการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต